
© 2017 Copyright - Haijai.com
3 เคล็ดลับดูแลสุขภาพผู้ใช้สมาร์ทโฟน
ข้อมูลจากการสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ.2555 พบว่า ผู้สูงอายุมีการใช้อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารออนไลน์ประมาณร้อยละ 2 โดยประชากรผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร และเขตเทศบาลมีการใช้มากที่สุด ส่วนใหญ่ใช้เพื่อค้นหาข้อมูล รองลงมาคือ ติดตามข่าวสาร และรับ-ส่งอีเมล แม้ตัวเลขร้อยละ 2 จะถือว่าน้อยมาก แต่หากหันไปมองรอบๆ ตัวแล้ว ต้องยอมรับว่า พบผู้สูงอายุใช้อุปกรณ์สื่อสารอย่างแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภานุพันธุ์ ทรงเจริญ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การใช้อุปกรณ์สื่อสารอย่างแพร่หลายทำให้พบผู้ป่วยในกลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรม และนิ้วล็อกที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในวันนี้หากมีอาการในกลุ่มโรคดังกล่าว แล้วจะต้องอาศัยเวลาในการรักษานานกว่าปกติ
จึงขอแนะนำการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นให้ปลอดภัยต่อสุขภาพด้วยเทคนิคง่ายๆ ดังนี้
3 Tips for Smart Tech User ฉลาดใช้เทคโนโลยี
1.จำกัดเวลาใช้
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นริศ กิจณรงค์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และเลขาธิการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ควรพักสายตาหลังการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ทุกๆ 1 ชั่วโมง เพราะแสงสีฟ้าและรังสีอัลตราไวโอเลตจากหน้าจอโทรศัพท์ สมาร์โฟน หรือแท็บเล็ต ส่งผลให้จอตาเสื่อม จากาการสำรวจในประเทศไทยพบว่า มีผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วกว่า 14 ล้านคน เวลามองจะเห็นคล้ายหยากไย่ลอยอยู่ มีอาการปวดตาและอาจกลายเป็นต้อกระจกได้
2.ปรับองศา อย่าก้มมาก
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์วรวรรธน์ ลิ้มทองกุล ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า การก้มหน้าก้มตากดโทรศัพท์หรือใช้แท็บเล็ตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการปวดต้าแต่กระดูกสันหลังช่วงต้นคอ บ่า ไหล่ และสะบัก ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่าโรคหลังห่อคอตก (Text Neck) โดยมุมที่แนะนำคือ ไม่ควรก้มเกิน 15 องศา แต่ส่วนใหญ่มักจะก้มลงไปถึง 25-30 องศา
ควรเปลี่ยนท่าจากการก้มหน้าเป็นเงยหน้า หรือยกจอให้อยู่ระดับสายตาแทน
3.พิมพ์เท่าที่จำเป็น
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การออกแรงกำมือหรืองอนิ้วบ่อยๆ จากการใช้อุปกรณ์สื่อสาร จนทำให้ปลอกหุ้มเอ็นหนาตัวขึ้น จนกดรัดการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็น ทำให้เกิดโรคนิ้วล็อกได้
แนะนำให้ใช้วิธีพูดผ่านทางโทรศัพท์ หรือข้อความเสียงแทนการพิมพ์ ส่วนขณะพักให้ยืดเหยียดนิ้วและแขนให้สุด สลับกับการกำมือแน่นๆ ช้าๆ สัก 100 ครั้ง หรือนวดคลายกล้ามเนื้อและเอ็นด้วยตนเองบ้าง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)