Haijai.com


ผิวลิ้นผิดปกติบอกโรค


 
เปิดอ่าน 14474

ผิวลิ้น ผิดปกติ

 

 

ลิ้นมีหน้าที่สำคัญในการรับรสอาหาร โดยที่ลิ้นจะมีปุ่มรับรสเล็กๆ จำนวนมาก ซึ่งความสามารถในการรับรสอาหารเป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากจะทำให้เรามีความสุขกับการลิ้มรสอาหารแล้ว ยังช่วยป้องกันร่างกายจากอาหารที่ไม่ปลอดภัยด้วย โดยถ้าตุ่มรับรสรู้รสอาหารที่ไม่ปลอดภัย เช่น อาหารบูด สมองจะสั่งการตอบสนองให้พ่นออกมาทันที แต่เนื่องจากลิ้นเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในช่องปาก หลายคนจึงอาจมองข้าม ลืมดูแลเอาใจใส่ โดยไม่รู้ว่าอวัยวะเล็กๆ ส่วนนี้ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคหรือความผิดปกติที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้เช่นกัน

 

 

ความผิดปกติของผิวลิ้นในรูปแบบต่างๆ

 

1.ผิวลิ้นหนา ขนลิ้นยาวคล้ายเคลือบสีขาวหรือดำ เป็นความผิดปกติอันเนื่องมาจากการงอกยาวเกินของขนลิ้นชนิดหนึ่ง ซึ่งปกติยาวไม่เกิน 3 มิลลิเมตร ภาวะขนลิ้นยาวทำให้สีจากสารอาหารที่กินเข้าไปเกาะติดได้ง่าย ซึ่งการเกาะติดของสีอาจมีตั้งแต่สีขาวถึงสีเหลือง สีเทา หรือสีดำ สีน้ำตาลถึงดำเข้ม ขึ้นกับว่ารับอาหารชนิดใดเข้าไป

 

 

ในกอของขนลิ้นมักมีแบคทีเรียสะสมอยู่จำนวนหนึ่งที่อาจก่อโรคได้ บางคนอาจมีการรับรสไม่ดี ไม่อยากอาหาร รู้สึกไม่สบายลิ้น บางรายอาจรู้สึกคันลิ้น สาเหตุของความผิดปกติยังไม่ชัดเจน และอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

 

 ขนลิ้นสร้างชั้นเซลล์มากขึ้น

 

 

 การสะสมความสกปรก เนื่องจากไม่รักษาความสะอาดช่องปาก

 

 

 การสูบบุหรี่อย่างหนักจนเกิดการตอบสนองของขนลิ้น

 

 

 ช่องปากมีความเป็นกรดสูงไปขัดขวางกระบวนการขับสลายของเซลล์ขนลิ้น จนเกิดการสะสมเพิ่มพูนบนผิวลิ้น หรืออาจไม่พบสาเหตุใดเลยก็ได้

 

 

สำหรับการรักษาทันตแพทย์จะเป็นผู้แนะนำและให้การรักษาตามสาเหตุ ผู้ป่วยควรรักษาความสะอาดช่องปาก ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนแปรงลิ้นพร้อมกับการแปรงฟัน

 

 

2.ลิ้นเป็นรอยหยัก ลักษณะที่พบคือด้านข้างลิ้นมีแอ่งหลายๆ แอ่ง ที่เข้าได้กับรูปร่างของฟันพอดี แต่ไม่มีอาการใดๆ สาเหตุอาจมาจากพฤติกรรมการกลืนที่ผิดปกติ ชอบใช้ลิ้นดุนฟันขณะกลืน หรือลิ้นมีขนาดใหญ่กว่าพื้นช่องปาก ทำให้ขอบลิ้นดันผิวฟันด้านในตลอดเวลา จึงเกิดรอยหยักด้านข้างลิ้น หรือเกิดจากลิ้นบวมอักเสบหลายวันแล้วไปดันผิวฟันจนเกิดรอยหยักชั่วคราว เมื่อการอักเสบหายไป รอยหยักก็หายไปด้วย ความผิดปกติในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องรักษา ยกเว้นลิ้นมีการติดเชื้อหรืออักเสบ

 

 

3.ผิวโคนลิ้นอักเสบ ที่โคนลิ้นจะมีตุ่มลิ้นขนาดใหญ่กว่าขนลิ้นด้านหน้าอยู่หลายตุ่ม ตุ่มเหล่านี้มีเนื้อเยื่อภายในของระบบน้ำเหลืองอยู่ด้วย เมื่อเกิดการอักเสบหรือเสียดสีแล้วชอกช้ำจากอาหารที่กลืนเข้าไป ก็อาจบวมโตขึ้นจนรู้สึกเจ็บ หรืออาจเกิดการติดเชื้อของทางเดินหายใจ คอ หรือต่อมทอนซิลได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ กลืนแล้วเจ็บ คอแดง รู้สึกมีรสปร่าๆ ในปากและลำคอ การรักษาทำได้โดยการกำจัดสาเหตุที่เสียดสี เช่น ฟันคม ขอบฟันปลอมที่หลวมเสียดสี และรักษาด้วยยา

 

 

4.ลิ้นแผนที่ ลักษณะที่พบคือบนหลังลิ้นหรือด้านข้างของลิ้นจะมีที่เรียบเลื่อน ไม่มีขนสลับกับบริเวณที่มีขน มองดูคล้ายแผนที่ แต่แผนที่ดังกล่าวจะไม่มีตำแหน่งที่แน่นอน วันนี้ พรุ่งนี้ หรือเดือนหน้าอาจสลับเป็นแผนที่อีกแบบหนึ่งได้ โดยทั่วไปเจ้าของลิ้นจะไม่มีอาการใดๆ แต่บางคนอาจรู้สึกว่าการรับรสไม่ดีนัก แสบร้อนลิ้นเมื่อกินเผ็ด

 

 

สาเหตุของความผิดปกตินี้ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร อาจเป็นได้ทั้งการติดเชื้อ อารมณ์แปรปรวน ขาดสารอาหาร กรรมพันธุ์ หรือเกิดร่วมกับโรคของระบบร่างกายอื่นๆ เช่น โรคเลือด หอบหืด ผู้ป่วยควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

 

 

5.ลิ้นสูบบุหรี่ เป็นรอยโรคบนลิ้ที่เกิดในคนสูบบุหรี่มากๆ จนเป็นนิสัย รอยโรคที่พบจะมีลักษณะเป็นหลุมเล็กๆ รูปครึ่งวงกลมสีขาวกระจายทั่วไปบนหลังลิ้น คล้ายผิวลูกกอล์ฟ การรักษาทำได้โดยการลดการสูบบุหรี่ รักษาความสะอาดช่องปาก และพบทันตแพทย์

 

 

6.ผิวกลางลิ้นอักเสบ รอยโรคมีลักษณะเรียบลื่น ปราศจากขนลิ้นนูนเล็กน้อย เกิดบริเวณใจกลางของหลังลิ้น รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมเพชรขนาด 1-2 เซนติเมตร หลายคนไม่มีอาการ บางคนอาจรู้สึกไม่สบายลิ้นหรืออาจแสบเมื่อกินอาหารรสจัด เดิมที่เชื่อกันว่าสาเหตุเกิดจากการอักเสบ ต่อมาเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติในการเจริญเติบโตของขนลิ้น

 

ปัจจุบันพบว่าเชื้อราชนิดและ/หรือร่วมกับการสูบบุหรี่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฝ่อลีบของขนลิ้นบริเวณนี้ การรักษาอาจจำเป็นต้องตรวจเพาะเชื้อหาเชื้อราแคนดิดาด้วย หากพบเชื้อราก็ทำการรักษาเชื้อราร่วมกับการดูแลรักษาความสะอาดช่องปาก

 

 

ความผิดปกติต่างๆ บนลิ้นยังไม่ได้หมดเพียงเท่านี้นะคะ มะเร็งที่ลิ้นก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกันค่ะ ส่วนทางการแพทย์แผนจีนก็มีวิธีตรวจโรคภายในร่างกายของเราผ่านทางลิ้นอีกด้วย

 

 

เห็นไหมคะว่า ลิ้นของเราสำคัญมากแค่ไหน การดูแลสุขภาพลิ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ รวมไปถึงการรักษาความสะอาดลิ้นทุกวันด้วยการแปรงฟันหรือขูดลิ้นเบาๆ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ และยังทำให้ลมหายใจสะอาดสดชื่นด้วยค่ะ

 

 

ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร

ทันตแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)