© 2017 Copyright - Haijai.com
เทวดา พรหม
การได้ขึ้นสวรรค์หรือเป็นพรหมนั้นก็คือ การเสวยสุขนั่นเอง แม้ว่าจะดีมากๆ และเป็นชีวิตที่เสวยสุขอย่างเดียว แต่เทวดาหรือพรหมก็ยังไม่ใช้เป้าหมายสูงสุด เพราะเมื่อเสวยสุขหมดแล้ว ก็ยังมีโอกาสไปเกิดในนรก เกิดเป็นมนุษย์ได้ตามแต่กรรมที่ทำไว้
เทวดาจะแบ่งเป็น 6 ชั้น ดังนี้ (พระไตรปิฎก เล่มที่ 35 พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ข้อ 1,106)
ชั้นที่ |
ชื่อ |
1 วันทิพย์ |
อายุทิพย์ |
อายุขัยเฉลี่ย |
1 |
จาตุมหาราช |
50 ปีของมนุษย์ |
500 ปีทิพย์ |
9 ล้านปี |
2 |
ดาวดึงส์ |
100 ปีของมนุษย์ |
1,000 ปีทิพย์ |
36 ล้านปี |
3 |
ยามา |
200 ปีของมนุษย์ |
2,000 ปีทิพย์ |
144 ล้านปี |
4 |
ดุสิต |
400 ปีของมนุษย์ |
4,000 ปีทิพย์ |
576 ล้านปี |
5 |
นิมมานรดี |
800 ปีของมนุษย์ |
8,000 ปีทิพย์ |
2,304 ล้านปี |
6 |
ปรนิมมิตวสวัตตี |
1,600 ปีของมนุษย์ |
16,000 ปีทิพย์ |
9,216 ล้านปี |
อธิบายตารางนี้ว่า หากคุณเป็นเทวดาที่อยู่ชั้นจ่าตุมหาราช อายุทิพย์เฉลี่ยของเทวดาชั้นนี้ก็คือ 500 ปีทิพย์ โดยที่เวลา 1 วันของเทวดาชั้นนี้จะเท่ากับเวลา 50 ปีของมนุษย์ (1 เดือนทิพย์ จะเท่ากับ 30 วันทิพย์ ส่วน 1 ปีทิพย์จะเท่ากับ 12 เดือนทิพย์ ฉะนั้น 1 ปีทิพย์จะเท่ากับ 360 วันทิพย์) ฉะนั้น อายุขัยเฉลี่ยเทวดาชั้นนี้ที่ 500 ปีทิพย์ หากเทียบกับเวลามนุษย์แล้วจะเท่ากับ 9 ล้านปี
อายุขัยเฉลี่ยของเทวดาก็เหมือนมนุษย์ เช่น มนุษย์อายุขัยเฉลี่ยประมาณ 75 ปี บางคนอาจจะตายก่อน 75 แต่บางคนก็จะอยู่ได้นานกว่า 75 ปี ฉะนั้นหากอายุขัยเฉลี่ยของเทวดาชั้นจาตุมหาราชคือ 500 ปีทิพย์ ก็หมายความว่า บางองค์อาจจะอยู่ไม่ถึง 500 ปีทิพย์ บางองค์อาจจะอยู่นานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าทำบุญมามากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นอย่าเข้าใจผิดว่า เทวดาเป็นชีวิตที่ถาวรหรืออมตะ เพราะเมื่อหมดบุญก็ต้องตกสวรรค์
การเป็นเทวดานั้นถือเป็นการเสวยสุขอย่างแท้จริง เพราะเทวดานั้นจะมีสิ่งที่เป็นทิพย์อยู่ 10 อย่าง คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิบไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และโผฏฐัพพทิพย์ โดยเทพธิดาจะเหมือนอายุ 16 ปีตลอด (ไม่แก่ไม่เหี่ยว) ส่วนเทพบุตรจะเหมือนอายุ 20 ปีตลอด (ไม่แก่ไม่เหี่ยว) ทุกคนจะมีผิวพรรณที่เปล่งปลั่งสวยงาม ใส่เสื้อผ้าที่สวยงาม ประดับด้วยเพชรนิลจินดามากมาย หน้าตาจะเหมือนในวรรณคดี คือ เทพธิดาจะสวยมาก ส่วนเทพบุตรก็จะหล่อมาก เทวดาจะไม่รู้สึกร้อนหนาว ไม่มีเหงื่อ ร่างกายมีกลิ่นหอม ผิวพรรณผ่องใส อิ่มทิพย์ ไม่ต้องขับถ่าย ไม่เจ็บป่วย ไม่มีความเจ็บปวด ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องหาอาหาร มีคู่ครอง (มีการเสพกามด้วย) มีบริวารคอยรับใช้เรา โดยปริมาณของคู่ครองและบริวารจะมากตามปริมาณบุญที่เราได้ทำมา จนอาจจะมากเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน หรือเป็นล้านคนได้ (แค่มีคู่ครองสักพันคน บริวารสักพันคน ก็สุขจนไม่รู้จะสุขอย่างไรแล้ว จริงไหมครับ) หากทำบุญมามากก็จะมีวิมานเป็นของตนเอง โดยวิมานจะมีความสวยงามมากกว่าคฤหาสน์ในโลกมนุษย์มากมาย
จะเห็นว่าจากข้อมูลเกี่ยวกับสวรรค์ที่ได้กล่าวมา ทำให้เราได้รู้ว่าชีวิตบนสวรรค์นั้นมันก็สวรรค์ดีๆ นี่เอง (อ้าว ก็ถูกแล้วนี่) เมื่อเทียบสวรรค์กับนรกก็ต่างกันอย่างสุดขั้ว เมื่อเทียบสวรรค์กับโลกมนุษย์แล้ว ก็จะเห็นว่าความสุขที่เราได้บนโลกนั้นเทียบไม่ได้กับความสุขตอนที่ไปเสวยบนสวรรค์ เพราะทั้งสบายกว่าและยาวนานกว่า
เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า (อุโปสถสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก – ทุก – ติกนิบาตร ข้อ 510) “ราชสมบัติของมนุษย์ เมื่อจะนำไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย”
ฉะนั้น หากเรายอมสละความสุขเล็กน้อยบนโลก ด้วยการงดทำบาปที่จะทำให้เกิดความสุขชั่วคราวบนโลก เช่น การลักขโมย (โกง) การโกหก การประพฤติผิดในกาม แล้วหันมาทำบุญให้มากขึ้น เราก็จะได้รับความสุขที่มากกว่า และยาวนานกว่าที่สวรรค์เป็นเวลาหลายล้านปี แบบนี้ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสุดๆ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)