© 2017 Copyright - Haijai.com
การตรัสรู้กับพระไตรปิฎก
ก่อนหน้านี้ผมเข้าใจว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่พระองค์เห็นว่าดีเห็นว่าควร และพระไตรปิฎกคือหนังสือที่บันทึกคำสอนนั้น โดยคิดว่าพระไตรปิฎกในยุคปัจจุบันอาจจะเพี้ยนจากสั่งสอนจริงพอสมควร เพราะว่าผ่านมานานและผ่านการสังคายนามาหลายครั้ง ซึ่งจะทำให้คำสอนผิดเพี้ยนไป แต่เมื่อผมได้ศึกษาพุทธศาสนามากขึ้น จึงทำให้ได้รู้ว่าผมเข้าใจคลาดเคลื่อนไปเกือบทั้งหมดเลยทีเดียว
ความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างแรกก็คือ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พระองค์เห็นว่าเหมาะสม เราต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “ตรัสรู้” กันก่อน พระพุทธองค์ตรัสรู้กฎธรรมชาติ คำว่า กฎธรรมชาติของจักรวาล แปลว่า ไม่ว่าคุณจะเกิดในประเทศไหน หรือดาวดวงไหน คุณจะนับถือศาสนาหรือความเชื่ออะไร ชีวิตของคุณก็จะเป็นไปตามกฎธรรมชาตินี้ (ตามนิยาม 5) การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือการล่วงรู้กฎนี้ พระองค์ไม่ได้เป็นผู้กำหนดกฎนี้เอง และไม่มีเทพหรือพระเจ้าองค์ไหนเป็นผู้กำหนดกฎนี้เอาไว้
สรุปว่า พระไตรปิฎกคือหนังสือที่บันทึกสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ล่วงรู้ความจริงที่เป็นอยู่แล้วตามธรรมชาติ ฉะนั้น สิ่งที่อยู่ในพระไตรปิฎกคือกฎของธรรมชาตินั่นเอง
ทราบไหมครับว่าไอน์สไตน์จู่ๆ ก็คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเอานาฬิกาไปวางที่ทุกๆ จุดในจักรวาล เขาเชื่อว่าเวลาในนาฬิกาแต่ละเรือนจะเดินไม่เท่ากัน เขาใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ก็สามารถหาสูตรมาอธิบายได้สำเร็จ ว่าทำไมเวลาของนาฬิกาแต่ละเรือนถึงเดินไม่เท่ากัน จนเกิดทฤษฎีสัมพัทธภาพ จะเห็นว่าเป็นลักษณะที่อยู่ๆ ก็คิดหรือจินตนาการเรื่องบางเรื่องขึ้นมาได้ แล้วก็พยายามหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าสิ่งที่คิดได้นั้นเป็นเรื่องจริง นั่นคือการเริ่มต้นจากความคิดและจินตนาการโดยไม่อาศัยตรรกะใดๆ ก่อน แล้วจึงใช้ความรู้ที่มี สร้างตรรกศาสตร์ออกมาเพื่ออธิบายสิ่งที่ได้จินตนาการเอาไว้ ดังเช่นคำพูดที่โด่งดังมากๆ ของไอน์สไตน์ก็คือ “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เพราะทฤษฎีนี้ของไอน์สไตน์เริ่มจากจินตนาการของเขา มากกว่าเริ่มจากความรู้ที่เขามีนั่นเอง
ลักษณะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น ผมก็ไม่ทราบว่าจะเป็นลักษณะไหน แต่ถ้าจะให้สันนิษฐาน ผมว่าก็อาจเทียบเคียงได้กับลักษณะที่นักวิทยาศาสตร์จู่ๆ ก็คิดเรื่องบางเรื่องขึ้นมาได้ เพียงแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้กฎของทั้งจักรวาล โดยสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมากมายกว่านักวิทยาศาสตร์มากนัก และไม่ได้เป็นเรื่องที่จู่ๆ คิดได้แบบนักวิทยาศาสตร์ แต่เกิดจากากรสั่งสมบารมีที่มากพอนั่นเอง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)