© 2017 Copyright - Haijai.com
น้ำตาเทียม จำเป็นจริง
ตามปกติคนเรามีน้ำตาที่คอยหล่อเลี้ยงดวงตา ให้ความชุ่มชื้นแก่กระจกตาและเยื่อบุตา ป้องกันการติดเชื้อทั้งยังทำหน้าที่ชำระล้างสิ่งแปลกปลอมออกจากดวงตา โดยที่น้ำตาจะถูกสร้างออกมาจากต่อมน้ำตา แต่เมื่อน้ำตาถูกสร้างน้อยลงหรือระเหยไปเร็วจะทำให้เกิดอาการตาแห้ง วิธีแก้ไขทางหนึ่งคือ การใช้น้ำตาเทียม
น้ำตาเทียมได้ถูกคิดค้นและนำมาใช้ประโยชน์ในการให้ความชุ่มชื้นและเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงดวงตา เนื่องจากคุณสมบัติที่มีความใกล้เคียงกับน้ำตาที่ผลิตโดยธรรมชาติ ทำให้น้ำตาเทียมสามารถช่วยบรรเทาอาการตาแห้ง แสบตา และระคายเคืองตาได้
ตาแห้งเกิดจากสาเหตุอะไร
มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตาแห้ง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1.อาการตาแห้งที่มีสาเหตุมาจากการผลิตน้ำตาลดลง เช่น ต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาลดลง ท่อน้ำตาอุดตันหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่อาจไปมีผล ทำให้มีการผลิตน้ำตาลดลง เป็นต้น
2.อาการตาแห้งที่มีสาเหตุจากการระเหยของน้ำตาที่ผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใส่คอนแทคเลนส์ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ภาวะพร่องวิตามินเอ สูงอายุ การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน การดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ หรือเล่นโทรศัพท์สมาร์ทโฟนติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้น้ำตาระเหยได้เร็วขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้งมาก ลมพัดแรง มีหมอกควัน หรือทำงานท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนจัด ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดอาการตาแห้งได้ทั้งสิ้น
ผู้ป่วยที่มีอาการตาแห้งเป็นผู้ป่วยในกลุ่มที่สองเป็นส่วนใหญ่ ในปัจจุบันจะยิ่งมีคนเป็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ที่ต้องจ้องมองจอคอมพิวเตอร์นานๆ รวมทั้งการเล่นเกมและแชทไลน์กันในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน
อาการตาแห้งที่สามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง ได้แก่ อาการระคายเคืองตาคล้ายกับมีเศษผงเข้าตา รู้สึกแห้งฝืด แสบตา ตามัวมองไม่ชัด ตาแดง ไม่สบายตา
น้ำตาเทียมผลิตมาจากอะไร และแบ่งได้เป็นกี่ประเภท
น้ำตาเทียม เป็นยาชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยสารสังเคราะห์หลายชนิดผสมกัน เพื่อให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด โดยส่วนประกอบที่เป็นหลักคือ สารให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา สารนี้จะเพิ่มความหนืดให้น้ำตาเทียม เพื่อให้น้ำตาเทียมเคลือบ ฉาบ หรือเกาะอยู่บนกระจกตาได้เป็นเวลานานขึ้น ตัวอย่างชื่อของสารพวกนี้ ได้แก่ เมททิวเซลลูโลส (methylcellulose) และ โซเดียมไฮยาลูโรเนท (sodium hyaluronate)
นอกจากนั้นแล้ว ภายในน้ำตาเทียมยังประกอบไปด้วยสารอื่นๆ เช่น สารบัฟเฟอร์ (buffer) สารกันเสีย (preservative) เป็นต้น โดยสารบัฟเฟอร์ทำหน้าที่ปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างของน้ำตาเทียม ให้ใกล้เคียงกับน้ำตาที่ผลิตตามธรรมชาติ เพื่อที่จะทำให้ไม่แสบตาเมื่อหยอดน้ำตาเทียม ตัวอย่างชื่อสารบัฟเฟอร์ เช่น สารบัฟเฟอร์ของกรดโบริค (boric acid) และโซเดียมโบเรท (sodium borate) ส่วนสารกันเสียทำหน้าที่ป้องกันการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนลงไปในน้ำตาเทียม ตัวอย่างชื่อสารกันเสีย เช่น เบนซัลโคเนียมคลอไรด์
แต่น้ำตาเทียมบางผลิตภัณฑ์ก็ไม่มีสารกันเสีย โดยจากความแตกต่างของการใส่สารกันเสียนี้เอง ทำให้สามารถแบ่งชนิดของน้ำตาเทียมตามอายุการใช้งานหลังเปิดใช้ออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.น้ำตาเทียมที่เปิดแล้วแล้วมีอายุการใช้งาน 1 เดือน น้ำตาเทียมประเภทนี้มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ รูปแบบยามีทั้งที่เป็นสารละลายและเจล
2.น้ำตาเทียมที่เปิดแล้วมีอายุการใช้งาน 24 ชั่วโมง น้ำตาเทียมประเภทนี้ไม่ใส่สารกันเสีย อายุการใช้งานหลังเปิดใช้จึงสั้น ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย จึงอยู่ในหลอดพลาสติกเล็กๆ ที่บรรจุน้ำตาเทียมในปริมาณที่ใช้ได้หมดภายใน 24 ชั่วโมง และเริ่มนับอายุการใช้งานทันทีหลังจากบิดเปิดหลอดน้ำตาเทียม
ขั้นตอนการหยอดน้ำตาเทียม
• ล้างมือให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง
• นั่งเอนศีรษะไปด้านหลัง ใช้มืดดึงหนังตาด้านล่างลงมาให้เป็นกระพุ้ง เหลือบตาขึ้นด้านบน
• ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับหลอดน้ำตาเทียม หยดลงบริเวณกระพุ้งหนังตาด้านล่าง 1-2 หยด อย่าให้ปลายหลอดสัมผัสโดนตาหรือขนตา
• หลับตาสักครู่ ใช้กระดาษทิชชูสะอาดซับน้ำตาเทียมส่วนเกินออก
• ปิดฝาจุกน้ำตาเทียมให้สนิท
คำแนะนำและข้อควรระวังการใช้น้ำตาเทียม
ในกรณีที่ต้องหยอดน้ำตาเทียมร่วมกับยาหยอดตาอื่นๆ แนะนำให้หยอดน้ำตาเทียมเป็นชนิดสุดท้าย โดยควรเว้นระยะเวลาหยอด ห่างจากยาหลอดตาชนิดอื่นเป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที และไม่ควรใช้น้ำตาเทียมร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ในกรณีที่ใช้น้ำตาเทียมที่เป็นแบบเจลหรือขี้ผึ้ง ซึ่งมีความหนืดมาก อาจทำให้เกิดอาการตามัวได้ แต่มักเป็นเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามควรหลับตาสักพักหลังการหยอดหรือป้ายน้ำตาเทียมนั้น
น้ำตาเทียมที่ยังไม่เปิดใช้หรือที่เปิดใช้แล้วสามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิห้อง ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็น แต่หลังจากเปิดใช้แล้ว หากผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียมนั้นไม่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ ควรใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง นับจากเวลาที่เปิดใช้ ทั้งนี้หากเกิน 24 ชั่วโมงไปแล้วยังมีน้ำตาเทียมเหลืออยู่ ก็ควรทิ้งน้ำตาเทียมหลอดนั้นไปเลย กรณีที่ไม่แน่ใจว่าได้เปิดใช้เมื่อใด ไม่ควรเก็บน้ำตาเทียมหลอดนั้นมาใช้
สำหรับน้ำตาเทียมชนิดที่มีการใส่สารกันเสีย หลังจากเปิดใช้ผลิตภัณฑ์แล้ว สามารถเก็บได้นานถึง 1 เดือน นับจากวันที่เปิดใช้
อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้ควรสังเกตว่าน้ำตาเทียม มีลักษณะที่เปลี่ยนไปหรือไม่ เช่น มีสีเกิดขึ้น หรือเปลี่ยนจากน้ำใสไปเป็นน้ำขุ่นหรือเปล่า หากพบเหตุการณ์เช่นนี้ ให้ทิ้งน้ำตาเทียมหลอดนั้นไป
ภก.ทศพล เลิศวัฒนชัย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)