© 2017 Copyright - Haijai.com
กรองความเสี่ยงเบาหวาน
เบาหวานจัดอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โรคก็จะกำเริบขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ปัจจุบันพบว่าโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบาหวานประเภทที่ 2 โดยพบในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวมากขึ้น เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งมาจากพฤติกรรมการกินที่มากเกินจนกลายเป็นโรคอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สมพงษ์ สุวรรณวลัยกร สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคเบาหวานในแง่มุมต่างๆ ให้เราได้ทราบกัน
โรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน นิยามของคำว่า “โรคอ้วน” ในที่นี้เป็นอย่างไร
อันดับแรกคือ เราไม่ควรมองโรคอ้วนด้วยการดูจากรูปร่าง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคอ้วนแบบซ่อนรูป โรคอ้วนในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คือ โรคอ้วนลงพุง โรคอ้วนชนิดนี้บางครั้งไม่สามารถดูจากรูปร่างหน้าตาได้ บางคนหน้าตาแขนขาเรียวเล็ก แต่กลับมีพุงใหญ่ เนื่องจากมีไขมันมาสะสมอยู่บริเวณช่องท้อง
ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยมาตรฐานรอบเอวสำหรับคนไทย คือ ไม่เกิน 90 เซนติเมตรในผู้ชาย และ 80 เซนติเมตรในผู้หญิง ในประเทศไทยพบว่าประชากรที่เข้าข่ายอ้วนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรปัจจุบัน เพราะคนไทยมีแนวโน้มกินเกิน เราทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เพื่อป้องกันการเกิดโรคอ้วน ซึ่งอาจจะตามมาด้วยโรคเบาหวานในที่สุด
จริงหรือไม่ที่อ้วนในวัยเด็กส่งผลต่อการเกิดโรคเบาหวานเมื่ออายุมากขึ้น
ปัจจุบันเราพบโรคอ้วนในวัยเด็กเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะจากผลการศึกษาพบว่าคนที่เคยอ้วนในวัยเด็ก แม้จะสามารถลดน้ำหนักลงได้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นแล้วตอนที่อ้วนในวัยเด็ก จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่อมีอายุมากขึ้น
ในจุดนี้พ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลให้ลูกได้รับอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับทางโรงเรียนที่ควรเข้มงวดเรื่องอาหารที่นำมาจำหน่ายให้แก่เด็ก โดยเน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทน้ำหวาน น้ำอัดลม และขนมกรุบกรอบต่างๆ
หากเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ (pre-diabetes) ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ คือ ภาวะที่ระดับน้ำตาลขณะอดอาหารอยู่ในช่วง 101-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เปรียบได้กับกลุ่มสีเทา คือระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ก็ไม่เข้าข่ายที่จะเป็นโรคเบาหวาน ไม่ต้องกินยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ในประเทศไทยมีประชากรกลุ่มนี้มากพอๆ กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาจกลายเป็นโรคเบาหวานได้ในอนาคต ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ปฏิบัติตนเช่นเดียวกับคำแนะนำในผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือ ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
เราสามารถประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานด้วยตนเองได้หรือไม่
โดยปกติผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเป็นประจำทุกปี เพราะเป็นวัยตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเป็นประจำทุกปี เพราะเป็นวัยที่มีความเสี่ยงมากขึ้น แม้ว่าจะไม่มีอาการหรือไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ หากตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานและสามารถควบคุมการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้ดีขึ้น
เบาหวานไม่ใช่โรคของกรรมเก่า เราสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต สำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ไม่ควรใช้ชีวิตอยู่ด้วยความท้อแท้ เพราะหากมองอีกมุมหนึ่ง อาการป่วยที่เกิดขึ้นทำให้เราหันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้น กินอยู่อย่างมีสติมากขึ้น บางคนรู้สึกว่าตนเองสุขภาพดีขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การหมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลโรคเบาหวานที่ถูกต้อง เหมาะสม เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข
(Some images used under license from Shutterstock.com.)