© 2017 Copyright - Haijai.com
หลอดเลือดสมอง ภัยเงียบที่ไม่อาจมองข้าม
โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (Acute Stroke) หรือโรคอัมพาตเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มคนสูงอายุ สาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดสมองส่วนหนึ่งเกิดจากความเสื่อมตามวัยของหลอดเลือดในร่างกาย ลักษณะอาการของโรคส่วนใหญ่มักไม่มีสัญญาณเตือนก่อนเกิดอาการ โดยมากมักเกิดในบุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ หรือเคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ
1.หลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน (Acute ischemice stroke) คือ เส้นเลือดสมองเกิดการอุดตันเฉียบพลัน ทำให้สมองส่วนนั้นๆ เกิดการขาดเลือด และเนื้อสมองตาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองที่พบได้บ่อยถึง 80%
2.เลือดออกในสมอง (Hemorrhagic stroke) คือ ภาวะที่มีเลือดออกในสมอง ทำให้เนื้อสมองบริเวณรอบๆ ถูกกดทับจากก้อนเลือด พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง มักพบบ่อยในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่ควบคุมความดันได้ไม่ดี หรือผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรค แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
1.ผลกระทบในระยะเฉียบพลัน ถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดในสมองส่วนที่ทำหน้าที่สำคัญ คนไข้ก็อาจจะมีความพิการเกิดขึ้น เช่น มีอาการแขนขาอ่อนแรง พูดไม่ได้ หรือพูดไม่ชัด ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็อาจช่วยบรรเทาหรือลดภาวะความพิการในระยะยาวได้
2.ผลกระทบในระยะยาว ในกรณีที่โรคหลอดเลือดสมองมีอาการรุนแรง หรือหลังให้การรักษาแล้วยังมีความพิการหลงเหลืออยู่ ย่อมมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การช่วยเหลือตนเองของคนไข้ในการดำรงชีวิตประจำวันทั่วไป อาจจะต้องมีคนคอยดูแลและช่วยเหลือ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อลูกหลานหรือคนในครอบครัว ที่อาจต้องละทิ้งงานประจำ เพื่อมาดูแลผู้ป่วย ทำให้เกิดผลกระทบกับครอบครัวและสังคมได้
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่อันตรายและร้ายแรง อาการแสดงที่สังเกตได้ชัดเจน คือ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากในปัจจุบันหากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลได้เร็ว แพทย์สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดอุดตันได้ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง หลังเริ่มเกิดอาการ ซึ่งจะช่วยลดความพิการในระยะยาวของผู้ป่วยได้
เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับโรคหลอดเลือดสมองคือ เวลา เมื่อคนไข้เริ่มมีอาการ ญาติควรนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะทุกๆ 1 นาทีที่ผ่านไป เซลล์สมองจะตายประมาณ 2 ล้านตัว ดังนั้น ทุกๆ วินาทีมีค่าสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง เพราะหากช้าไปเพียงแค่ไม่กี่นาที อาจเปลี่ยนชีวิตคนไข้ไปตลอดชีวิตได้
นายแพทย์สิทธิ เพชรรัชตะชาติ
อายุรแพทย์ระบบประสาท
โรงพยาบาลพญาไท 1
(Some images used under license from Shutterstock.com.)