Haijai.com


ฟอสฟอรัส


 
เปิดอ่าน 3603

ฟอสฟอรัส

 

 

ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ โดยมักพบในรูปเกลือฟอสเฟต ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่พบได้มากในร่างกายโดยมีน้ำหนักร้อยละ 1 ของน้ำหนักร่างกาย ปริมาณฟอสฟอรัสสูงสุดที่ร่างกายรับได้ในแต่ละวันในผู้ที่อายุ 9-18 ปี คือ 1,250 มิลลิกรัม และผู้ที่อายุ 19 ปีขึ้นไป คือ 700 มิลลิกรัม การตั้งครรภ์หรือการให้นมบุตรไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความต้องการฟอสฟอรัสในแต่ละวัน

 

 

แหล่งของฟอสฟอรัส

 

ฟอสฟอรัสในอาหารมีทั้งในรูปแบบฟอสฟอรัสอินทรีย์ (เช่น ฟอสฟอรัสในสารพันธุกรรม) และฟอสฟอรัสอนินทรีย์ (เกลือฟอสเฟต) โดยฟอสฟอรัสในอาหารจะถูกเปลี่ยนเป็นรูปฟอสฟอรัสอนินทรีย์ก่อนถูกร่างกายดูดซึมไปใช้ การดูดซึมฟอสฟอรัสของร่างกายไม่ขึ้นกับปริมาณฟอสฟอรัสในอาหาร กล่าวคือ แม้ร่างกายจะได้รับฟอสฟอรัสจากอาหารในปริมาณต่ำ แต่ร่างกายก็ยังดูดซึมฟอสฟอรัสในอัตราตามปกติ (แตกต่างจากแคลเซียมที่ปริมาณการดูดซึมสามารถเปลี่ยนแปลงตามปริมาณแคลเซียมในอาหารได้) โดยฟอสฟอรัสจะถูกซึมด้วยการแพร่ตามปกติ และด้วยตัวขนส่งซึ่งอาศัยวิตามินดีในการทำงาน การดูดซึมฟอสฟอรัสในทางเดินอาหารถูกขัดขวางได้ด้วยอะลูมิเนียม และแคลเซียมในอาหารหรือยาบางชนิด (เช่น ยาลดกรด ยาแก้ท้องอืดบางชนิด)

 

 

เนื่องจากฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบของเซลล์ อาหารเกือบทุกประเภทจึงเป็นแหล่งที่ดีของฟอสฟอรัส ยกเว้นเมล็ดพืชทุกประเภท เนื่องจากจะสะสมฟอสฟอรัสในรูปกรดไฟติก ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายย่อยไม่ได้ อย่างไรก็ตามในอาหารประเภทยีสต์ และแบคทีเรียบางชนิดในลำไส้ สามารถผลิตเอนไซม์ที่ย่อยกรดไฟติกได้ ทำให้ร่างกายได้รับฟอสฟอรัสจากกรดไฟติก (เช่น ขนมปัง เมล็ดธัญพืชที่ใช้ยีสต์ทำให้ฟู)

 

 

อาหารที่เป็นแหล่งที่ดีของฟอสฟอรัส ได้แก่ นม นมแม่ (โดยฟอสเฟตจากนมแม่จะลดลงอย่างมากในช่วง 4-25 สัปดาห์หลังคลอด) และนมถั่วเหลืองนอกจากนี้ยังสามารถพบฟอสฟอรัสปริมาณสูงได้ในน้ำอัดลม และสารกันบูดในอาหารอีกด้วย

 

 

ผลของฟอสฟอรัสต่อร่างกาย

 

ฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบเซลล์ ฟอสฟอรัสอินทรีย์พบในฟอสโฟลิพิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเยื่อหุ้มเซลล์ ในกรดนิวคลีอิก ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสารพันธุกรรม และพบในสารอนุพันธ์ของกรดนิวคลีอิก เช่น อะดีโนซีนไตรฟอสเฟต ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่เป็นตัวสะสมและจ่ายพลังงานในปฏิกิริยาต่างๆ

 

 

นอกจากนี้ฟอสฟอรัสในรูปสารอนินทรีย์ยังเป็นองค์ประกอบหลักของกระดูก และกระดูกอ่อน เนื่องจากฟอสฟอรัสที่ร่างกายใช้ในปฏิกิริยาต่างๆ สามารถถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ร่างกายจึงต้องการฟอสฟอรัสในปริมาณที่เพียงพอต่อการสร้างกระดูก การขับฟอสฟอรัสออกจากร่างกาย และการผลัดเซลล์ผิวหนังใหม่

 

 

การได้รับฟอสฟอรัสจากอาหารไม่เพียงพอต่อร่างกาย ทำให้ปริมาณฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะเบื่ออาหาร โลหิตจาง กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย ปวดกระดูก ภาวะกระดูกอ่อน (osteomalacia) อ่อนเพลีย ติดเชื้อง่าย ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ภาวะเสียสหการ สับสน และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากปริมาณฟอสฟอรัสในอาหารมีมากอย่างเหลือเฟือ ภาวะขาดฟอสฟอรัสเนื่องจากการได้รับฟอสฟอรัสจากอาหารไม่เพียงพอ จึงพบเฉพาะในผู้ที่อดอาหารเป็นระยะเวลานาน หรือใช้ยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมเป็นองค์ประกอบในขนาดสูงและต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่ภาวะที่พบในบุคคลทั่วไป

 

 

การรับประทานฟอสฟอรัสมากเกินไปทำให้เกิดภาวะสมดุลแคลเซียมเปลี่ยนแปลง แคลเซียมตกตะกอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในไต และเกิดภาวะกระดูกอ่อนได้ อย่างไรก็ตามภาวะพิษจากฟอสฟอรัสเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อย โดยจะเกิดขึ้นเมื่อรับประทานฟอสฟอรัสมากกว่า 3 กรัมต่อวัน

 

 

ปฏิกิริยาระหว่างยา

 

การใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดภาวะฟอสฟอรัสในเลือดต่ำได้ เช่น ยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมเป็นองค์ประกอบ ยาขับลมที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไบคาร์บอเนต และยาอื่นๆ เช่น อะเซตาโซลาไมด์ (acetazolamide) ฟอสคาร์เนท (foscarnet) เพนทามิดีน (pentamidine) อิมาทินิบ (imatinib)

 

 

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ฟอสฟอรัสเป็นสารอาหารที่พบได้อย่างเหลือเฟือในอาหาร จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานฟอสฟอรัสเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่อย่างใด

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

-http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000307.htm (Access September 2015)

 

-Nation Academy of Sciences. Institue of Medicine. Food and Nutrition Board. Dietary Reference Intakes for Calcium, Phosphorus, Magnesium, Vitamin D, and Fluoride (1997)

 

 

ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก

(Some images used under license from Shutterstock.com.)