
© 2017 Copyright - Haijai.com
ลูกเบื่ออาหารหรือเปล่า
จ๊อกๆๆๆ เสียงท้องร้องประท้วงเบาๆ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณบอกว่า “หิวแล้วนะ...!!! หาอะไรใส่ท้องหน่อยเร็ว” สำหรับผู้ใหญ่อย่างเราๆ การรับประทานอาหารตามเสียงเรียกร้องของร่างกายคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว บางครั้งการรับประทานอาหารดูจะเป็นเรื่องยากซะเหลือเกิน จนคุณพ่อคุณแม่อดที่จะกังวลไม่ได้ว่าพฤติกรรมแบบนี้ลูกเบื่ออาหารหรือเปล่านะ...???
อาการเบื่ออาหารมักเกิดขึ้นในช่วงที่ลูกกำลังปรับตัว จากที่เคยทานนมมาเป็นการทานอาหาร ซึ่งพฤติกรรมการเบื่ออาหารคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จาก
• ลูกไม่ยอมหม่ำๆ อาหาร เวลาคุณพ่อคุณแม่ป้อนอาหารลูกจะเม้มปากแน่น ไม่ยอมทานอาหารง่ายๆ
• แอบคายอาหารออกมา พอตักข้าวเข้าปาก ลูกชอบแอบอมข้าวไว้ แล้วไปคายทิ้งทีหลัง
• การทานอาหารดูเป็นเรื่องยากสำหรับลูก เพราะถึงเวลาทานอาหารทีไรลูกจะไม่ค่อยอยากทานอาหาร หรือทานอาหารยาก จนบางครั้งวิ่งหนีเวลาที่คุณแม่ให้ทานอาหารไปเลยก็มี
• น้ำหนักลดลง ลูกดูผอมลง เพราะน้ำหนักลด
การที่ลูกมีพฤติกรรมเบื่ออาหาร จนคุณพ่อคุณแม่อาจจะกังวลว่า สาเหตุเป็นเพราะรสชาติอาหารไม่อร่อยถูกปากลูกหรือเปล่านั้น สาเหตุนี้อาจมีส่วนบ้างเล็กน้อยค่ะ แต่คงไม่ใช่สาเหตุหลัก เพราะพฤติกรรมเบื่ออาหารเกิดได้หลายสาเหต
• ลูกยังไม่สามารถปรับตัวได้ จากที่เคยดื่มแต่นมแล้วต้องเปลี่ยนมาเป็นการรับประทานอาหาร และดื่มนมจากแก้วแทนการดูดนม
• ลูกทานอาหารว่าง หรือนมบ่อย ก่อนการรับประทานอาหารมื้อหลัก พอถึงเวลารับประทานอาหาร จนทำให้อิ่ม และไม่อยากรับประทานอาหาร
• ลูกมีอาการเจ็บป่วย ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร เช่น ปวดฟัน เจ็บคอ มีแผลในปาก (ร้อนใน) เป็นต้น
• อยากเล่นสนุกกับของเล่นสุดโปรด มากกว่าการรับประทานอาหาร
• เมนูอาหารแบบเดิมๆ ในทุกมื้อ ทำให้ลูกรู้สึกเบื่ออาหารไม่อยากทาน หรือเมนูอาหารแปลกใหม่ไปจากที่เคยทาน ทำให้ลูกรู้สึกกังวลที่จะลองทานดู เช่น ลูกยังไม่เคยลองทานมะเขือเทศ แต่เมนูข้าวผัดไข่วันนี้มีมะเขือเทศอยู่ด้วย หนูจะลองทานดีไหมนะ...!!!
ทำอย่างไรดี เมื่อลูกเบื่ออาหาร
• ทำให้ช่วงเวลาของการทานอาหารเป็นเรื่องสนุก เช่น การใช้วิธีแข่งขันกันทานอาหาร หากใครทานอาหารหมดจานจะได้เลือกทานไอศกรีมรสที่ชอบ เป็นต้น เพื่อช่วยให้ลูกรู้สึกสนุก และอยากที่จะทานข้าวให้หมดจาน
• ลองให้ลูกเลือกเมนูที่ชอบ ด้วยการพาลูกๆ ไปเดินเลือกซื้อวัตถุดิบในการทำอาหารกับคุณแม่ด้วย หรืออาจจะลองถามลูกว่า วันนี้ลูกอยากทานอะไรแล้วลองให้ลูกช่วยหยิบจับส่วนผสมเล็กๆ น้อยๆ ในครัว ช่วยคุณแม่ทำอาหารที่ลูกอยากทานด้วยตัวเอง หรือลองให้ลูกเลือกซื้อวัตถุดิบที่เขาไม่เคยทาน และอยากจะลองทานดูด้วยตัวเอง
• ควรเว้นระยะห่างของการรับประทานนม หรือ อาหารว่างเล็กๆ น้อยๆ ก่อนรับประทานอาหารหลัก โดยเฉพาะอาหารว่างที่มีน้ำตาล เพราะน้ำตาลจะทำให้ลูกรู้สึกอิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกทานนม หรือ อาหารว่างมากเกินไปจนอิ่ม และรับประทานอาหารหลักได้น้อย
• จัดอาหารให้ดูมีสีสัน น่ารับประทาน โดยอาจใช้ผักสีต่างๆ มาตกแต่งให้เป็นรูปดาว รูปหน้าพี่หมี เป็นต้น ช่วยทำให้ลูกอยากทานอาหารมากขึ้น
• สังเกตว่าลูกมีอาการเจ็บป่วยตรงไหนหรือไม่ เพราะอาการเจ็บป่วย อาจทำให้ลูกไม่อยากทานอาหาร
• ให้คำชมเชย หรือกอดอุ่นๆ หลังจากที่ลูกทานข้าวหมด เพื่อให้ลูกเกิดความภูมิใจว่า เขาสามารถทานอาหารได้หมดจาน
เมนูอาหารที่ลูกชอบ หน้าตาน่ารักน่ารับประทาน พร้อมกับเติมความรัก ความสนุก และรอยยิ้มในระหว่างการรับประทานอาหาร ด้วยการรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว พ่อ แม่ ลูก เพียงเท่านี้ การรับประทานอาหารก็ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ชวนวิ่งหนี สำหรับลูกอีกต่อไป ขอแค่ใส่ความรัก ความเข้าใจ ลงไปในทุกมื้ออาหารของครอบครัวค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)