© 2017 Copyright - Haijai.com
ชีวิตอย่าหวานมาก
กินหวานมากเกินไป สิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงก็คงหนีไม่พ้นอ้วนหรือเป็นเบาหวาน ซึ่งก็เป็นจริง ดังงานวิจัยจากอังกฤษเมืองผู้ดีที่ตีพิมพ์ใน Diabetologia ปีนี้ ที่ต้องการหาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเครื่องดื่มหวานๆ กับอุบัติการณ์ของการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคที่คุกคามชาวบ้านชาวเมืองทุกหย่อมหญ้าในขณะนี้
การวิเคราะห์ข้อมูลจากชาวอังกฤษทั้งชายหญิงอายุระหว่าง 40-79 ปีจำนวน 24,653 คน เริ่มต้นในช่วงปี พ.ศ.2536-2540 โดยประเมินอาหารที่รับประทานตลอด 7 วันติดต่อกัน และตัดอิทธิพลจากตัวแปรกวน เช่น ข้อมูลด้านสังคมและเศรษฐกิจ การดำเนินชีวิต การออกกำลังกายพบว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยส่วนใหญ่จะดื่มเครื่องดื่มรสหวานอย่างน้อย 1 ชนิดใน 7 วัน โดยดื่มน้ำอัดลมมากที่สุด รองลงมาเป็นชาหรือกาแฟเติมน้ำตาล
เมื่อติดตามผลไปเรื่อยๆ พบว่ามีผู้ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 847 คน โดยการดื่มน้ำอัดลมและนมที่ใส่น้ำตาลล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ การได้รับพลังงานจากเครื่องดื่มที่มีรสหวานเพิ่มขึ้น 5% จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานอีก 18% เลยทีเดียว การแทนที่น้ำตาลด้วยน้ำตาลเทียม ไม่มีผลลดหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับแก้กระหายคือน้ำเปล่า รองลงมาคือชาหรือกาแฟที่ไม่ใส่น้ำตาล จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าการดื่มน้ำเปล่า ชาหรือกาแฟที่ไม่ใส่น้ำตาล แทนน้ำอัดลมหรือนมใส่น้ำตาลนั้น สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้
ความหวานกับเบาหวานคงเป็นเรื่องที่หลายคนคิดอยู่แล้ว แต่ผลเสียที่คาดไม่ถึงอีกประการของความหวานที่มากเกินไปคือ การเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าในสตรีวัยทอง งานวิจัยจากอเมริกาที่ตีพิมพ์ใน The American Journal of Clinical Nutrition ปีนี้ ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการติดตามสตรีวัยทองจำนวน 69,954 คนเป็นเวลา 3 ปีพบว่า การรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (อาหารที่มีน้ำตาลมาก แป้งขัดขาว เบเกอรี่) เพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะซึมเศร้า โดยเมื่อแบ่งระดับการรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลออกเป็น 5 ระดับ (ระดับที่ 1 ต่ำสุด และระดับที่ 5 สูงสุด) พบว่าผู้ที่รับประทานในระดับที่ 5 จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากระดับแรกถึง 22% (แม้ว่าจะตัดอิทธิพลจากตัวแปรกวน ได้แก่ อายุ เชื้อชาติ การศึกษา รายได้ ค่าดัชนีมวลกาย การรับประทานผักผลไม้และใยอาหาร ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าในผู้หญิงกลุ่มดังกล่าว โดยผู้ที่รับประทานใยอาหารมากที่สุดจะมีความเสี่ยงลดลงจากผู้ที่รับประทานใยอาหารน้อยที่สุดถึง 14% เลยทีเดียว
มาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่าแล้วความหวานไปเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าได้อย่างไร นักวิจัยได้อธิบายว่าอาจจะเป็นเพราะอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงทำให้ระดับกลูโคสในเลือด “ขึ้นเร็ว ลงเร็ว” จนทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนอื่นๆ จึงทำให้เกิดความวิตกกังวล หงุดหงิด เป็นต้น
จริงอยู่ว่าน้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานแหล่งหนึ่งและมีความสำคัญต่อชีวิต จนทำให้นึกถึงโฆษณาที่ว่า “เพราะชีวิตขาดหวานไม่ได้” แต่ถ้าหวานมากเกินไป ไม่เพียงแต่จะเอียนรสหวานเท่านั้น โรคภัยต่างๆ ก็จะถามหาดังงานวิจัยที่ได้กล่าวไปแล้ว ดังนั้นเมื่อจะหวานก็จงหวานแต่พอดี ชีวิตจะได้ก้าวเดินต่อไปอย่างมีคุณภาพ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)