© 2017 Copyright - Haijai.com
ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิตามินธรรมชาติ
บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินกันถึงคำว่าอนุมูลอิสระ หลายคนอาจรู้แต่เพียงว่าการมีอนุมูลอิสระในร่างกายไม่ดี เพราะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดผลเสียต่อผิวพรรณและสุขภาพ แต่แท้จริงๆ แล้ว อนุมูลอิสระคืออะไร ทำไมเราจึงต้องทำทุกวิธีทางเพื่อต้านอนุมูลอิสระ ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องการรับประทานอาหาร ที่เรามักต้องเลือกว่า ผัก ผลไม้ หรืออาหารชนิดนี้ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว เข้าสู่ร่างกายไปช่วยต้านอนุมูลอิสระได้อย่างแท้จริง
อนุมูลอิสระ เกิดขึ้นได้อย่างไร
อนุมูลอิสระสามารถเกิดขึ้นได้จากปฏิกิริยาในร่างกายอยู่แล้วจากการหายใจ กระบวนการเผาผลาญในร่างกาย ที่เรียกว่า ปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) ปกติร่างกายของเราจะมีระบบต้านหรือกำจัดอนุมูลอิสระอยู่แล้ว แต่หากร่างกายเกิดความเครียด การใช้ชีวิตประจำวันการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกลักษณะ รวมถึงมลพิษจากสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นได้ เป็นสาเหตุให้ร่างกายและเซลล์เสื่อมก่อนวัย ได้แก่
1.อาหารที่มีขั้นตอนหรือกระบวนการในทำ เช่น การย่าง การทอดที่ใช้น้ำมันซ้ำๆ ต่อเนื่องจนดำเหล่านี้ หากรับประทานบ่อย และเข้าสู่ร่างกายมากๆ ร่างกายจะกำจัดอนุมูลอิสระได้ลดลง
2.สิ่งแวดล้อม ที่เราต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน เช่น แสงแดดที่มาพร้อมกับรังสีอัลตร้าไวโอเลต ฝุ่น ควัน มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระมากเกินไปต่อร่างกาย เป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมาได้
3.อายุที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายลดลง
กินแบบไหนให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระ
สารอาหารและแร่ธาตุต่างๆ จะช่วยให้ระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสารอาหารเหล่านี้ สามารถพบได้จากพืชผักผลไม้ และสามารถที่จะหาทานได้ง่าย
• วิตามินอี เราสามารถรับวิตามินอีได้จากอาหารตามธรรมชาติ เช่น ธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ผักใบเขียว อะโวคาโด
• วิตามินซี พบมากในผักและผลไม้ เช่น ฝรั่ง ส้ม สตรอเบอร์รี่ หรือผัก เช่น บร็อกโคลี่ ผักโขม เป็นต้น
• วิตามินเอ พบมากในพืชผักที่มีสีเหลืองส้ม เช่น มะละกอสุก แตงโม ส้ม ฟักทอง แครอท เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะได้รับประโยชน์จากวิตามินเอแล้ว ยังได้รับประโยชน์จากเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยลดความเสื่อมของเซลล์และชะลอวัยอีกด้วย
มื้อ/วัน |
Day 1 |
Day 2 |
Day 3 |
Day 4 |
Day 5 |
มื้อเช้า |
ผักต้ม เช่น บร็อกโคลี่ ผักโขม ผักคะน้า ทานคู่กับน้ำพริก และข้าวไรซ์เบอร์รี่ |
แกงกระหรี่ไก่ ใส่มันฝรั่ง ทานกับข้าวกล้อง + ชาเขียวชงไม่หวาน |
น้ำเต้าหู้แบบ หวานน้อย + ข้าวต้ม (ข้าวกล้อง) ปลากะพง |
ยำกุ้งสดใส่พริกหวาน เขียว–แดง และหอมใหญ่ + ข้าวไรซ์เบอร์รี่ |
แซนด์วิชโฮลวีท ใส่ผักสลัดหอมใหญ่ มะเขือเทศ ไก่อบหั่นแว่น ราดด้วยน้ำสลัดบีทรูท |
มื้อกลางวัน |
ผัดฟักทองใส่ไข่ ทานกับข้าวกล้องร้อนๆ 1 ทัพพี |
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ยำ ก้านคะน้ากุ้งสด + น้ำแตงโมปั่น |
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ กับผัดกะหล่ำปลี กับเนื้ออกไก่ |
ราดหน้าเส้นหมี่หมู ใส่ผักคะน้า |
ข้าวกล้อง ทานกับผัด ถั่วลันเตา ตบท้ายด้วย ผลไม้ เช่น แตงโม ส้ม |
มื้อเย็น |
สลัดผลไม้รวม ตระกูลเบอร์รี่ เช่น สตรอเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ |
ผักโขม (ทำให้สุกก่อน) รับประทานกับ ไข่ต้มสุก + น้ำบีทรูทปั่น |
ยำส้มโอใส่ หอมแดง กุ้งแห้ง กับพริกขี้หนูซอย |
ต้มซุปใสไก่ใส่ หอมใหญ่ และมะเขือเทศ |
สลัดไก่ ผักรวมและ อะโวตาโด + น้ำส้มคั้นสด 1 แก้ว |
*เมนูข้างต้นเป็นเพียงแนวทางสำหรับอาหารเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ
ทุกวันนี้ด้วยการดำเนินชีวิตในสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ผนวกกับตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้น หน้าที่และความรับผิดชอบที่มากขึ้น โดยเฉพาะยิ่งทั้งความเครียดจากการทำงาน รวมถึงมลภาวะต่างๆ จากภายนอกที่เราต้องเผชิญ ถึงแม้ว่าอาหารในบ้านเรานั้น จะมีให้เลือกรับประทานได้หลากหลาย แต่การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเราก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น การรับประทานอาหารที่ส่วนผสมของพืชผักตามธรรมชาติ ที่มีวิตามินในการช่วยเพิ่มภูมิต้านทานอนุมูลอิสระให้กับร่างกาย ให้มีสุขภาพที่แข็งแรงพร้อมที่จะเผชิญกับสภาวการณ์ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่
(Some images used under license from Shutterstock.com.)