Haijai.com


วัสดุอุดฟัน


 
เปิดอ่าน 4631

วัสดุอุดฟัน

 

 

หนึ่งในคำถามเรื่องการรักษาด้วยการอุดฟันที่ทันตแพทย์มักถูกถามอยู่บ่อยๆ ก็คือ “ควรอุดฟันด้วยวัสดุแบบไหนดีระหว่างสีเงินกับสีเหมือนฟัน” ดังนั้นหมอจุ้มจิ้มจะมาอธิบายให้ทุกคนเข้าใจและรู้จักวัสดุอุดฟันกันค่ะ จากนั้นค่อยมาดูกันว่าวัสดุแบบไหนที่เราจะเลือกให้มาอยู่เคียงคู่กับฟันของเรา

 

 

ปัจจุบันวัสดุอุดฟันได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก จึงมีวัสดุที่หลากหลาย ซึ่งมีคุณสมบัติในด้านต่างๆ ดีมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของวัสดุ ถ้าจะแบ่งโดยคร่าวๆ แล้ว สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ วัสดุอุดฟันโดยตรง และ วัสดุอุดฟันโดยอ้อม

 

 

วัสดุอุดฟันโดยตรง

 

เป็นวัสดุที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้อุดโพรงหรือรูบนตัวฟัน วัสดุกลุ่มนี้แบ่งเป็น วัสดุสีเงินหรืออมัลกัมและวัสดุเหมือนฟัน

 

 วัสดุอุดฟันสีเงินหรืออมัลกัม ใช้มานานกว่า 100 ปีแล้ว ปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้มีคุณสมบัติดีขึ้นกว่าเดิมมาก ประกอบด้วยส่วนที่เป็นโลหะหลายชนิด คือ เงิน ดีบุก และทองแดง รวมกันอยู่ในรูปของโลหะผสมหรืออัลลอย เวลาใช้ก็ผสมกับปรอทบริสุทธิ์ 99.99% ทำให้ได้วัสดุมีลักษณะนุ่ม นำไปใส่ในโพรงฟันที่กรอแต่งไว้ได้ มีความแข็งแรง ทนทาน ทนต่อแรงบดเคี้ยว ไม่แข็งหรืออ่อนจนเกินไป มีราคาถูก เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายและต่อเนื่องยาวนาน มีความล้มเหลวหลังจากการอุดฟันต่ำ จุดด้อยของวัสดุชนิดนี้คือ ไม่สามารถยึดกับฟันได้โดยตรง ต้องอาศัยการกรอแต่งเนื้อฟันมาก เพื่อให้ได้รูปทรงของโพรงฟันที่ดีพอที่จะให้วัสดุยึดอยู่ได้ บางคนจึงมักกล่าวว่าเป็นการกรอแต่งฟันส่วนที่ดีให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งด้วยตัววัสดุที่มีสีเงินทำให้มีข้อจำกัดในการใช้เป็นวัสดุอุดฟันในบริเวณที่ต้องการความสวยงาม เช่น ฟันหน้า

 

 

 วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน เป็นวัสดุที่ถูกพัฒนาขึ้นให้มีสีเหมือนฟัน มีความสวยงาม สามารถใช้ได้ทั้งฟันหน้าและฟันหลัง จึงเป็นที่นิยมมากในผู้ป่วยที่ต้องการความสวยงามเป็นพิเศษ ไม่จำเป็นต้องกรอแต่งเนื้อฟันมากนัก จุดด้อยของวัสดุกลุ่มนี้คือ มีความอ่อนกว่าฟัน ไม่แข็งแรง สึกเร็ว จึงไม่นิยมใช้ในการอุดโพรงฟันที่มีขนาดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงของสีได้เมื่อมีอายุการใช้งานมากขึ้น ขั้นตอนการใช้งานค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องอาศัยความชำนาญของทันตแพทย์

 

 

มักพบความล้มเหลวภายหลังการอุดฟัน เช่น ภาวการณ์เสียวฟัน การเปลี่ยนสี การรั่วซึมบริเวณขอบของวัสดุ และเกิดรอยโรคผุซ้ำ อีกทั้งวัสดุกลุ่มนี้ยังมีราคาสูง เมื่อเทียบกับวัสดุชนิดอื่น ตัวอย่างวัสดุกลุ่มนี้ เช่น คอมโพสิต เรซิน (composite resin) นิยมใช้กันมากเพราะมีสีสวยงามเหมือนฟันธรรมชาติ มีความแข็งพอสมควร บางชนิดใช้อุดฟันหลังที่รับแรงบดเคี้ยวไม่มากนัก วัสดุประเภทนี้ไม่สามารถยึดเกาะโดยตรงกับเคลือบฟันและเนื้อฟัน ต้องใช้กรดกัดผิวเคลือบฟันให้เป็นรูพรุนเล็กๆ แล้วใช้น้ำยาทาลงไปทำหน้าที่เสมือนเป็นกาวยึดให้คอมโพสิตเรซินติดกับฟัน

 

 

วัสดุอุดฟันโดยอ้อม

 

เป็นวัสดุที่ถูกเตรียมหรือขึ้นรูปสำเร็จจากภายนอก ก่อนนำไปอุดบนตัวฟันหรือตำแหน่งฟันเดิมที่ทันตแพทย์เตรียมไว้ล่วงหน้า ได้แก่

 

 ทองคำ เป็นโลหะที่มีประวัติการใช้งานมายาวนาน เพราะมีความทนทานสูง ทนการสึกกร่อนได้ดี และไม่ทำให้ฟันคู่สบสึกด้วย แต่เนื่องจากโลหะมีสมบัตินำความร้อนและความเย็น จึงอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ปัจจุบันการใช้ทองคำเป็นวัสดุอุดฟันลดปริมาณลงมาก เพราะวัสดุชนิดอื่นให้ความสวยงามคล้ายฟันจริงมากกว่า นอกจากนี้ทองคำยังมีราคาแพงแม้จะมีอายุการใช้งานยาวนานก็ตาม

 

 

 พอร์ซเลน เป็นวัสดุเซรามิก มีความแข็งและเปราะมาก จึงทำให้ฟันคู่สบสึกหรอได้ง่าย ทันตแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้พอร์ซเลนอุดฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟันบดเคี้ยวอย่างฟันกราม

 

 

นอกจากนี้ยังมีการใช้วัสดุอุดฟันที่ทำจากวัสดุอื่นอีกหลายชนิด เช่น แพลทินัม โลหะผสมของดีบุกกับเหล็ก เป็นต้น

 

 

หลักในการเลือกวัสดุอุดฟัน

 

โดยทั่วไปการเลือกวัสดุอุดฟันจะเป็นหน้าที่ของทันตแพทย์ในการพิจารณาวัสดุที่เหมาะสม แต่ผู้ป่วยก็สามารถมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความต้องการกับทันตแพทย์ได้เสมอ

 

 การอุดฟันหน้า จำเป็นต้องใช้วัสดุสีเหมือนฟัน เพื่อให้เกิดความสวยงาม ทันตแพทย์จะเป็นผู้คัดเลือกสีที่เหมาะสมโดยใช้หลักความรู้ทางทฤษฎีและเทคนิคในทางปฏิบัติ เมื่อเลือกได้แล้วทันตแพทย์จะนำเฉดสีที่ถูกคัดเลือกมาเทียบกับฟันของผู้ป่วยภายใต้แสงปกติ ให้ผู้ป่วยช่วยพิจารณา ผู้ป่วยสามารถซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทันตแพทย์ได้ เพื่อให้ได้สีฟันที่เหมาะสมและพึงพอใจ

 

 

 การอุดฟันหลัง บ่อยครั้งที่ทันตแพทย์และผู้ป่วยมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในการเลือกวัสดุอุดฟันหลัง เนื่องจากผู้ป่วยต้องการความสวยงาม จึงต้องการเลือกใช้วัสดุสีเหมือนฟันในฟันหลังจนลืมพิจารณาคุณสมบัติด้านอื่นๆ ไป เช่น ความแข็งแรง ความสึก ความคุ้มค่า และความยุ่งยาก เป็นต้น ซึ่งการเลือกวัสดุอุดฟันหลังจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยดังกล่าวร่วมด้วย เช่น กรณีโพรงฟันมีขนาดใหญ่และเป็นบริเวณที่ต้องรับแรงจากการบดเคี้ยว ควรพิจารณาอุดฟันด้วยอมัลกัมมากกว่าวัสดุสีเหมือนฟัน เนื่องจากอมัลกัมมีความแข็งแรงมากกว่า ทนต่อการสึกและการแตกได้มากกว่า บริเวณฟันหลังด้านในที่มองเห็นได้ยาก การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันนับว่ามีราคาแพงเกินความจำเป็น และยังเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อน อาจส่งผลต่อความล้มเหลวสูงขึ้นด้วย

 

 

แต่หากในช่องปากมีโพรงฟันขนาดเล็ก เป็นบริเวณไม่รับแรงบดเคี้ยว มองเห็นได้ง่ายจากการยิ้ม กรณีแบบนี้การพิจาณาอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันจะมีความเหมาะสมมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องกรอแต่งฟันมาก ไม่สูญเสียเคลือบฟันและเนื้อฟันส่วนที่ดีไปโดยเปล่าประโยชน์

 

 

นอกจากทันตแพทย์จะมีบทบาทโดยตรงต่อการเลือกวัสดุให้แก่ผู้ป่วยแล้ว ผู้ป่วยเองก็มีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้เช่นเดียวกัน การพิจารณาเพียงความสวยงามอาจไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอ โดยเฉพาะฟันหลังควรพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

-คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

-ทันตแพทยสภา

-เอกสารประกอบการสอน ทันตชีววัสดุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

-www.info.dent.nu.ac.th โดย ทพ.พงษ์สิริ ใจคำปัน

 

 

ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร

ทันตแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)