© 2017 Copyright - Haijai.com
เล่นจนได้เรื่อง หัวโน
“อย่าวิ่งไปตรงนั้น เห็นมั้ยว่ามีเศษไม้กองอยู่”
“อย่าปีนขึ้นไป เดี๋ยวหนังสือหล่นใส่หัวนะลูก”
“หยุดเล่นปาลูกบอลใส่กัน เดี๋ยวบอลมากระแทกโดนหน้ากันอีกนะลูก”
…เสียงตะโกนด้วยโทนเสียงแหลมสูง จากคุณแม่ที่เป็นห่วงว่าลูกๆ ของเธอจะได้รับอันตรายจากการเล่นสนุก เสียงดังพอที่จะทำให้คนที่นั่งอยู่ในเหตุการณ์ถึงกับสะดุ้งกับพลังเสียง แต่เชื่อมั้ยละคะว่า ลูกๆ ของเธอหาได้ใส่ใจกับเสียงเตือน เพราะเจ้าหนูก็ยังเล่นกันอย่างเมามันส์! สักแป๊บเดียวเสียงเตือนยังไม่ทันขาดหายไป ลูกชายคนเล็กของเธอ ก็ร้องไห้จ้า พอวิ่งไปดูถึงได้รู้ว่า เจ้าหนูวิ่งไปชนเข้ากับประตูรั้วไม้ ตอนที่วิ่งไปเก็บลูกบอล แต่เด็กไม่ทันได้ระวัง ลื่นเซไปชนเข้ากับรั้วอย่างแรง เล่นซะหัวโนปูดออกมาเลย นี่ดีนะที่หัวไม่แตก
เชื่อว่าหลายบ้านที่เลี้ยงลูกเล็ก ที่อยู่ในวันซน คงเจอกับเรื่องนี้เป็นประจำใช่มั้ยคะ จำได้ว่าตอนเด็กๆ เมื่อหัวโนขึ้นมา คุณแม่จะใช้ดินสอพองผสมน้ำมะนาวมาทาพอกให้ ผ่านไป 1-2 วัน อาการก็ทุเลาลง แต่รอยช้ำยังคงปรากฏอยู่ พอมือไปจับโดนก็ยังเจ็บๆ อยู่ นี่ละค่ะ ผลจากการที่เล่นซนจนได้เรื่อง หัวโน กลับมาเป็นของฝากอยู่บนหน้าผาก
มารู้ทำความเข้าใจกันหน่อยว่า หัวโน นั้น เกิดจากที่ศีรษะของเราถูกกระแทกอย่างแรง (แต่ไม่ถึงกับแรงพอที่จะทำให้แตก) เพียงแค่พอทำให้เกิดแผลฟกช้ำ มีก้อนนูนขึ้นมา เนื่องจากเนื้อเยื่อ และเส้นเลือดใต้ผิวหนังฉีกขาด
มาปฐมพยาบาลกันดีกว่า (สามารถทำให้ได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่นะคะ)
1.มื่อได้รับบาดเจ็บจนหัวโน ให้ประคบด้วยน้ำเย็น หรือน้ำแข็งทันที เพื่อเป็นการห้ามเลือด
2.อหลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว ก็ให้ประคบด้วยน้ำอุ่นบ่อยๆ เพียงเท่านี้อาการหัวโนก็จะค่อยๆ บรรเทาลงจนหายเป็นปกติค่ะ
3.ห้าม!! ระหว่างที่ปฐมพยาบาล ห้าม คลึง ขยี้ นวด ด้วยความร้อนโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดใต้ผิวหนังออกมากขึ้น
4.หากเด็กมีอาการซึม ควรต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน!
ข้อเคล็ด (Sprain)
หากมีอาการข้อเคล็ด จะรู้ได้จากอาการ ปวด บวม ช้ำ ซึ่งเกิดจากการฉีกขาดของเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อต่อ เนื่องจากการถูกดึง ยืด หรือบิดมากเกินกว่าปกติ (อาจมาจากการวิ่งแล้วข้อเท้าพลิกอย่างแรก, สะดุดเข้ากับของแข็ง ฯลฯ)
การดูแลเบื้องต้น
• เมื่อได้รับบาดเจ็บให้หยุดการเคลื่อนไหวข้อเท้า หรือข้อแขน ที่บาดเจ็บทันที แล้วให้พัก (แขน ขา) ที่ได้รับบาดเจ็บในท่าที่สบายไม่ไปกดทับอวัยวะส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ
• ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับบาดเจ็บ ให้ประคบด้วยความเย็น ครั้งละประมาณ 15-20 นาที ในทุกๆ 1-2 ชั่วโมง
• ให้พันกล้ามเนื้อบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บด้วยผ้าม้วนยืด
• ยกอวัยวะส่วนที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงขึ้น เพื่อลดอาการบวม และปวด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)