© 2017 Copyright - Haijai.com
ระดับแร่ธาตุในเลือด กับความเสี่ยงต้อหิน
ต้อหินหรือการที่ความดันในลูกตาสูงขึ้นนับเป็นภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ความดันที่สูงขึ้นนี้ สามารถทำลายขั้วประสาทตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุดได้ การรักษาและป้องกันจึงนับเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อสุขภาพตาที่ดีตลอดชีวิต
งานวิจัยจากเกาหลีซึ่งสำรวจระดับแร่ธาตุในเลือด (แมงกานีส ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม และสารหนู) และความชุกของต้อหินในชาวเกาหลีที่มีอายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไปจำนวน 2,680 คน ระหว่างมกราคม 2551 ถึงธันวาคม 2552 จากการสำรวจดังกล่าว มีชาวเกาหลีจำนวน 36 คนมีภาวะต้อหินที่ตาขวา ผู้ป่วยด้วยต้อหินจะมีระดับแมงกานีสในเลือดต่ำกว่าผู้ที่ไม่เป็นต้อหิน (12.36 ไมโรกรัมต่อลิตร เทียบกับ 13.49 ไมโครกรัมต่อลิตร) ในทางกลับกัน ผู้ป่วยโรคต้อหินจะมีระดับปรอทในเลือดสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นต้อหิน (6.18 ไมโครกรัมต่อลิตรเทียบกับ 5.31 ไมโครกรัมต่อลิตร)
โภชนาการและสิ่งแวดล้อมที่ดีจึงน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เราห่างไกลจากต้อหิน แมงกานีสพบในอาหารหลายชนิด เช่น ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดธัญพืช และผักใบเขียว มีความสำคัญต่อกระบวนการทางเคมีต่างๆ ในร่างกายรวมถึงการสร้างกระดูก ระดับสูงสุดของแมงกานีสที่ร่างกายสามารถรับได้ต่อวันคือ 11 มิลลิกรัม ส่วนปรอทนั้นเป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง และใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ และการเผาไหม้เชื้อเพลิง
ดังนั้น การเพิ่มแหล่งอาหารที่เป็นแมงกานีส และหลีกเลี่ยงจากมลภาวะจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)