© 2017 Copyright - Haijai.com
แมกนีเซียม อาวุธลับสร้างกระดูกแข็งแรง
กระดูกคือโครงสร้างหลักสำคัญจากภายใน มีหน้าที่ในการเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อ เอ็น เส้นเลือด และข้อต่อต่างๆ ทั่วร่างกาย แม้กระดูกจะเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์เรามาตั้งแต่เกิด แต่หากระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวันกลับไม่มีการดูดซึม หรือเพิ่มเติมอาหารที่เหมาะสม กระดูกที่เลื่องชื่อว่าแข็งแกร่ง ก็อาจต้องถึงคราวเสื่อมถอยด้อยคุณภาพลง ซึ่งแน่นอนว่าการเสื่อมตัวของกระดูกจะไม่มีการบอกกล่าวแต่เนิ่นๆ ดั่งเช่นเวลาเป็นหวัดจวนจะไข้ขึ้น อย่างที่เรารู้สึกกัน หากแต่จะเป็นการสะสมปัญหาแบบระยะยาว อีกทั้งภาวะกระดูกเสื่อมยังเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ในทุกช่วงวัย ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนสูงอายุ อย่างที่ใครหลายคนเคยเข้าใจกัน
แมกนีเซียม สาระสำคัญปลูกฝังกระดูก
หากพูดถึงสารอาหารสำคัญของกระดูก หลายคนคงนึกถึงธาตุอาหารประเภทแคลเซียม (Calcium) เป็นอันดับแรกด้วย เพราะความเข้าใจที่ว่ามีส่วนช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง และลดการเปราะหักได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ไม่ได้คลาดเคลื่อนเกินจริงแต่อย่างใด โดยงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ประชากรส่วนใหญ่มักจะคำนึงถึงการได้รับสารอาหารประเภทแคลเซียม โปรตีนและวิตามินจากอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นอย่างแรก แต่กลับพบอัตราการป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) โรคข้อกระดูกเสื่อม (Osteoarthritis) รวมถึงอาการเจ็บปวดเกี่ยวกับกระดูกอย่างต่อเนื่อง
เพราะการใช้ชีวิตประจำวันที่สะดวกสบายขึ้น รวมถึงอิริยาบถที่ล้วนเป็นการสะสมโรคทางกระดูกแบบไม่รู้ตัว เช่น การนั่งหลังงอ การก้มคอที่มากเกินไป หรือการเดินที่ส่งผลโดยตรงต่อกระดูกอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระดูกเสื่อมสภาพลง ก็มาจากการขาดแมกนีเซียมเป็นสำคัญ
แมกนีเซียม (Magnesium) จัดอยู่ในสารอาหารประเภทเกลือแร่ (Mineral) ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์โปรตีน พร้อมควบคุมการทำงานของระบบประสาทและเซลล์ต่างๆ ให้มีกลไกเป็นปกติ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมให้แคลเซียม ถูกดูดซึมเข้าสู่กระดูกได้ไวขึ้นอีกด้วย ภายในร่างกายของคนเรานั้น ประกอบไปด้วยแมกนีเซียมเฉลี่ยอยู่ที่ 25 กรัม พบได้มากในกระดูก แน่นอนว่าสารอาหารทุกประเภท ล้วนมาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปด้วยกันทั้งสิ้น มากน้อยขึ้นอยู่ที่การเลือกบริโภค แต่ทราบหรือไม่ว่าแมกนีเซียมกลับเป็นสารอาหารที่ไม่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญต่อการกระตุ้นระบบต่างๆ ภายในร่างกาย ให้ทำงานได้เป็นอย่างดี
สุขภาพติดลบเพราะขาดแมกนีเซียม
แม้ว่าแคลเซียมจะเป็นชื่อสารอาหารตัวท็อปที่เลื่องชื่อ ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กระดูก แต่นักวิจัยและนักโภชนาการหลายท่าน กลับเชื่อว่าแมกนีเซียมมีความสำคัญมากกว่าแคลเซียมเป็นไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นการบำรุงสุขภาพกระดูกก็ดี หรือการดูแลระบบร่างกายให้เป็นไปตามธรรมชาติก็ดี
เพราะแมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญต่อระบบย่อยอาหาร การผลิตพลังงาน ช่วยให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัวและผ่อนคลาย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เราไม่เป็นตะคริวหรือเหน็บชา โดยปกติแล้วแมกนีเซียม จะทำหน้าที่ควบคู่กับแคลเซียมอยู่เสมอ เมื่อใดที่ร่างกายเกิดมีปริมาณแคลเซียมมากเกินไป กล้ามเนื้อจะเกิดการหดรัด และทำงานอย่างไม่เป็นปกติ ทั้งยังส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนและเกิดปฏิกิริยาเรรวนต่างๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ อาทิ
• อาการเฉื่อยชา ความจำเสื่อมถอย
• อาการสั่นที่ควบคุมไม่ได้ เช่น มือสั่น
• อาการตะคริว หรือกระตุกตามอวัยวะต่างๆ
• อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ
• อาการคลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร
• ภาวะเลือดจางผิดปกติ และความดันโลหิตสูง
อย่างไรก็ตามการขาดแมกนีเซียม อาจมีสาเหตุมาจากการรับยาปฏิชีวนะบางชนิดร่วมด้วย แม้ว่าภาวการณ์ขาดแมกนีเซียม จะไม่ส่งผลรุนแรงต่อการเกิดโรคร้าย แต่ผลเสียของมันคือการเฝ้าทำร้ายระบบภายในให้เสื่อมสมรรถภาพลงอย่างช้าๆ ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และบริโภคอาหารให้หลากหลายขึ้น
เสริมพลังด้วยอาหารอุดมแมกนีเซียม
เคยเช็คตัวเองดูหรือไม่ว่า อาหารหรือของว่างที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละวันนั้น ให้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนแล้วหรือไม่ แน่นอนว่าคำตอบที่ได้คือไม่ครบ
โดยเฉพาะหนุ่มสาวชาวออฟฟิศที่ยุ่งยากต่อการสรรหาอาหารกู้ชีพเพื่อสุขภาพในแต่ละวัน อีกทั้งเครื่องดื่มกระชากกำลังอย่างกาแฟ ที่คอยแต่จะสร้างริ้วรอยและความเสื่อมโทรมให้ทุกวัน แต่แท้ที่จริงแล้วการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องรับประทานให้ครบจบภายในวันเดียว หากแต่เป็นการรับประทานอย่างหลากหลาย ไม่จำเจซ้ำๆ เดิมๆ ติดต่อกัน แต่หนึ่งในนั้นจำเป็นที่จะต้องมีแมกนีเซียมปะปนอยู่ด้วย
1.เมล็ดฟักทอง (ประกอบด้วยแมกนีเซียม 130 มิลลิกรัม)
นอกจากจะเป็นแหล่งสะสมแมกนีเซียมแล้ว ยังอุดมไปด้วยสังกะสี ซึ่งเป็นส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเสริมสร้างระบบต่างๆ ภายในร่างกายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งวิตามินอีที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระและสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย
2.ผักโขม (ประกอบด้วยแมกนีเซียม 160 มิลลิกรัม)
ด้วยคุณประโยชน์ที่มากด้วยสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ช่วยยับยั้งโรคอาการหัวใจตีบ และลดอาการหลอดเลือดผิดปกติ อีกทั้งวิตามิน K1 ที่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง เรียกได้ว่า เป็นเกราะหุ้มกระดูกอย่างแท้จริงก็คงไม่ผิด
3.ถั่วเหลือง (ประกอบด้วยแมกนีเซียม 130 มิลลิกรัม)
ธัญพืชเลื่องชื่อด้านโปรตีน แต่อีกด้านหนึ่งยังพบว่าถั่วเหลืองมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูก และลดความรุนแรงของโรคกระดูกผุได้ ทั้งยังป้องกันการขาดแคลเซียม และปรับสมดุลทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเพศหญิง เราจึงมักจะสังเกตเห็นว่า ผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือนหรือหมดประจำเดือนไปแล้ว มักนิยมดื่มน้ำเต้าหู้ เพื่อเป็นการบำรุงร่างกายอยู่เสมอ
4.งาดำ (ประกอบด้วยแมกนีเซียม 126 มิลลิกรัม)
ประกอบด้วยแร่ธาตุหลากชนิด รวมถึงธาตุอาหารประเภททองแดง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการบรรเทาอาการปวด และลดบวมโรคไขข้ออักเสบได้เป็นอย่างดี ทั้งยังประกอบไปด้วยอีลาสติน (Elastin) และคอลลาเจน (Collagen) จึงช่วยเสริมความยืดหยุ่นและเพิ่มความแข็งแรงแก่ข้อต่อ และกระดูกในส่วนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
5.ถั่วดำ (ประกอบด้วยแมกนีเซียม 120 มิลลิกรัม)
มีส่วนช่วยในการบำรุงหัวใจและยับยั้งการก่อตัวของเซลล์มะเร็งได้ หากรับประทานเป็นประจำ ยังเป็นการช่วยบำรุงผิว ลดริ้วรอยและกระชับผิวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่รับประทานถั่วดำ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าคนที่ไม่รับประทานถั่วดำเลย
การรับประทานอาหารอย่างหลากหลาย เป็นการเพิ่มทางเลือกและคุณประโยชน์ใหม่ๆ แก่ร่างกายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผัก ข้าว ผลไม้ ตลอดจนการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและเกราะป้องกันโรคภัยได้เป็นอย่างดี แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการเลือกปฏิบัติอย่างสมดุล เพราะไม่มีสิ่งไหนในโลกที่ให้ประโยชน์อยู่ตลอดเวลา แม้จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแต่หากได้รับมากเกิน ก็ตกเป็นโทษได้เช่นกัน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)