
© 2017 Copyright - Haijai.com
Q : เรียนปรึกษาคุณหมอค่ะ ดิฉันมีเพื่อนสนิทกำลังมีปัญหาครอบครัว เนื่องจากสามีของเธอเป็นคนขี้หึง โมโหง่าย และเอาแต่ใจตัวเอง จึงทำให้มีปากเสียงกันบ่อยๆ และบางครั้งสามีจะทุบตีเธอ เธอมาปรึกษาว่าควรจะหย่าร้างกับสามีดีไหม แต่ก็กลัวว่าลูกจะเป็นเด็กขาดความอบอุ่น เพราะลูกรักพ่อของเขามาก ส่วนสามีของเธอก็รักลูกมากเช่นกัน ดิฉันไม่ทราบจะให้คำแนะนำอย่างไร รบกวนคุณหมอช่วยเพื่อนของดิฉันด้วยค่ะ
A : สามีทุบตีภรรยาถือว่าเป็นความรุนแรงในครอบครัว (Family Violence) อันที่จริงการทำร้ายทางกาย ทำร้ายจิตใจด้วยวาจาและการแสดงออก เช่น ด่าทอ พูดจาไม่ให้เกียรติ บีบคั้นทางการเงิน ไม่ส่งเสียเลี้ยงดู มีภรรยาน้อย ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงทางครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลกหลายคนคุ้นเคย คิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่คิดว่าเป็นปัญหาส่วนรวมหรือปัญหาของสังคม
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบหญิงหนึ่งในสามคนทุกประเทศทั่วโลก เคยถูกสามีทุบตีทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต งานวิจัยในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา พบว่า ภรรยาร้อยละ 40-70 ที่ตายด้วยการฆาตกรรมเป็นฝีมือของสามีหรือคู่รัก ขณะที่สามีเพียงร้อยละ 6 ที่ตายด้วยการฆาตกรรมที่กระทำโดยภรรยาหรืออดีตคู่รัก
ในเมืองไทยก็เช่นกัน ข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่พ้นเรื่องสามีฆ่าภรรยา ทั้งจากความหึงหวง ความไม่พอใจต่างๆ เช่น
ผู้ชายคนหนึ่งติดยาเสพติด ชอบทำร้ายภรรยา ฝ่ายหญิงจึงขอเลิก ฝ่ายชายบุกไปง้อขอคืนดีกับอดีตภรรยาที่เป็นพนักงานขายในห้างสรรพสินค้า เมื่อฝ่ายหญิงไม่ยอมคืนดี ก็ใช้แขนล็อกคอ ใช้มีดจ้วงแทงฝ่ายหญิงจนอาการสาหัสท่ามกลางสายตาของคนมากมาย สุดท้ายเธอเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
ผู้ชายคนหนึ่งดื่มเหล้าจนเมามาย เมื่อกลับถึงบ้านยามดึก ขอมีเพศสัมพันธ์กับภรรยา แต่ภรรยาปฏิเสธ เขาจึงทำร้ายทุบตีเธอจนเสียชีวิต
ผู้ชายคนหนึ่ง แฟนสาวขอเลิกเพราะเขามีอารมณ์รุนแรง ขี้หึง เขาตอบโต้โดยการสาดน้ำกรดใส่ใบหน้าของเธอ
ฯลฯ
สาเหตุอยู่ที่ค่านิยม
แม้งานวิจัยต่างๆ ไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นเพราะสาเหตุใดกันแน่ แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.ความเชื่อ ภรรยายินยอมให้สามีทำร้าย เพราะเชื่อว่าสามีทำร้ายภรรยาเป็นเรื่องปกติ จากการสำรวจผู้หญิงอายุ 15-49 ปี ในประเทศอินเดีย ตุรกี อัฟกานิสถาน มากกว่าครึ่งหนึ่งเห็นว่าเป็นสิทธิ์ของสามีที่จะเฆี่ยนตีหรือทำร้ายภรรยา หากเธอไม่เชื่อฟังสามีหรือนุ่งห่มไม่เรียบร้อย อย่างที่สามีต้องการ ส่วนสามีก็เชื่อว่าการทำร้ายภรรยา คือ การสั่งสอน เป็นสิทธิ์และหน้าที่ที่สามีพึงกระทำ
2.ความด้อยโอกาสและนิสัยส่วนตัวของภรรยา ในเมืองไทยผู้เขียนเคยถามภรรยาชาวไทยหลายคนที่ถูกสามีทำร้ายว่าทำไมไม่เลิกรากัน คำตอบคือ ภรรยาต้องพึ่งสามีด้านเศรษฐกิจ เพราะเรียนไม่สูง ไม่มีงานทำ ไม่มีญาติ ไม่มีเพื่อน หากเลิกไปตนเองและลูกก็ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีข้าวกิน ไม่ได้เรียนหนังสือ ภรรยาบางคนโทษตนเองว่าเป็นต้นเหตุให้สามีทำร้าย โดยพูดกับเขาไม่ดีเอง ไม่ได้เตรียมอาหารที่เขาชอบ ฯลฯ ภรรยาบางคนเป็นคนยอมคน ไม่กล้าต่อสู้ เก็บตัว เก็บกด
3.ความด้อยโอกาสและนิสัยส่วนตัวของสามี เช่น เป็นคนมีการศึกษาต่ำ ไม่มีงานทำ รายได้น้อย ไม่มั่นใจในตนเอง พิการ โมโหร้าย โกรธง่าย ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ เป็นโรคประสาท โรคจิต ติดสุรายาเสพติดการพนัน มีปัญหาบุคลิกภาพแปรปรวน ขี้หึง คิดไปเองว่าอีกฝ่ายนอกใจ ส่วนหนึ่งของชายเหล่านี้มีพ่อแม่ที่เคยกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทั้งกระทำต่อเขาหรือทำให้เขาเห็น
4.สังคม วัฒนธรรม ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งคิดว่า หากเห็นสามีกำลังทุบตีภรรยาจะถือว่าธุระไม่ใช่ เช่น ผู้ร้ายที่เข้ามาทำร้ายผู้หญิง เพื่อหวังข้าวของเงินทอง หากตะโกนขึ้นว่า “เรื่องของผัวเมีย” จะไม่มีใครช่วยฝ่ายหญิงเลย
5.กฎหมาย แม้เมืองไทยจะมีกฎหมายเอาผิดต่อการกระทำรุนแรงในครอบครัว แต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่ชัดเจน ภรรยาที่ถูกทำร้ายส่วนหนึ่งไม่กล้าแจ้งความ หรือส่วนหนึ่งไปแจ้งความ ทางตำรวจก็ไม่รับแจ้ง พยายามให้ไกลเกลี่ยเจรจากันเพราะเป็นเรื่องผัวเมีย จนภรรยาบางรายถูกฆ่าตายหลังจากกลับจากโรงพักก็มี
ผลต่อแม่และเด็ก
นอกจากผลในระยะยาวจากการถูกกระทำรุนแรง คือ อาการบาดเจ็บทางร่างกายจนต้องนอนโรงพยาบาล หรือเกิดความพิการ หากยินยอมให้มีความรุนแรงในครอบครัวไปเรื่อยๆ แม่จะได้รับผลในระยะยาว เช่น เครียด กลัว หวาดระแวง วิตกกังวล ซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า กินไม่ได้ นอนไม่หลับ มีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตาย ลูกไม่สามารถเรียนหนังสือได้ เกเร ก้าวร้าว ติดเกม ติดเหล้า ติดยาเสพติด ถูกไล่ออกจากโรงเรียน หนีออกจากบ้าน เป็นเด็กเร่ร่อน มีปัญหาเรื่องอาชีพการงาน
นอกจากนั้นในแม่ที่มีอาการทางจิตประสาทจากการกระทำความรุนแรง (Post – Traumatic Stress Disorder) หากตั้งครรภ์อาจทำให้แท้งได้ ลูกคลอดก่อนกำหนด ลูกไม่แข็งแรง เลี้ยงลูกอย่างไม่มีคุณภาพ
แก้ไขได้ไม่ยากเลย
1.เชื่อว่าผู้หญิงผู้ชายเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีสิทธิ์ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจผู้อื่น การจะเชื่อเช่นนี้ได้ ผู้หญิงต้องยกระดับชีวิต ความคิด จิตใจ ให้พึ่งพาตนเองได้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ส่วนตัว ครอบครัว และการงาน
2.ไม่ยอมให้สามีทำร้าย หากห้ามแล้วสามีไม่ฟัง โดยเฉพาะหากสาเหตุมาจากความเชื่อหรือนิสัยของเขาที่เลิกไม่ได้ เช่น บางคนทำร้ายภรรยาทุกครั้งที่เมา แต่เลิกเมาไม่ได้ ฯลฯ ภรรยาต้องไม่กลัวที่จะแยกทางกัน ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะขาดความอบอุ่น เพราะถึงแม้ไม่ได้เป็นสามี แต่เขายังเป็นพ่อที่รักของลูก
เมื่อประมวลเหตุผลแล้วว่าจะเลิก ต้องเด็ดขาด มีวิธีที่จะไม่ให้เขาตามมาทำร้าย ไม่เกรงที่จะอาศัยกฎหมายและตำรวจ
3.สังคม รัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเอาจริง มีวิธีป้องกันการเกิด สอดส่องช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีการปฏิรูปกฎหมายให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวได้รับโทษสูง
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
สูติ-นรีแพทย์
โรงพยาบาลประจำจังหวัดพิจิตร
(Some images used under license from Shutterstock.com.)