© 2017 Copyright - Haijai.com
คราบน้ำตา จากการสูญเสียชีวิตในมารดาหลังคลอด
บ้านคือวิมาน บ้านคือที่พักเพิงของกาย และใจ บ้านคือที่หลับที่นอน บ้านคือสถานที่ที่จะผูกพันทุกคนไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บ้านคือที่ที่เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่นของทุกคนในครอบครัวที่มีให้กัน บ้านคือที่เติมเต็มให้หัวใจได้หายเหนื่อย ด้วยเสียงปลอบประโลมจากคู่ชีวิต จากพ่อแม่ จากเสียงหัวเราะ จากรอยยิ้มของลูกรักตัวน้อย ใครหลายคนกำลังหลงรักรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะเล็กๆ นี้อยู่คะ แต่ในทางกลับกันก็มีอยู่ไม่น้อย ที่ไม่เคยได้สัมผัสแม้แต่ปลายเล็บของลูก ไม่เคยได้ยินเสียงร้องแรกของลูก ไม่เคย เรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับครอบครัวในสังคมไทย จากการสูญเสียชีวิตหลังคลอดของภรรยาที่เป็นแม่ของลูก
แน่นอนว่าความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อคนข้างหลังอย่างมาก ลูกน้อยที่ออกมาลืมตาดูโลกกลายเป็นเด็กกำพร้าแม่ตั้งแต่กำเนิด สภาพจิตใจของสามีที่เป็นคู่ชีวิตสั่นคลอน ว้าเหว่ ขาดกำลังใจ แต่การสูญเสียใช่เพียง จะส่งผลกระทบต่อครอบครัวเท่านั้น เพราะยังส่งผลต่อระบบสาธารณสุขอีกด้วย
ทางด้านสาธารณสุขถือว่า อัตราการเสียชีวิตของมารดา (maternal mortality ration : MMR) เป็นเครื่องบ่งชี้ด้านสุขภาพอนามัยที่สำคัญของประชาชน และใช้เป็นตัวชี้วัดสำคัญของงานอนามัยแม่และเด็ก ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งเสริมสุขภาพของสตรีและมารดา
ในประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตของมารดา ได้ถูกนำไปใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหลักในแผนงานด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของแผนงานอนามัยแม่และเด็ก และที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนิน “โครงการลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย” เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการในการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการคลอดทั้งมารดาและทารก
อัตราการเสียชีวิตของมารดาในประเทศไทย พบจำนวนแม่ที่เสียชีวิตใน 12 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลรวม 110 ราย โดยมีข้อมูลด้านอายุ การศึกษา และอาชีพ ตามนี้
1.อายุของแม่ที่เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 15-46 ปี ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 28 ปี
2.ด้านการศึกษา ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 20.9) มัธยมศึกษา (ร้อยละ 2.7) ไม่ได้เรียนหนังสือ (ร้อยละ 2.7)
3.ด้านอาชีพ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร (ร้อยละ 30) รับจ้าง (ร้อยละ 18) ว่างงาน (ร้อยละ 15)
และจากการเสียชีวิตของมารดานี้ พบว่าเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลทั่วไป (ร้อยละ 48) โรงพยาบาลชุมชน (ร้อยละ 21) บ้าน (ร้อยละ 11) การเสียชีวิตโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เป็นสถานบริการสาธารณสุขที่มารดาตั้งครรภ์ในพื้นที่เข้าไปใช้บริการด้านการคลอด แต่ทั้งนี้ก็ยังมีอีกกว่าร้อยละ 20 ของมารดาที่เสียชีวิตนั้นเกิดขึ้นภายนอกโรงพยาบาล นี่ก็เท่ากับว่าการเข้าถึงสถานบริการยังคงมีปัญหาอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ส่วนในด้านสาเหตุการเสียชีวิตของมารดานั้น สาเหตุใหญ่เกิดจากการตกเลือด และหากมองย้อนกลับไปดูว่าสาเหตุการเสียชีวิตนี้เป็นการสูญเสียที่ป้องกันได้ ก็เท่ากับว่าการให้บริการสาธารณสุขอาจมีจุดบกพร่องอยู่ก็เป็นได้ นอกจากนี้อีกหนึ่งสาเหตุการเสียชีวิตของมารดามาจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งพบว่าเหตุปัจจัยนี้มีอยู่สูงมากด้วยเช่นกัน
ส่วนการเสียชีวิตที่เกิดจากเหตุปัจจัยทางอ้อม พบว่ามีมารดาที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุการเจ็บป่วยเป็น มาลาเลีย (ร้อยละ 30) เอดส์ (ร้อยละ 25) ปอดบวม (ร้อยละ 20) ติดเชื้อในระบบประสาท (ร้อยละ 10) และสาเหตุอื่นอีกร้อยละ 15
การเสียชีวิตตามช่วงอายุของมารดา
พบว่ามารดาในแต่ละช่วงวัยมีลำดับสาเหตุการเสียชีวิตที่แตกต่างกัน โดยมารดากลุ่มอายุน้อย (อายุ 15-19 ปี) มารดากลุ่มอายุมาก (อายุ 40-49 ปี) มีสาเหตุการตายจากการแท้งไม่ปลอดภัยในสัดส่วนที่สูง ในขณะที่กลุ่มอายุ 20-29 ปี และกลุ่มอายุ 30-39 ปี มีสาเหตุการเสียชีวิตจาการตกเลือดในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง
สาเหตุที่นำไปสู่เงื่อนไขการเกิดอาการเจ็บป่วยที่ส่งผลให้มารดาเสียชีวิตนั้นมีทั้งสาเหตุที่เกิดขึ้นจากความสุดวิสัย และที่สามารถป้องกันได้ เงื่อนไขที่นำไปสู่การเสียชีวิตของมารดาที่พบมากที่สุด คือ เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งที่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม (ร้อยละ 40) การรักษาที่ไม่เหมาะสม (ร้อยละ 30) การเข้าถึงโรงพยาบาลลำบาก (ร้อยละ 14)
จากอัตราการเสียชีวิตของมารดา ก็ได้มีข้อเสนอต่อการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้นั้นให้ตรงจุด เพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตของมารดา
• ควรปรับปรุงระบบการดูแลระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด และการดูแลหลังคลอด รวมทั้งการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ
• ควรจัดระบบบริการด้านโลหิตให้คลอบคลุมทั่วถึง และพัฒนาศักยภาพในการดูแลภาวะวิกฤตของการคลอด
• ควรจัดระบบบริการเชิงรุก และการเฝ้าระวังการตกเลือด รวมทั้งการติดเชื้อในมารดาหลังคลอด
การสูญเสียนำมาซึ่งคราบน้ำตา ความบอบช้ำทางใจ ความไม่มั่นคง หว้เหว่ ขาดที่พึ่งทางใจและกาย ของคนที่ต้องดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปอย่างสามี และลูก คงเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะฝ่าฟันความยากลำบากนี้ไปได้ง่ายๆ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับเวลาและกำลังใจเท่านั้นที่จะช่วยเชียวยาให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้นในเร็ววัน และขอให้การสูญเสียนี้อย่างได้เกิดขึ้นอีกเลยไม่ว่าจะกับครอบครัวใครก็ตาม เพราะการได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของพ่อแม่ลูก เป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวปรารถนามากที่สุดในการดำรงอยู่สูงสุดของชีวิต
(Some images used under license from Shutterstock.com.)