
© 2017 Copyright - Haijai.com
ข้อเสื่อม สมุนไพรไท๊ยไทยช่วยได้
โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่แสดงถึงความผิดปกติของกระดูกอ่อนผิวข้อ ที่กั้นอยู่ระหว่างกระดูกข้อต่อไว้ไม่ให้เสียดสีกัน ในขณะที่ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว หากกระดูกอ่อนและน้ำหล่อเลี้ยงผิวข้อถูกทำลาย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของข้อ เช่น ข้อมีการผิดรูปไปจากปกติ มีน้ำสะสมในข้อเพิ่มขึ้น เพราะภายในข้อประกอบไปด้วยเยื่อบุข้อ น้ำไขข้อและกระดูกผิวอ่อนข้อ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับแรงกดภายในข้อต่อ ป้องกันไม่ให้กระดูกข้อต่อกระแทกกัน หากกระดูกผิวอ่อนข้อถูกกระทำหรือถูกทำลายไป จะทำให้กระดูกที่อยู่ภายในข้อ จะเกิดการสัมผัสกัน ข้อต่อเกิดการเสียดสี กล้ามเนื้อและเอ็นที่อยู่โดยรอบข้อถูกยึด เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดข้อตามมา
อาการและสัญญาณเตือนของโรคข้อเสื่อม
โรคข้อเสื่อม เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ที่ข้อจะเกิดความเสื่อมและการสึกหรอไปตามกาลเวลา ส่วนของข้อที่พบความเสื่อมได้คือ ข้อเข่า ข้อสะโพก โดยการดำเนินของโรคจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปี ผู้ที่เกิดอาการข้อเสื่อมในระยะแรก อาจไม่มีอาการรุนแรงมากนัก จนกว่าข้อที่เสื่อมจะเกิดการอักเสบ ผิวข้อต่อเกิดการเสียดสีหรือการสึกที่รุนแรง อาการเจ็บปวดก็จะแสดงออกมาให้เห็นได้ชัดขึ้น โดยอาการปวดที่เป็นสัญญาณเตือนมีดังนี้
1.มีอาการปวดข้อเป็นระยะๆ เป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะถ้าต้องนั่ง เดิน หรือ ยืน เป็นเวลานานๆ อาการปวดก็จะเพิ่มมากขึ้น
2.มีเสียงลั่นในข้อ ถ้าข้อเสื่อมรุนแรง อาจได้ยินเสียงดังแกร๊กๆ เวลาที่มีการเคลื่อนไหวของข้อ หรือในระหว่างที่มีการเดินขึ้นลงบันได หรืออาจเกิดการเจ็บบริเวณข้อในขณะที่เดิน
3.ข้อมีการติด ขยับลำบาก โดยเฉพาะภายหลังจากการตื่นนอน ต้องบริหารโดยการขยับข้อสักพัก จึงจะลุกไปทำอย่างอื่นได้ตามปกติ
4.ข้อเกิดอาการบวม เนื่องจากมีน้ำไปเลี้ยงข้อเพิ่มขึ้น
วิธีการรักษาโรคข้อเสื่อม อาจทำได้โดยการพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์อาจให้ยาต้านการอักเสบ หรือ การฉีดน้ำในข้อเทียม การทำกายภาพบำบัด หรือการผ่าตัด ซึ่งแนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรงของโรค และอายุของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน แต่อีกทางเลือกหนึ่งที่นับเป็นการบำบัดด้วยวิถีธรรมชาติ โดยการใช้สมุนไพรบำบัด
บรรเทาข้อเสื่อมด้วยสมุนไพรธรรมชาติ
หากความเสื่อมของข้อ สร้างปัญหาและความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย การรักษาโรคด้วยวิถีธรรมชาติ การใช้สมุนไพรที่มีประโยชน์ เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อและลดการปวดบวมของกระดูก ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ โดยประโยชน์จากการนำสมุนไพรมาใช้บำบัดอาการของโรค เช่น
1.เพชรสังฆาต สมุนไพรชนิดนี้ เป็นไม้เถาเลื้อย เปลือกเถาเรียบเป็นข้อต่อๆ กัน เถาของเพชรสังฆาตมีลักษณะเหมือนกระดูก เป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายข้อต่อกระดูก หมอยาพื้นบ้านใช้สมุนไพรชนิดนี้ในการรักษากระดูกหัก จึงมีชื่อเรียกที่บ่งบอกสรรพคุณอยู่หลายชื่อ คือ ร้อยข้อ ขันข้อ ต่อกระดูก เป็นต้น
มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ของเพชรสังฆาตพบว่า มีฤทธิ์ในการบำรุงกระดูก แก้ปวด แก้อักเสบ และสารฟลาโวน้อยด์ที่ทำให้เส้นเลือดแข็งแรง จากการทดลองพบว่า สารสกัดของเพชรสังฆาตเพิ่มความหนาและความแข็งแรงของกระดูกในหนู กระตุ้นกระบวนการสร้างเซล และสร้างเนื้อกระดูก เพชรสังฆาตจึงเหมาะที่จะนำไปใช้ในการแพทย์ทางเลือกสำหรับป้องกัน และรักษาโรคกระดูกพรุน หรือคนที่เป็นโรคข้อเสื่อม มีผลในการเพิ่มมวลกระดูก มีประสิทธิภาพในการลดอาการบวม และแก้การอักเสบ
ข้อควรระวัง คือ สมุนไพรเพรชสังฆาต มีสารแคลเซียมออกซาเลทสูง ไม่ควรสัมผัสหรือรับประทานโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองในลำคอได้ การรับประทานในรูปแคปซูลจะทำให้ฤทธิ์ระคายเคืองถูกทำลาย
2.เถาวัลย์เปรียง สมุนไพรที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีต ขึ้นอยู่ทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา หน้าฝนออกดอกสีขาวเป็นช่อบานสะพรั่งสวยงาม ยอดอ่อนรับประทานได้ เถาของเถาวัลย์เปรียงถูกใช้นำมาเป็นส่วนประกอบในตำรับยาแก้กษัย แก้เหน็บชา ถ่ายเส้นเอ็น ถ่ายกษัต แก้เส้นเอ็นขอด แก้เมื่อยขบ ทำให้เส้นหย่อนแก้ปวด
ต่อมามีงานวิชาการพบว่า เถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกัน อันอาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเอดส์ มะเร็ง หวัดและภูมิแพ้ รวมถึงผ่านการทดลองในคลินิก ซึ่งทดลองในคนแล้วผลปรากฏว่า ในการแก้ปวดจากเข่าเสื่อม โดยเปรียบเทียบกับนาโปรเซน ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบแผนปัจจุบัน พบว่าได้ผลไม่แตกต่างกันรวมถึงแก้การปวดหลังระดับเอว มีประสิทธิภาพในการแก้ปวด ลดการอักเสบโดยอาจใช้เป็นยาประคบ หรือทำเป็นยาต้มแก้ปวดเมื่อยก็ได้ เถาวัลย์เปรียงจึงจัดเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่ง ที่ตอบโจทย์การรักษาอาการปวดเมื่อยของกระดูกและข้อได้
3.งา พืชน้ำมันบำรุงชั้นยอด งาอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส รับประทานคู่กับถั่วธัญพืชต่างๆ จะยิ่งทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อความแข็งแรงของกระดูก สรรพคุณของงา ในการเป็นยาบำรุงกระดูกเป็นความรู้ที่หมอยาทุกคน มีเป็นพื้นฐาน คนไทยใหญ่จะนิยมปลูกพืชหลักๆ 3 ชนิดคือ งา ข้าว เมี่ยง ซึ่งงาที่ปลูกคือ งาขาวและงาดำ น้ำมันจากงาดำจะเอามาใช้รักษากระดูกหัก แถมยังเป็นยาแก้ปวดบวมชั้นยอด ใช้ระงับอาการปวดบวมจากการเคล็ด ขัด ยอก ปวดตามเส้น หรือกล้ามเนื้ออ่อนล้า โดยจะใช้นำไปเคี่ยวกับสมุนไพรตัวอื่นๆ ด้วยก็ได้ เพราะน้ำมันงาจะทำหน้าที่ในการดึงตัวยาออกมา ช่วยเสริมประสิทธิภาพของตัวยาซึ่งกันและกัน
ข้อควรระวังคือ งาถือเป็นยาร้อน ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อายุ 1-3 เดือน ไม่ควรกินงามากเกินไป รวมถึงผู้ที่ท้องเสียไม่ควรรับประทาน
4.หญ้าขัดมอน สมุนไพรตระกูลขัด มีสรรพคุณในการแก้ขัดต่างๆ เช่น อาการปวด ขัดตามข้อ ปัสสาวะขัด เป็นต้น หญ้าขัดถูกนำมาใช้เป็นทั้งยากิน ยาอาบ ยาพอก ฯลฯ ใช้ในการรักษาอาการปวดข้อ ปวดเมื่อย บำรุงเอ็น รวมถึงกล้ามเนื้อและกระดูก
วิธีการรักษาอาการปวดข้อ ทำได้โดยนำรากมาต้มดื่มแก้ปวดข้อ นอกจากนี้ขัดมอนยังเป็นยากระตุ้นกำลังชั้นดี ทำให้สดชื่น แก้อ่อนเพลีย ใครไม่รู้จักอาจนึกว่าขัดมอนเป็นแค่วัชพืช เพราะขัดมอนเป็นพืชที่พบอยู่ตามริมทางทั่วไป
5.เอ็นอ่อน เป็นสมุนไพรหนึ่งในยา “สามดูกสี่เอ็น” เพื่อรักษากระดูกและเอ็น ชื่อของสมุนไพรบ่งบอกถึงสรรพคุณที่ใช้ในการรักษากระดูกและเอ็น
วิธีการรักษาแก้อาการปวดเส้น ให้เอาเถาเอ็นอ่อน แก่นแจง เมล็ดก้ามปู มาต้มแล้วรับประทาน จะช่วยคลายหายปวดเส้นได้ หรืออาจนำเปลือกมาทำเป็นยาประคบ เพื่อแก้เส้นตึง ช่วยให้คลายเส้น และยืดเส้นเอ็น
6.ยอ สมุนไพรใกล้ตัว ยอถูกนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ใบ ผล เป็นต้น ใบยอ ถูกนำมาใช้ทำอาหาร หรือทำเป็นยาพอกแก้ปวด แก้เคล็ดขัดยอก ผลยอสุกนำมาใช้รับประทานได้ ลูกยอบดใช้ทาผิวหนังฆ่าเชื้อโรค ในปัจจุบันมีการนำยอมาใช้รักษาโรคต่างๆ เช่น โรคเก๊าต์ โรคความดันโลหิตสูง อาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ โรคปวดในข้อ เป็นต้น
คนที่เป็นโรคข้อเสื่อมย่อมรู้สึกถึงความทรมานของร่างกาย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การรักษาด้วยการใช้สมุนไพรจากธรรมชาติ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่อาจช่วยบรรเทาอาการได้ไม่มากก็น้อย และสำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรค การทำความรู้จักสมุนไพรพื้นบ้านที่มีประโยชน์รวมถึงสรรพคุณในด้านต่างๆ ไว้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถนำไปใช้ในการดูแลตัวเอง แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดใด นอกจากการศึกษาถึงสรรพคุณในด้านดีของยาแล้ว ควรศึกษาถึงข้อเสีย และข้อควรระวังไว้อีกด้านหนึ่งด้วย เพื่อความปลอดภัยในการนำมาใช้ เพราะเหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
(Some images used under license from Shutterstock.com.)