© 2017 Copyright - Haijai.com
6 วิธีครอบแก้ว เลือกเป็นอายุยืน
หลายคนเข้าใจว่า การครอบแก้วนั้นไม่ยากใช้อุปกรณ์น้อย สามารถทำเองได้ แต่ทั้งนี้ผู้ทำต้องมีความรู้ในการตรวจ วินิจฉัยโรคและยึดความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ดังนั้นการครอบแก้วต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์จีนผู้เชี่ยวชาญ
วิธีการครอบแก้ว
มีหลายวิธี แพทย์จีนจะทำหน้าที่เลือกวิธีรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยอธิบายคร่าวๆ ได้ดังนี้
1.วิธีหลิวกว้าน (Leaving Cupping) คือ การครอบแก้วทิ้งไว้บนผิวหนังเป็นเวลา 5-15 นาที แล้จึงดึงออก ซึ่งต้องทำอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องเวลา แพทย์จีนผู้เชี่ยวชาญจะต้องเป็นผู้ประเมิน เนื่องจากถ้าครอบทิ้งไว้นานเกิน อาจทำให้เกิดตุ่มน้ำพุพอง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแรงดูด บริเวณที่รักษา และอาการของโรค ผู้ป่วยแต่ละรายอาจใช้จำนวนแก้วแตกต่างกัน บางคนครอบแก้วใบเดียว บางคนครอบแก้วหลายใบ วิธีนี้เหมาะสำหรับแก้โรคปวดต่างๆ เช่น ปวดหลัง ปวดเอว ปวดท้อง เป็นต้น
2.วิธีส่านกว้าน (Flashed Cupping) คือ การครอบแก้ว ดึงออก แล้วทำซ้ำ เป็นการครอบแบบไม่ทิ้งไว้ จะครอบจนผิวหนังเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงระเรื่อ วิธีนี้เหมาะจะทำบริเวณที่กล้ามเนื้อหย่อนคล้อย ครอบแก้วทิ้งไว้ไม่อยู่หรือบริเวณที่มีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบร่างกายพร่อง
3.วิธีโจว่กว้าน (Moving Cupping) คือ การเดินแก้ว วิธีนี้จะต้องใช้น้ำมันหรือยาหม่องชโลมบริเวณที่จะเดินแก้ว เพื่อเพิ่มความลื่น โดยถูแก้วไปมาจนผิวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงระเรื่อ เหมาะสำหรับผิวบริเวณกว้าง มีกล้ามเนื้อเยอะ เช่น แผ่นหลัง
4.วิธีฉื้อลั่วป๋วกว้าน (Bleeding Cupping) คือ การเจาะเลือดครอบแก้ว โดยใช้เข็มที่ค่อนข้างหนา เช่น เข็มสามเหลี่ยม เข็มฉีดยา เข็มผิวหนัง เป็นต้น เจาะเส้นเลือดฝอยหรือบริเวณที่จะทำการรักษา จากนั้นใช้แก้วครอบ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยเลือด เหมาะสำหรับรักษาอาการผิวหนังคันอักเสบ (Neurodermatitis) สิว ฝีหนอง ไฟลามทุ่ง (Erysipelas) โรคหืด เป็นต้น
5.วิธีหลิวเจินป๋ากว้าน (Needle Cupping) คือ การครอบแก้วเข็ม โดยเริ่มจากฝังเข็มกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้สึกตึงๆ หน่วงๆ บริเวณจุดที่ฝังเข็ม จากนั้นคาเข็มทิ้งไว้ แล้วใช้แก้วครอบให้เข็มอยู่ในตำแหน่งตรงกลางแก้วพอดีเป็นเวลา 5-15 นาที จากนั้นดึงแก้วแล้วถอนเข็มออก
6.วิธีเย่ากว้าน (Medicinal Cupping) คือ การครอบแก้วยา โดยเริ่มจากนำยาสมุนไพรจีนมัดใส่ผ้าขาวบางแล้วนำไปต้มจนเดือดข้น จากนั้นใส่กระบอกไม้ไผ่ลงไปต้มนาน 15 นาที โดยใช้ตำรับยาสมุนไพรจีนตามชนิดของโรคและการวินิจฉัยของแพทย์จีน ส่วนใหญ่วิธีนี้จะใช้รักษาโรคปวดบริเวณต่างๆ โรครูมาทอยด์ เป็นต้น
ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อไปครอบแก้ว
• ก่อนการครอบแก้ว
1.ไม่ควรทำหลังอาหารทันที ควรพักอย่างน้อย 30 นาที ไม่ควรทำขณะท้องว่าง หิว หรืออิ่มจนเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เป็นลมได้
2.ควรอาบน้ำเตรียมร่างกายให้พร้อม
• ขณะครอบแก้ว
1.ควรอยู่ในท่าที่สบาย ไม่ขยับตัวเปลี่ยนท่า เพื่อป้องกันอันตรายจากแก้วที่อาจตกแตกและไฟลวก
2.กำหนดลมหายใจเข้า-ออกลึกๆ ช้าๆ เป็นจังหวะ สม่ำเสมอ เพื่อบรรเทาความเจ็บ
• หลังครอบแก้ว
1.ควรใส่เสื้อผ้าเนื้อหนาเพื่อปกปิดบริเวณที่ครอบแก้วให้มิดชิด รอยช้ำจะหายไปเองใน 3 วัน – 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1 สัปดาห์
2.หลังจากครอบแก้ว 3 ชั่วโมงไม่ควรอาบน้ำ หลีกเลี่ยงการกระทบอากาศเย็นหรือความชื้น การตากลมหรือเครื่องปรับอากาศโดยตรง เพราะทำให้เกิดโรคใหม่ตามมาได้ง่าย
3.ควรดื่มน้ำอุ่นหนึ่งแก้วแล้วพักผ่อน เนื่องจากการครอบแก้วจะช่วยเปิดรูขุมขนเพื่อขับน้ำในร่างกายออกมาเป็นเหงื่อและปัสสาวะ
ฉะนั้นการครอบแก้วควรทำโดยแพทย์จีนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญศาสตร์แพทย์จีนอย่างแท้จริง จึงจะเกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้ป่วยสูงสุด
แพทย์จีนนภษร แสงศิวะฤทธิ์
อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)