Haijai.com


ทำความรู้จักสมองของลูก


 
เปิดอ่าน 2308

ทำความรู้จักสมองของลูก

 

 

สมองเป็นตัวที่จะรับรู้และสั่งการ ทำให้เรามีความคิด และการกระทำ แต่ถ้าสมองไม่สั่งการแล้ว เราคงจะทำอะไรไม่ได้เลย การจะเลี้ยงลูกให้ฉลาดนั้น จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาสมองของลูกให้เป็นไปอย่างถูกทาง สร้างเสริมความรู้ประสบการณ์ให้เหมาะสมกับวัย เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสมอง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักการทำงานของสมองตั้งแต่เกิดจนเจริญเติบโตเต็มที่ เพื่อจะได้เข้าใจและส่งเสริมสมองให้เรียนรู้ได้อย่างถูกต้องตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม

 

 

เมื่อแรกคลอดทารกมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือจำนวนของจุดซีนแนปส์ (Synapses) หรือจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง (Neurons) ซึ่งยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเพิ่มขึ้นของจำนวนจุดซีนแนปส์นี้เรียกว่ากระบวนการสร้างจุดซีนแนปส์ (Synaptogenesis) กระบวนการนี้เกิดขึ้นเร็วมาก  ภายในขวบปีแรกจุดซีนแนปส์เพิ่มมากกว่าเดิมถึง 10 เท่า เมื่ออายุ 2 ปีน้ำหนักสมองจะเท่ากับ 80% ของสมองผู้ใหญ่ การที่สมองเด็กทารกเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ มาจากเหตุผลที่ว่า สมองช่วงนี้ต้องพัฒนาขึ้นมาเพื่อทำการควบคุมพัฒนาการของร่างกาย เพราะเด็กต้องพัฒนาจากการนอนเฉยๆ มาเป็นคว่ำ ชันคอ นั่ง คลาน ยืน เดิน วิ่ง ฯลฯ นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาการด้านการรู้ภาษา และการรับรู้สัมผัส เพื่อจะก้าวออกสู่โลกกว้างในวัยถัดไป กระบวนการสร้างจุดซีนแนปส์นี้ ไม่ได้มีไปทั่วเท่ากันหมดทั้งสมอง แต่จะเกิดขึ้นในบางบริเวณ เมื่อเข้าสู่ระยะที่มีพัฒนาการของสมองส่วนนั้นพร้อมแล้ว

 

 

หน้าที่สำคัญของสมองที่ทำให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างมีศักยภาพ

 

ศักยภาพของสมองที่ดีของลูก จะต้องมาจากการกระตุ้นอย่างถูกวิธี เพื่อที่จะได้พัฒนาไปสู่พื้นฐานของการเรียนรู้ที่รอบด้าน แล้วคุณพ่อคุณแม่จะสามารถกระตุ้นการทำงานของสมองลูกได้อย่างไรบ้าง

 

 

 การสร้างจินตนาการจากสิ่งที่มองเห็น ความสามารถในการมองเห็นของเรามีมากมายหลายด้าน ตั้งแต่การสังเกตเห็นรายละเอียดของสิ่งรอบตัว ประมวลสิ่งที่มองเห็นแปลออกเป็นรูปแบบต่างๆ นำรูปแบบนี้เก็บเป็นข้อมูลไว้ในความทรงจำ และเมื่อถึงเวลาจำเป็นก็สามารถดึงความทรงจำที่เก็บไว้ออกมาใช้ประโยชน์ได้

 

 

 การตอบสนองทางอารมณ์ นักวิจัยสมองแสดงให้เห็นส่วนของสมองที่ดูแลเรื่องอารมณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กทุกอายุ ลองสังเกตตัวเองในเวลาที่เราผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตมาได้ เราจะจดจำได้เฉพาะตอนที่เจ็บปวดหรือตอนที่มีความสุขเท่านั้น และลืมเรื่องอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นขณะอยู่ในภาวะนั้นๆ  จึงถือได้ว่า อารมณ์ ความรู้สึก เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานของสมอง

 

 

 ภาษาและการคำนวณ พัฒนาการการพูดและภาษาตั้งแต่เด็กๆ ของเรา จะมีต่อเนื่องมาเกือบตลอดชีวิต การสื่อสารกันทุกวันทำให้ระบบการเชื่อมโยงของเซลล์สมองดำเนินอยู่ต่อไป และสมองไม่เสื่อมก่อนวัยอันควร การคำนวณก็เช่นเดียวกัน เพราะจะช่วยให้สมองฝึกคิดอยู่ตลอดเวลา ยิ่งคิดมากเท่าไรก็ยิ่งช่วยเพิ่มเส้นใยใหม่ๆ ภายในสมองให้มากขึ้นเท่านั้น

 

 

 การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และสติปัญญา และต้องได้รับการฝึกฝนอย่างดี การมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมอย่างต่อเนื่องจะกระตุ้นและพัฒนาศักยภาพของสมอง ให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างยาวนาน และสามารถป้องกันการเกิดสมองเสื่อมก่อนวัยได้

 

 

 โภชนาการที่ดีมีผลต่อสมอง ช่วงเวลาของพัฒนาการทางสมองที่สำคัญที่สุดและเติบโตได้มากที่สุด คือตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 3 ขวบ และเซลล์สมองที่เชื่อมต่อกันได้เร็ว จะส่งผลต่อการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น โภชนาการที่ดีและการกระตุ้นการเรียนรู้จะช่วยพัฒนาการทางสมองของลูกพัฒนาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

 

คุณพ่อคุณแม่คงจะทราบข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นกันไปบ้างแล้ว ถึงระบบการทำงานของสมอง ก็คงพอมองเห็นวิธีการที่จะจัดสิ่งแวดล้อมและกระบวนการต่างๆ ที่จะทำให้สมองของลูกน้อยทำงานในลักษณะเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีศักยภาพได้ต่อไปในอนาคต

(Some images used under license from Shutterstock.com.)