Haijai.com


วิ่งออกกำลังกายสู้เบาหวาน


 
เปิดอ่าน 6970

วิ่งสู้ เบาหวาน

 

 

โรคเบาหวาน ถือเป็นภัยที่คร่าชีวิตประชากรไทยไปเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ เกิดจากการทำงานของอินซูลิน (Insulin) ในตับอ่อนทำงานผิดปกติไปจากเดิม โดยอินซูลินมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย เพื่อใช้เป็นพลังงานต่อไป เมื่ออินซูลินไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ไม่สามารถนำน้ำตาลออกจากเลือดไปยังเซลล์ส่วนต่างๆ ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นภาวะดื้ออินซูลินหรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดเบาหวานที่พบมากที่สุด

 

 

หากทิ้งโรคไว้นานอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ ตามมาได้ เช่น ไต ดวงตา หรือระบบประสาทส่วนอื่น เป็นต้น อีกทั้งปัจจุบันยังพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานกลับมีอายุที่ลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งความเสี่ยงของการเกิดโรคก็มาจากพันธุกรรมในส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งยังมาจากสภาพรูปร่างของร่างกายที่ค่อนข้างอ้วน หรือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ที่สูงเกินมาตรฐาน ไปจนถึงกลุ่มคนที่นิยมทานอาหารที่มากด้วยน้ำตาลเป็นชีวิตจิตใจเหล่านี้ คือ การสะสมโรคร้ายในระยะยาวได้แบบไม่รู้ตัว

 

 

แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ จึงทำให้การรักษาเป็นไปในทิศทางที่มีความหมายดีขึ้น และนอกจากการรักษาด้วยยา หรือควบคุมอาหาร “การออกกำลังกาย” ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อโรคทุกชนิดเช่นกัน

 

 

ลดเบาหวานด้วยการออกวิ่ง

 

วิธีรักษาเบาหวานในปัจจุบันถูกแบ่งใช้ตามระดับความรุนแรงของอาการ แต่หนึ่งในหนทางการรักษาคือ การดูแลพฤติกรรมของตนเองเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร ลดปริมาณไขมันและน้ำตาล เสริมสร้างกากใย การควบคุมน้ำหนักตัว รวมถึงการหมั่นออกกำลังกาย เหล่านี้ล้วนขึ้นอยู่กับวิจัยของคนไข้เป็นสำคัญ ซึ่งหากคนไข้ละเลยวิธีลดความเสี่ยงด้วยตนเองไป ท้ายสุดอาจต้องใช้วิธีโดฟยาลดน้ำตาลในเลือด หรือฉีดอินซูลินเสริมในกรณีที่ยาใช้ไม่ได้ผล ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของตับและไตได้ในระยะต่อมา ดังนั้นการสร้างวินัยพื้นฐานเพื่อลดอาการเรื้อรังของโรค จึงเป็นสิ่งที่คนไข้ควรใส่ใจและไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด เช่น การออกกำลังกายในคนไข้ที่กำลังเผชิญกับโรคเบาหวานอยู่นั้น

 

 

ทราบหรือไม่ว่า การวิ่งคือประเภทกิจกรรมที่เหมาะกับร่างกายของคุณเป็นอย่างมาก เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าว ช่วยให้ร่างกายมีการผลิตอินซูลินได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีสุขภาพร่างกายให้ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งทุกกิจกรรมย่อมต้องมีการอบอุ่นร่างกาย (Warm Up) ก่อน และผ่อนคลายหลังออกกำลังกาย (Cool Down) เสมอ โดยเฉพาะการเตรียมตัวก่อนทำกิจกรรมของผู้ที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอ เช่น โรคเบาหวาน ที่ควรเตรียมพร้อมทั้งก่อน ระหว่างและหลังทำกิจกรรม ดังนี้

 

1.ควรรับประทานอาหาร ผลไม้ ก่อนทำกิจกรรมอย่างน้อย 1-3 ชั่วโมง

 

 

2.ควรฉีดอินซูลินก่อนออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ยังบริเวณต้นขาหรือสะโพก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดต่ำเกินไปในระหว่างทำกิจกรรม โดยหากผู้ป่วยสามารถเจาะเลือดเพื่อตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดก่อนจะเป็นการดี และหากพบว่าระดับน้ำตาลน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 250 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็ควรงดออกกำลังกาย

 

 

3.เมื่อทำกิจกรรมมากกว่า 30 นาทีไปแล้ว ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ขนมปัง หรือคุกกี้ เพื่อเป็นการเพิ่มพลังงานระหว่างกิจกรรม และลดความเสี่ยงเกิดเป็นอาการช็อกได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ทำกิจกรรมหรือใช้เวลาวิ่งแบบติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ควรรับประทานสารอาหารประเภทดังกล่าวอยู่เป็นระยะด้วย

 

 

4.กรณีที่ผู้ป่วยออกกำลังกายมาอย่างหนัก ควรเพิ่มปริมาณอาหารที่รับประทานให้มากขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่จะต้องระมัดระวังตนเองมากเป็นพิเศษ อาทิเช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานมานานกว่า 10 ปี ไปจนถึงกลุ่มผู้ป่วยทางด้านหัวใจและหลอดเลือดที่อาจต้องหมั่นดูแล ตรวจสอบความพร้อมของตนเองอย่างใกล้ชิด การวิ่งที่ดีควรเป็นไปตามอาการของคนไข้ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia)

 

 

โดยอาการพื้นฐานของคนไข้คือ ปวดศีรษะ ตามัว หิวน้ำบ่อย มักเกิดขึ้นกับคนที่มีภาวะเครียดเรื้อรังและเครียดสะสมร่วมด้วย การวิ่งออกกำลังกายของคนไข้ในกลุ่มนี้ควรเป็นการวิ่งแบบต่อเนื่อง หากระหว่างทำกิจกรรมคนไข้เกิดรู้สึกไม่ดี วิงเวียน ควรพักและค่อยๆ ปรับร่างกายให้เข้ากับกิจกรรม ควรออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง โดยการวิ่งจะเป็นการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ช่วยลดไขมันชนิดเลว (LDL) เพิ่มไขมันตัวดี (HDL) ทั้งยังเป็นการควบคุมน้ำหนัก ทำให้ร่างกายแข็งแรงและยังสามารถช่วยลดความเครียดของตัวผู้ป่วยลงได้

 

 

ทั้งนี้การออกกำลังกายในคนไข้โรคเบาหวาน ยังมีด้วยกันอีกมากมายหลายประเภท เช่น โยคะ เดินเร็ว วิ่ง หรือกิจกรรมต่างๆ ที่แพทย์แนะนำเพิ่มเติมร่วมด้วย โดยการวิ่งบรรเทาเบาหวานคนไข้ควรทำอย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ และพยายามออกกำลังกายในเวลาเดิมทุกวัน ควรเข้ารับการตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เป็นระยะ เพื่อเฝ้าดูความเป็นไปของโรคอย่างใกล้ชิด แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นเรื่องยาก สำหรับผู้ที่ห่างหายการขยับร่างกายอย่างจริงจังมานาน แต่เชื่อแน่ว่าผลลัพธ์ที่ได้จะไม่เป็นการทำร้ายซ้ำเติมสุขภาพให้อ่อนแอลง ที่สำคัญการสวมรองเท้าหุ้มส้นในขนาดที่พอเหมาะ ก็จะเป็นการเสริมความปลอดภัยให้กับทุกก้าวของการวิ่งได้อีกด้วย

(Some images used under license from Shutterstock.com.)