Haijai.com


แผ่นปิดแผล


 
เปิดอ่าน 24974

แผ่นปิดแผล

 

 

บาดแผล คือ ภาวะที่ชั้นผิวหนังเกิดรอยแยกออกจากกัน การเกิดบาดแผลไม่จำเป็นต้องมีเลือดออกด้วยเสมอไป อาจมีเพียงผิวหนังถลอกก็ได้ เมื่อเกิดบาดแผลและจำเป็นต้องใช้แผ่นปิดแผล เราจะเลือกใช้อย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับบาดแผลที่เกิดขึ้น

 

 

ประเภทของบาดแผล

 

บาดแผล แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

 

 บาดแผลสะอาด หมายถึง บาดแผลที่เกิดขึ้นแต่ไม่มีการติดเชื้อโรค ลักษณะเนื้อเยื่อบริเวณแผลจะมีสีชมพูอมแดง ไม่พบลักษณะของการอักเสบบวมแดง

 

 

 บาดแผลติดเชื้อ หมายถึง บาดแผลที่มีการติดเชื้อโรคร่วมด้วย ลักษณะแผลจะแสดงถึงการอักเสบ ได้แก่ อาการปวด บวม แดง ร้อน ภายหลังจะพบหนองบริเวณบาดแผล

 

 

สิ่งแรกที่ควรทำหลังจากเกิดบาดแผล คือ การล้างบริเวณแผลให้สะอาด ในปัจจุบันน้ำยาล้างแผลที่แนะนำให้ใช้เป็นลำดับแรก คือ น้ำเกลือล้างแผล หรือน้ำเกลือนอร์มอลซาไลน์ (0.9% normal saline) สาเหตุที่น้ำเกลือได้รับการเลือกใช้เป็นอันดับแรก เนื่องจากน้ำเกลือจะไปชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากบาดแผล โดยไม่ทำให้เนื้อเยื่อที่บาดแผลถูกทำลาย ในขณะที่น้ำยาล้างแผลชนิดอื่นๆ ที่นิยมกันใช้กัน เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรือ 70% แอลกอฮอล์ แนะนำให้ใช้ในกรณีที่บาดแผลมีการติดเชื้อเท่านั้น เนื่องจากน้ำยาล้างแผลเหล่านี้จะไปทำลายเนื้อเยื่อที่ฉีกขาดเป็นแผลนั้นได้

 

 

หลังจากล้างแผลจนสะอาด และพื้นแผลเป็นสีชมพูอมแดง ไม่มีการติดเชื้อ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ยาฆ่าเชื้อ จากนั้นหากต้องการปิดแผลควรปิดแผลด้วยแผ่นปิดแผล ที่ไม่มียาฆ่าเชื้อ ในทางกลับกัน หากเป็นบาดแผลที่มีการอักเสบและติดเชื้อ ควรพิจารณาเลือกใช้ยาใส่แผลที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ หรือใช้แผ่นปิดแผลที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย ทั้งนี้หากไม่แน่ใจว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นนั้นมีการติดเชื้อร่วมด้วยหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ช่วยประเมินลักษณะของบาดแผลเบื้องต้น

 

 

คุณสมบัติของแผ่นปิดบาดแผลที่ดี

 

ลักษณะของแผ่นปิดบาดแผลที่ดีควรป้องกันบาดแผลจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม สามารถดูดซึมน้ำเหลืองที่ออกมาจากบาดแผลได้ดี ป้องกันการเสียความร้อนและความชื้นจากบาดแผล เพื่อทำให้เกิดการสมานแผล และแผ่นปิดบาดแผลที่ดีไม่ควรเหนียวติดบาดแผลง่าย ตัวอย่างแผ่นปิดแผลชนิดต่างๆ เช่น

 

 ผ้าก็อซปิดแผลแบบธรรมดา

 

คุณสมบัติของผ้าก็อซจะทำหน้าที่ดูดซับน้ำเหลืองจากบาดแผล ถ้าหากบาดแผลนั้นมีน้ำเหลืองไหลออกมามาก อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าก็อซบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อด้อยของการใช้ผ้าก็อซในการปิดแผล นอกจากนั้นผ้าก็อซอาจจะติดแน่นกับแผล ส่งผลให้เจ็บเวลาดึงผ้าก็อซออกและยากแก่การทำแผลในครั้งถัดไป

 

 

 Medicate paraffin gauze

 

เป็นผ้าก็อซสังเคราะห์ที่มีการเพิ่มการเคลือบพาราฟิน โดยสามารถดูดซับของเหลวได้ดี จุดเด่นที่สำคัญ คือ ผ้าก็อซชนิดนี้ไม่ติดกับแผล ทำให้ลดปัญหาเมื่อต้องเปลี่ยนแผ่นปิดแผล บางชนิดอาจมีการผสมตัวยา antiseptics ลงไปด้วย เพื่อช่วยในเรื่องของการฆ่าเชื้อโรค และป้องกันการติดเชื้อ ข้อด้อยของแผ่นปิดแผลประเภทนี้คือไม่เหมาะสมในกรณีที่บาดแผลเปิดเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากรูตาข่ายของแผ่นปิดแผลค่อนข้างใหญ่

 

 

 พลาสเตอร์ฟิล์มใส

 

ลักษณะเป็นแผ่นบางใส ยืดหยุ่น สามารถติดกับผิวหนังได้ ทำให้แผลมีความชุ่มชื้น และสามารถป้องกันน้ำได้ ข้อเสียคือแผ่นปิดแผลชนิดนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถระบายน้ำเหลืองได้ จึงไม่เหมาะกับบาดแผลที่มีน้ำเหลืองไหลออกมาปริมาณมาก แต่เหมาะที่จะใช้ในการบาดแผลที่ไม่มีการติดเชื้อ เช่น บาดแผลที่เกิดจากของมีคม แผลถลอก หรือแผลเย็บ โดยวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อป้องกันน้ำและเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่บาดแผล

 

 

 พลาสเตอร์ไฮโดรคอลลอยด์

 

ประกอบด้วย hydrocolloid matrix มีข้อดีคือเป็นแผ่นปิดแผลที่ช่วยดูดน้ำเหลืองเข้าไปในแผ่นและกลายเป็นเจล เพื่อปกป้องบาดแผลจากเชื้อโรค สามารถปิดบาดแผลได้ประมาณ 3-5 วัน การเลือกใช้เหมาะสำหรับบาดแผลบริเวณที่เป็นพื้นราบ เช่น หน้าอก ท้อง แขน ขา โดยบาดแผลนั้นควรมีน้ำเหลืองไหลออกมาในปริมาณไม่มาก ข้อห้ามที่สำคัญสำหรับแผ่นปิดแผลประเภทนี้ คือ ห้ามใช้ในบาดแผลที่มีการติดเชื้อ

 

 

นอกจากนี้บางชนิดยังมีการเพิ่มอนุภาคของวาสลิน และมีลักษณะเป็นตาข่ายโปร่ง ส่งผลให้ไม่ติดแผล จึงไม่ทำให้เจ็บเวลาลอกออก และยังมีรูปแบบที่เติมซิลเวอร์ซัลฟาไดอาซีน ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียลงไปด้วย ทั้งนี้ห้ามใช้แผ่นปิดแผลที่มีส่วนประกอบของซิลเวอร์ซัลฟาไดอาซีน หากมีประวัติแพ้ยาในกลุ่มซัลฟา

 

 

ในขณะที่บางผลิตภัณฑ์ก็มีการพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถใช้ในบาดแผลที่มีน้ำเหลืองไหลออกมาในปริมาณปานกลางถึงมากได้ ผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้จะประกอบด้วยวัสดุ 2 ชั้น ชั้นบนเป็น polyurethane film และชั้นล่างเป็น polyurethane matrix โดยจะดูดซับของเหลวและเนื้อเยื่อที่ตายแล้วจากบาดแผล

 

 

 แผ่นปิดแผลที่มีส่วนประกอบของอัลจิเนต

 

จุดเด่นของแผ่นปิดแผลประเภทนี้ คือ สามารถดูดซับน้ำเหลืองได้ดีกว่าแผ่นไฮโดรคอลลอยด์ เหมาะกับบาดแผลที่มีน้ำเหลืองปานกลางถึงมาก แผ่นปิดแผลชนิดนี้ดึงออกจากบาดแผลได้ง่าย ทั้งนี้เนื่องจากวัสดุปิดแผลทำจากอนุพันธ์ของสาหร่ายทะเล เมื่อดูดซับน้ำเหลืองจะเปลี่ยนแปลงสภาพกลายเป็นเจล

 

 

 แผ่นปิดแผลชนิดโฟม หรือไฮโดรเซลลูล่าร์

 

มีคุณสมบัติเด่นในการดูดซับน้ำเหลืองได้สูง ป้องกันน้ำและเชื้อแบคทีเรียได้ดี สามารถแกะออกได้ง่าย ไม่ติดแผล มักใช้ในผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ แผ่นปิดแผลชนิดนี้ยังสามารถดูดซับน้ำเหลืองได้ บางชนิดอาจมีการผสมซิลเวอร์ไว้ด้วย เพื่อช่วยกำจัดและป้องกันการติดเชื้อ

 

 

 เจลสำหรับแผลเรื้อรัง

 

ลักษณะเป็นเจลใส ประกอบด้วยน้ำและโพลีเมอร์ต่างๆ มีคุณสมบัติช่วยให้แผลอยู่ในสภาวะชุ่มชื้น มีฤทธิ์ในการดูดซับน้ำเหลืองได้ดี สามารถใช้ได้กับทั้งบาดแผลไม่ว่าจะตื้นหรือลึก แต่ทั้งนี้การใส่ลงไปในบาดแผลควรที่จะใช้ผ้าก็อซแห้งหรือแผ่นฟิล์มปิดทับด้านบนเจลอีกที

 

 

ความสำคัญในการดูแลบาดแผลนอกเหนือจากการดูแลเรื่องความสะอาดแล้ว การเลือกใช้แผ่นปิดแผลที่เหมาะสมกับบาดแผลแต่ละชนิด ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การเลือกแผ่นปิดแผลได้ถูกต้องเหมาะสมจะส่งผลให้การทำแผลเป็นไปด้วยความสะดวก ไม่เจ็บตัว ทั้งยังช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น และไม่เกิดการติดเชื้ออีกด้วย

 

 

ภก.ทศพล เลิศวัฒนชัย

(Some images used under license from Shutterstock.com.)