© 2017 Copyright - Haijai.com
เลิกสูบ เพิ่มสุข
ทำไมบุหรี่จึงเป็นสารเสพติด
นิโคตินในบุหรี่เป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างตัวรับ (Receptor) ในระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะที่ Mesolimbic dopamine system หรือ Brain reward circuit ซึ่งเป็นสมองส่วนที่มีการทำงานเกี่ยวข้องกับการเกิดพฤติกรรมเสพติด โดยบุหรี่มีความสามารถในการทำให้เกิดการเสพติดได้สูงมากกว่าเฮโรอีนและยาเสพติดชนิดอื่น เช่น ยาบ้า กัญชา เพราะนิโคตินสามารถเข้าสู่สมองได้อย่างรวดเร็ว และถูกทำลายได้เร็วเช่นกัน นอกจากนี้บุหรี่ยังเป็นยาเสพติดที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีจำหน่ายทั่วไปอย่างถูกกฎหมาย
การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้อย่างไร
ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารนิโคติน แคดเมียม ก๊าซ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนตริคออกไซด์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ และคาร์บอนไดซัลไฟด์ สารเหล่านี้เมื่อสูดเข้าไปและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเส้นเลือด ที่นำไปสู่การเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ อันได้แก่ ผนังเส้นเลือดหนาและแข็ง เกล็ดเลือดจับตัวในหลอดเลือด เส้นเลือดหัวใจหดตัว หัวใจเต้นไม่ปกติ ผลคือ ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หัวใจขาดออกซิเจนจนเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ นอกจากนี้หากเกิดกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง อาจทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจนเช่นกัน นำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หากเกิดกับเส้นเลือดส่วนปลายที่ขา จะทำให้กล้ามเนื้อดังกล่าวตายา เนื่องจากขาดออกซิเจน ทำให้เกิดอาการปวดอย่างมากเวลาเดิน เกิดแผลเรื้อรัง อาจรุนแรงจนถึงขั้นตัดขาได้
ควันบุหรี่มือสอง
สำหรับโทษหรือพิษร้ายจากการสูบบุหรี่นั้น นอกจากจะเกิดขึ้นกับตัวผู้สูบเองแล้ว ยังส่งผลต่อคนรอบข้างที่ได้สูดดมควันพิษจากคนที่สูบบุหรี่ หรือที่เรียกกันว่า “ควันบุหรี่มือสอง” ซึ่งเป็นควันที่ออกมาจากปลายมวนของบุหรี่ สามารถจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1.ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของบุหรี่
2.ควันที่เกิดจากการหายใจออกของผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งในควันบุหรี่ขาวปนเทานี้ มีสารเคมีอยู่หลายพันชนิดและกว่า 60 ชนิดถูกระบุไว้ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองนั้น จะได้รับผลกระทบโดยตรง หรืออาจจะมากกว่าตัวผู้สูบเอง 5-10 เท่า เนื่องจากความเข้มข้นของสารพิษที่มากกว่านั่นเอง
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสอง
• เด็ก เนื่องจากร่างกายยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ และไม่สามารถป้องกันสารพิษจากควันบุหรี่ เด็กจึงมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ และอาจมีสมรรถภาพปอดแย่กว่าเด็กทั่วไป
• หญิงตั้งครรภ์ หากได้รับควันบุหรี่มือสองในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนดหรือครรภ์เป็นพิษได้ ส่วนทารกที่คลอดจากแม่ที่สูบบุหรี่จะมีน้ำหนักตัวน้อย พัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ
• บุคคลทั่วไป ที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้สูบบุหรี่หรือคู่สมรสที่สูบบุหรี่ และได้รับควันพิษมือสองนั้น มีโอกาสป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่คู่สมรสไม่สูบบุหรี่ถึง 2 เท่า และมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 3 เท่า นอกจากนี้ก็ยังพบอาการที่ไม่รุนแรงแต่สร้างความรำคาญในชีวิตประจำวัน เช่น ควันบุหรี่ ทำให้มีอาการระคายเคืองตา ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล เป็นต้น
นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)