Haijai.com


4 วิธีถนอมหัวใจ ห่างไกลอันตราย


 
เปิดอ่าน 1457

อย่าให้หัวใจตกอยู่ในอันตราย

 

 

มีผู้เปรียบเทียบว่าหากร่างกายเหมือนกับบ้าน หัวใจก็จะเหมือนกับปั๊มน้ำในตัว ที่ทำหน้าที่สูบเอาน้ำสะอาดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ภายในบ้าน รวมถึงส่งน้ำเสียจากภายในบ้านไปกรอง (ฟอก) ให้สะอาดที่ปอด อวัยวะเล็กๆ ชิ้นนี้เริ่มทำงานตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเกิด และทำงานอย่างต่อเนื่องไม่เคยหยุดพัก กว่าเราจะถึงวัยเกษียณที่อายุ 60 ปี ซึ่งถือเป็นวัยพักผ่อน หัวใจของเราเต้นไปแล้วกว่า 1,800 ล้านครั้ง และยังคงเต้นต่อไปโดยไม่มีการหยุดพัก เมื่อหัวใจต้องทำงานหนักขนาดนี้ หากเราปล่อยปละละเลยไม่ดูแลหัวใจ แน่นอนว่าโรคร้ายต่างๆ ย่อมต้องถามหาอย่างแน่นอน และจะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจาก “ตัวเราเอง” ที่ต้อง “ปกป้องหัวใจ” ไม่ให้ตกอยู่ในอันตราย

 

 

หัวใจประกอบด้วย 4 ห้องเหมือนที่เราๆ ท่านๆ รู้กัน ทั้ง 4 ห้องนั้นถูกกั้นออกจากกันด้วยลิ้นหัวใจ ซึ่งจะเป็นเสมือนวาล์วน้ำ กั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนทางเวลาที่หัวใจบีบตัว เลือดจะไหลเข้าสู่หัวใจผ่านทางหลอดเลือดดำใหญ่สองเส้น เทเลือดเข้าสู่หัวใจห้องบนขวา หลังจากนั้นเลือดจะไหลผ่านลิ้นหัวใจมาสู่หัวใจห้องล่างขวา ซึ่งจะบีบตัวดันเลือดให้ไปฟอก เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจน เปลี่ยนเลือดดำให้กลับเป็นเลือดแดงใหม่ที่ปอด หลังจากนั้นเลือดจะไหลกลับจากปอดเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้าย ไหลผ่านลงมาสู่หัวใจห้องล่างซ้าย และถูกหัวใจห้องล่างซ้าย ซึ่งมีกล้ามเนื้อที่ทั้งหนาและแข็งแรงปั๊มเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผ่านทางหลอดเลือดแดงใหญ่และแน่นอนว่าเลี้ยงตัวหัวใจเองด้วย

 

 

หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าหัวใจนั้นมีเลือดไหลผ่านเข้าออกตลอดเวลา ไม่น่าจะมีภาวะ “หัวใจขาดเลือด” ได้เลย จริงๆ แล้ว ถึงแม้ว่าหัวใจจะเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่บีบตัวปั๊มเลือดที่อยู่ภายในห้องหัวใจไปทั่วร่างกาย แต่หัวใจกลับไม่สามารถดึงเอาออกซิเจนจากเลือดที่อยู่ภายในห้องหัวใจไปใช้ได้ เปรียบเหมือนพนักงานธนาคารที่ถึงแม้จะทำงานจับเงินตลอดเวลา แต่กลับเอาเงินนั้นไปใช้ไม่ได้ ต้องปั๊มเลือดออกมาทางหลอดเลือดแดงใหญ่ก่อน แล้วเลือดจึงจะไหลผ่านหลอดเลือดเล็กๆ ที่เรียกว่าเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งประกอบด้วยเส้นเลือดหลัก 3 เส้นด้วยกัน เมื่อเทียบกับปริมาณเลือดที่อออกจากหัวใจแล้ว เลือดที่กลับเข้ามาเลี้ยงตัวหัวใจเองนั้น คิดเป็นแค่เพียง 5% ของปริมาณเลือดทั้งหมดที่หัวใจบีบตัวปั๊มออกไปเท่านั้น

 

 

นอกจากส่วนที่ทำหน้าที่ปั๊มเลือดแล้ว หัวใจยังเหมือนกับปั๊มน้ำอีกอย่างหนึ่ง ตรงที่มันขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ใช่แล้วค่ะ... อ่านไม่ผิดหรอก หัวใจของคนเรานี่แหละขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

 

 

ในหัวใจของคนเรา นอกเหนือจากเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในเซลล์ที่แข็งแรงที่สุดของร่างกายแล้ว ยังประกอบด้วยเซลล์อีกจำนวนหนึ่งทำหน้าที่ให้กำเนิดกระแส และเป็นตัวนำไฟฟ้าสำหรับวงจรไฟฟ้าเล็กๆ ในหัวใจ เป็นเคล็ดลับที่ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจทำงานบีบตัวได้โดยพร้อมเพรียงกัน โดยไม่แตกแถว ที่น่าทึ่งคือกระแสไฟฟ้าเหล่านี้แรงมากพอที่จะสามารถวัดได้ผ่านผิวหนัง โดยใช้เครื่องมือพิเศษสำหรับวัดกระแส เรียกว่า คลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ Electrocardiogram (EKG)

 

 

ไฟฟ้าของหัวใจนี้เองที่เป็นส่วนที่ทำให้หัวใจสามารถติดต่อกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย และทำงานสอดประสานกันได้อย่างราบรื่น ไฟฟ้าของหัวใจจะถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งจะปรับจังหวะการเต้นของหัวใจให้ตรงกับความต้องการออกซิเจน และสารอาหารต่างๆ ที่จะถูกสูบฉีดไปกับเลือดที่ปั๊มผ่านหัวใจออกไปให้อวัยวะต่างๆ มีพลังงานเพื่อนำไปใช้ได้อย่างเพียงพออยู่เสมอ

 

 

โดยปกติอัตราการเต้นของหัวใจที่ปกติในผู้ใหญ่ จะอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที ในเด็กอัตราการเต้นของหัวใจจะเร็วกว่านี้ ในทางกลับกัน อัตราการเต้นของหัวใจจะช้าลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น แต่บางครั้งในบางภาวะ ร่างกายอาจจะต้องการพลังงานไปใช้มากขึ้น ทำให้เกิดการส่งสัญญาณไปยังหัวใจ ส่งผลให้หัวใจบีบตัวเร็วขึ้นและแรงขึ้น เพื่อส่งเลือดที่เต็มไปด้วยสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ เช่น เวลาออกกำลังกาย เวลามีไข้ นอกจากนี้ในคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำจนทำให้หัวใจมีความแข็งแรง สามารถบีบตัวปั๊มเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อัตราการเต้นของหัวใจในสภาวะพักก็อาจจะช้าลงอีก เนื่องจากการบีบตัวแต่ละครั้งก็เพียงพอที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย

 

 

หัวใจกับความดันโลหิต

 

เมื่อมีแรงบีบตัวของหัวใจดันเลือดออกไปสู่เส้นเลือดใหญ่ แรงที่ดันเลือดออกไป เราเรียกกันว่า “ความดันโลหิต” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ทั่วไปว่า “ความดันฯ” ความดันโลหิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับแรงบีบตัวของหัวใจเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับขนาดเส้นเลือดที่เลือดไหลผ่านด้วย หลายคนคงจะเห็นภาพเวลาที่เราเอานิ้วไปอุดสายยางรดน้ำต้นไม้ แล้วทำให้น้ำพุ่งได้แรงขึ้น ไกลขึ้น การพุ่งของเลือดก็เช่นเดียวกัน เมื่อเส้นเลือดหดเล็กลง เลือดก็จะพุ่งแรงขึ้นเร็วขึ้น เป็นที่มาว่าทำไมความดันโลหิตจึงสูง

 

 

ถ้าอย่างนั้นความดันโลหิตสูงก็น่าจะดีสินะ เพราะเลือดพุ่งไกลขึ้น แรงขึ้น หัวใจน่าจะทำงานน้อยลง แบบนั้นทำไมเราจึงต้องมานั่งรักษาโรคความดันโลหิตสูงกันหรือ?

 

 

นั่นก็เพราะในขณะที่เส้นเลือดมีไขมันไปพอกทำให้มีขนาดเล็กลง หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อบีบตัวต้านกับแรงเสียดทานของผนังหลอดเลือด แม้ว่าเลือดจะพุ่งได้ไกลได้แรงจริง แต่สิ่งที่ร่างกายต้องการคือ “ปริมาณ” ไม่ใช่ “ความแรง” ของเลือด หัวใจจึงต้องทำงานหนักมากขึ้นในการดันเลือดออกไปให้ได้ปริมาณเท่าเดิม นอกจากนี้การที่เลือดพุ่งออกจากหลอดเลือดแรงมากเกินไป นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังไปกระทบกระแทกผนังหลอดเลือด จนอาจเกิดการแตกได้ โดยเฉพาะในเส้นเลือดเส้นเล็กๆ ที่มีความเปราะบางอย่างเส้นเลือดสมอง ซึ่งถ้ามีการแตกก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นอัมพาตไปอย่างถาวรได้ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เรามารักษาหัวใจให้แข็งแรงอยู่กับเราไปนานๆ กันเถอะค่ะ เริ่มต้นที่ 4 วิธีง่ายๆ คือ

 

 ออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ใช้ความเร็ว เช่น การว่ายน้ำ การวิ่ง การปั่นจักรยาน การออกแรงที่ทำให้หัวใจได้เต้นแรงๆ เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 15 นาทีต่อครั้ง จะเป็นเหมือนการ “ฟิตกล้าม” ให้กับกล้ามเนื้อหัวใจได้หัดทำงาน เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจถูกฝึกบ่อยๆ การบีบตัวก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ในเวลาปกติหัวใจบีบตัวช้าลง ทำงานน้อยลง ก็จะทำงานได้นานขึ้น อยู่กับเราไปจนแก่เฒ่า

 

 

 กินอาหารที่มีประโยชน์ หลายท่านอาจจะได้ยินประโยคนี้กันจนชินชา แต่สำนวนฝรั่งสำนวนหนึ่งกล่าวว่า “You are what you eat” หรือ “กินอะไรได้อย่างนั้น” การกินอาหารที่มีไขมันสูง นอกจากจะทำให้ไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ไขมันตัวร้ายเหล่านี้ยังไปสะสมอยู่ตามหลอดเลือดเหมือนเป็นตะกรันในท่อน้ำ  ทำให้น้ำไหลไม่สะดวกเกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา นอกจากไขมันแล้ว ยังมีความเค็มที่จะทำให้น้ำถูกเก็บเอาไว้ในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณเลือดหมุนเวียนในร่างกายเพิ่ม แต่คุณภาพของเลือดลดลง ดังนั้นหัวใจจะต้องบีบตัวทำงานหนักขึ้น

 

 

 หลีกเลี่ยงความเครียด มีคำกล่าวว่า “หัวใจสลาย” เอาไว้ใช้เวลาที่คนเราเผชิญกับความเครียดที่เกิดจะทน ซึ่งก็ไม่เกินจริงนักเมื่อเรามีความเครียดระบบต่างๆ ในร่างกายจะรวน และเกิดฮอร์โมนความเครียด ซึ่งจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น แรงขึ้น แต่ไร้ประสิทธิภาพ เป็นการทำงานหนักโดยไม่จำเป็น

 

 

 งดบุหรี่ นอกจากจะเป็นพิษต่อปอดแล้ว ยังมีงานวิจัยออกมาแล้วว่า บุหรี่นั้นเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเกิดความผิดปกติ และไม่ยืดหยุ่นเหมือนที่ควรจะเป็น หลอดเลือดที่แข็งเกินไปเหล่านี้ไม่สามารถขยายตัวเวลาที่ร่างกายต้องการเพิ่มปริมาณเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ดังนั้นภาระการทำงานหนักจึงตกไปอยู่กับหัวใจ

 

 

ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่จะช่วยให้หัวใจของคุณแข็งแรง แต่แค่ทำ 4 สิ่งหลักๆ นี้ให้ได้ ก็เท่ากับคุณได้ถนอมหัวใจตัวเองไว้ไม่ให้ตกอยู่ในอันตรายได้มากแล้วล่ะค่ะ

 

 

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิต

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

(Some images used under license from Shutterstock.com.)