Haijai.com


แก้ปัญหาลูกพูดโกหกแบบเด็กเลี้ยงแกะ


 
เปิดอ่าน 3167

รับมือกับเด็กเลี้ยงแกะ

 

 

แต่ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มสังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมแบบเด็กเลี้ยงแกะหรือไม่นั้น ก่อนอื่นต้องจำกฎเหล็กในการพิจารณาพฤติกรรมต่างๆ ของลูกว่า บางครั้งที่เด็กเล็กๆ พูดโกหกนั้น เขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจจะโกหก แต่การที่ชอบพูดเรื่องราวต่างๆ ที่เกินความจริงไปบ้างนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความเพ้อฝันในจินตนาการของลูก โดยที่ลูกไม่ได้ตั้งใจจะพูดโกหก

 

 

สาเหตุของการเกิดพฤติกรรมแบบเด็กเลี้ยงแกะ

 

 เกิดจากจินตนาการของลูก ในเด็กเล็กๆ จินตนาการ และความเพ้อฝันย่อมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเรียนรู้ แต่บางครั้งการจินตนาการที่เกินความเป็นจริงไป (มาก) อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกพูดโกหก แต่เด็กๆ อาจจะไม่ได้ตั้งใจจะพูดโกหกจริงๆ หรอกค่ะจริงไหม...? เป็นเพียงแค่การจินตนาการที่เกินจริงเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากความคิดในด้านลบภายในจิตใจดวงน้อยๆ ของลูกค่ะ

 

 

 เกิดจากความกลัวการถูกลงโทษ พฤติกรรมแบบเด็กเลี้ยงแกะอาจเกิดจากความกลัว และการป้องกันตัวเองจากการถูกลงโทษ โดยที่ลูกไม่ได้รู้สึกว่า การกระทำแบบนี้ของตัวเองเป็นการโกหก หรืออาจจะเรียกได้ว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะโกหกมากกว่า เช่น ลูกชายจอมซนเผลอทำขวดน้ำบนโต๊ะล้ม จนน้ำเปียกผ้าปูโต๊ะผืนสวยที่คุณแม่เพิ่งซื้อมา ลูกอาจโยนความผิดไปให้น้องเหมียว ว่าน้องเหมียวกระโดดขึ้นมาบนโต๊ะ มากกว่าที่จะยอมรับผิดว่าเขาเป็นคนทำ เพราะคิดว่าหากพูดความจริงออกไปอาจทำให้ถูกคุณแม่ทำโทษ หรือถูกตำหนิได้ เพราะฉะนั้นขอโยนความผิดไปให้น้องแมวเหมียว เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทำโทษจากคุณแม่

 

 

 เกิดจากความต้องการเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ และคนรอบข้าง การโกหกอาจไม่ใช่เรื่องน่าภูมิอกภูมิใจ แต่บางครั้งคำพูด และเรื่องราวที่พูดเกินความเป็นจริงอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจลูกมากกว่าในทุกๆ วัน ทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่น่าสนใจ จนเกิดความภูมิใจแบบหัวใจพองโต ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการโกหกคำโต (โดยที่ยังไม่ถูกจับโกหกได้) นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมแบบเด็กเลี้ยงแกะ

 

 

 เกิดจากการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่เลี้ยงแกะ หากคุณพ่อคุณแม่โกหกต่อหน้าลูก เด็กๆ อาจมองว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เพราะถึงคุณพ่อคุณแม่พูดโกหก แต่กลับไม่มีผลอะไรเกิดขึ้นตามมาหลังจากการโกหกนั้นเลย

 

 

วิธีรับมือกับ เด็กเลี้ยงแกะ

 

 หาสาเหตุของการโกหก และหลีกเลี่ยงการลงโทษ การที่ลูกโกหก เพราะกลัวการลงโทษ อาจจะเป็นเพราะวิธีการลงโทษของคุณพ่อคุณแม่หนักไป จนทำให้ลูกกลัว ควรหลีกเลี่ยงการลงโทษ แล้วหันมาใช้เหตุผลชี้ให้เห็นถึงผลของการกระทำ เช่น “หากลูกโกหกคุณพ่อคุณแม่ อาจจะเป็นอย่างเด็กในนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะก็ได้นะคะ” ใช้วิธีเล่านิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะให้ลูกฟัง แล้วชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการพูดโกหก

 

 

 ใช้วิธีค่อยๆ พูด ค่อยๆ คุย ถามหาเหตุผลกับลูกว่า “ทำไมลูกถึงโกหก” เพื่อให้รู้สาเหตุที่แท้จริง และรีบแก้ไข

 

 

 ห้ามคุณพ่อคุณแม่โกหกต่อหน้าลูก พร้อมบอกกับลูกเสมอๆ ว่า หากลูกโกหกจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียใจ และชื่นชมเวลาลูกพูดอะไรอย่างซื่อสัตย์เสมอๆ

 

 

สำหรับเด็กบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจถึงความหมายของ คำว่า “โกหก” ด้วยซ้ำไป เพราะการโกหกคำโตของเด็กๆ ย่อมมีสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมแบบเด็กเลี้ยงแกะเสมอ การลงโทษเด็กอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่หากเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องหาสาเหตุให้พบและตีโจทย์ให้แตกว่า ลูกโกหกเพราะสาเหตุอะไร

 

 

อ่านโจทย์ให้ออก แล้วหาทางแก้ไข เพื่อค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกดีกว่าค่ะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)