© 2017 Copyright - Haijai.com
มะเร็งเต้านม ใครเสี่ยง
ในบรรดามะเร็งทั้งหลาย มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 ในแต่ละปีมีผู้หญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมประมาณ 34,000 คน เสียชีวิตกว่า 2,500 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การรู้เรื่องความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมจะช่วยให้สามารถป้องกันโรคนี้ได้ ความเสี่ยงอันดับต้นคืออายุ ยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้น การมีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านมก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง การเคยผ่าตัดมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งทำให้นมข้างที่เหลือมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ แต่ถ้าคนนั้นได้รับยาป้องกันมะเร็งเต้านม ก็สามารถลดความเสี่ยงลงได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีพันธุกรรม BRCA1 และ BRCA2 มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมกว่า 80% แต่ไม่ถึง 100% ผู้ที่เคยกินฮอร์โมนเพศหญิงเพื่อรักษาโรคหรือเพื่อคุมกำเนิด หรือเพื่อทดแทนฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือน จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ไม่ได้กินฮอร์โมน ปัจจุบันมีแบบแผนรวมความเสี่ยงของผู้ป่วยแล้วให้คะแนน เพื่อนำไปเป็นแนวทางการรักษาหรือป้องกันโรค ในประเทศไทยเริ่มมีการทดลองนำเอาการตรวจสารพันธุกรรมมะเร็งเต้านมมาใช้ ต่อไปถ้าผลออกมาว่าคุ้มค่าควรทำ กระทรวงสาธารณสุข อาจจะจัดงบประมาณมาให้ทำการตรวจหาความเสี่ยงนี้ก็ได้
ความเสี่ยงต่อโรคร้ายเป็นสิ่งที่เราควรรู้ไว้เพื่อความเข้าใจ ความรู้ความเข้าใจทำให้เรามีความมั่นใจในการป้องกัน หลีกเลี่ยง หรือยอมรับโรคนั้นๆ มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่คร่าชีวิตหญิงไทยเป็นอันดับ 1 ในบรรดามะเร็งทั้งหลาย สถิติ พ.ศ.2554 พบว่าผู้หญิงไทย 34,539 คนเป็นมะเร็งเต้านม และเสียชีวิต 2,724 ราย เฉลี่ยตายวันละ 7 ราย และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นปีละ 5% ความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมจึงมีความสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้
ความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม
• เพศ เป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับโรคนี้ ทั้งเพศชายและเพศหญิงสามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้ โดยผู้ชายมีอัตราการป่วยอยู่ที่ประมาณ 0.8% ของจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นผู้หญิง ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะเต้านมผู้ชายมีขนาดเล็กกว่ามาก จึงมีจุดเกิดมะเร็งน้อยกว่า แต่ก็ไม่ควรประมาณ
• อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งพบโรคนี้มากขึ้น แทบไม่พบมะเร็งเต้านมในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี อายุ 30-39 ปี พบ 1 ใน 233 ของจำนวนประชากร อายุ 40-49 ปี พบ 1 ใน 69 ของจำนวนประชากร อายุ 50-59 ปี พบ 1 ใน 42 ของจำนวนประชากร อายุ 60-69 ปี พบ 1 ใน 29 ของจำนวนประชากร และอายุ 80 ปีขึ้นไป พบ 1 ใน 8 ของจำนวนประชากร โดยเฉลี่ยผู้หญิงมีความเสี่ยงราว 12.2% ตลอดช่วงชีวิต
• มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านม ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง เมื่อรักษาหายแล้วยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งในเต้านมข้างที่เหลืออยู่มากกว่าคนปกติ ที่ไม่มีประวัติ นอกจากนี้ความเสี่ยงยังขึ้นอยู่กับการรักษาหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านมว่าเป็นอย่างไร เช่น ถ้าได้รับการบำบัดด้วยฮอร์โมน (ในรายที่เซลล์มะเร็งมี estrogen receptor เป็นบวก) ก็จะมีความเสี่ยงน้อยลง โดยเฉลี่ยมีความเสี่ยงประมาณ 0.5-1% ต่อปี ยิ่งอายุน้อยยิ่งมีเวลาเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น
• ชนิดของเนื้อเยื่อในเต้านมที่ตรวจพบ เนื้อเยื่อบางอย่างในตัวมันเองไม่ใช่มะเร็ง แต่เป็นตัวบ่งบอกว่าเต้านมนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งได้ เนื้อเยื่อนั้นคือ lobular carcinoma insitu หรือ LCIS การรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเนื้อเยื่อแบบนี้ทำได้ 3 แบบ คือ เฝ้าดูอาการ ให้ยาป้องกัน และผ่าตัดเอาเต้านมออก จะเลือกรักษาวิธีไหน ผู้ป่วยต้องมีส่วนช่วยตัดสินใจ ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้องอกในเต้านมไปตรวจแล้ว ไม่พบมะเร็ง แต่พบว่ามีเซลล์ต่อมน้ำนมหรือเซลล์ท่อน้ำนมแบ่งตัวเพิ่มพูดขึ้นมากกว่าปกติ ก็มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
• การฉายรังสี เช่น เอกซเรย์เต้านม (mammogram) ที่เกินความจำเป็นมากไปก็มีผลให้เกิดมะเร็งได้ เนื่องจากรังสีเป็นตัวก่อมะเร็ง ในสมัยที่การทำเอกซเรย์เต้านมถูกนำมาใช้ใหม่ๆ มีกระแสสังคมต้องการทำกันมากเกินจำเป็น คือ ทำแบบไม่เลือกอายุอานาม ทำในคนอายุต่ำกว่า 40 ปี แทนที่จะทำในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป และทำบ่อยเกินไป เช่น แทนที่จะทำทุกๆ 1-2 ปี กลายเป็นทำทุก 6 เดือน การฉายแสงแบบนี้มากๆ ทำให้อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากระยะหลังที่การทำเอกซเรย์เต้านมลดลง เพราะความรู้มากขึ้น ทำให้อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมลดลงด้วย การทำเอกซเรย์เต้านมจึงควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ไม่ใช่ทำตามอารมณ์ของผู้ป่วย
• ประวัติในครอบครัว คนที่มีแม่ ลูก หรือพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านม มีโอกาสเป็นโรคมากกว่าคนที่ไม่มีประวัติครอบครัวอย่างนี้ 2-3 เท่า แต่ความเสี่ยงไม่เพิ่มถ้าผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมเป็นญาติห่างๆ เช่น ลูกพี่ลูกน้อง ป้า น้า อา หรือคุณย่าคุณยาย ถ้าญาติใกล้ชิดเป็นกันหลายคน และเป็นตอนอายุน้อยๆ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
• ปัจจัยทางพันธุกรรม ในที่นี้หมายถึงต้องมีการตรวจสารพันธุกรรมพบยีนมะเร็งเต้านม (บางคนมียีนแต่ไม่เป็นมะเร็งก็มี) ปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านมประมาณ 5-10% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด แต่อาจเพิ่มเป็น 25% ของมะเร็งเต้านมในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 30 ปี ยีน BRCA1 และ BRCA2 เป็นยีนมะเร็งเต้านมที่มีผลให้เกิดมะเร็งในครอบครัว และยังมีผลให้เกิดมะเร็งรังไข่ด้วย ส่วนยีน BRCA2 มีผลให้เกิดมะเร็งในผู้ชายด้วย ดังนั้นในผู้หญิงที่มีพ่อเป็นมะเร็งเต้านมก็มีความเสี่ยงจากปัจจัยทางพันธุกรรมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการตรวจพบยีนมะเร็งเต้านมไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้น จะเป็นมะเร็งเต้านม 100% แต่เป็นแค่ 56-87% เท่านั้น
ในประเทศพัฒนามีการตรวจหายีนมะเร็งเต้านม BRCA1 และ BRCA2 มาหลายปีแล้ว การตรวจยีน 2 ตัวนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้ความเสี่ยงของตัวเอง แล้วทำการป้องกันโรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งรังไข่ แต่การตรวจในเมืองไทยยังแพงอยู่ กรมวิทยาศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้มีโครงการทดลองนำร่อง ศึกษาผลการตรวจในคนไทยว่ามีอุบัติการณ์ของโรคเท่าไร เพื่อเป็นแนวทางในการวางนโยบายการตรวจป้องกันโรคในระดับมวลชนว่า จะคุ้มค่าหรือไม่ ขณะที่เขียนบทความนี้เขามีโครงการหาอาสาสมัคร 200 ครอบครัว เพื่อศึกษาในโครงการนี้
• ประวัติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ ผู้หญิงที่มีประวัติต่อไปนี้ มีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่ไม่มี ได้แก่ มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 12 ปี หมดประจำเดือนเมื่ออายุมากกว่า 55 ปี ไม่เคยมีลูก มีลูกคนแรกหลังอายุ 18 ปี ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง สถิติเหล่านี้มีพลังงานน้อยต่อความเสี่ยงของปัจเจกบุคคล แต่มีผลต่อประชากรมากกว่า
• การใช้ฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน ร่วมกับโปรเจสเตอโรน) ทำให้มีอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น การใช้ฮอร์โมนนี้มี 3 แบบใหญ่ๆ คือ การใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดในหญิงก่อนวัยหมดประจำเดือน การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน และการใช้ฮอร์โมนเพศหญิงเพื่อรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนหรือในโรคอื่น เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ รังไข่มีถุงน้ำมาก
ในแวดวงการรักษามะเร็งเต้านมมีแบบแผนการประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่รวบรวมไว้ด้วยกัน คือ อายุ เชื้อชาติ อายุตอนเริ่มมีประจำเดือน อายุตอนมีลูกคนแรก จำนวนครั้งที่มีการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อเต้านมไปตรวจ และการตรวจพบเซลล์ผิดปกติ การมีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านม แล้วให้คะแนนรวมความเสี่ยง เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการป้องกันการเกิดโรค เช่น มีการทดลองให้ยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง Tamoxifen และ Raloxifen เป็นต้น
ปัจจุบันวงการแพทย์มีความรู้เรื่องมะเร็งเต้านมมากขึ้น ไม่ใช่การรักษาจะดีขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่การป้องกันก็มีบทบาทเข้ามาร่วมช่วยด้วย
นพ.นริศ เจนวิริยะ
ศัลยแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)