Haijai.com


พลังแม่นม ช่วยเด็กสุขภาพเลิศ


 
เปิดอ่าน 3634

พลัง แม่นม ช่วยเด็กสุขภาพเลิศ

 

 

เมื่อครั้งอดีต มนุษย์เคารพกฎแห่งธรรมชาติ จึงอยู่กับธรรมชาติได้อย่างเป็นสุข ลูกคนก็ต้องกินนมคน ลูกวัวก็ต้องกินนมวัว บ้างครั้งแม่ที่คลอดลูกออกมาแล้วไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองได้ จะหาแม่ที่กำลังให้นมลูกอยู่เหมือนกันมาให้นมลูกแทน เรียกว่า “แม่นม” เพราะไม่สามารถจะหานมและอาหารชนิดอื่นมาทดแทนนมแม่ได้

 

 

ต่อมาเมื่อมนุษย์ได้นำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารมาดัดแปลงนมวัวให้มีสูตรใกล้เคียงนมแม่ เพื่อเป็นอาหารให้ลูกคนกิน วัฒนธรรมแม่นมจึงหายไป กลายเป็นเพียงตำนาน

 

 

ต่อมามนุษย์ได้ค้นพบสัจธรรมว่า การแหกกฎธรรมชาติโดยนำนมวัวมาให้ลูกคนกินนั้น ไม่สามารถทดแทนนมแม่ได้ทั้งหมด มีการออกมายอมรับกันทั่วโลกว่า นมแม่ดีที่สุดสำหรับลูกคน

 

 

ปัจจุบันกระแสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงหวนกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง แต่มนุษย์ยุคสังคมออนไลน์จำนวนมากไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองได้ เพราะต้องทำงานหาเงิน

 

 

ในขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ และภาคเอกชนทั่วโลก รณรงค์ให้ทุกประเทศออกมาคุ้มครองสิทธิเด็กเล็ก โดยให้เด็กได้กินนมแม่ ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้แม่ที่ทำงานเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยกตัวอย่างเช่นการส่งเสริมให้สถานประกอบการจัดมุมนมแม่ และการตั้งธนาคารนมแม่ในบางประเทศ ตลอดจนการกล่าวถึงวัฒนธรรมแม่นมในยุคสังคมออนไลน์ว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร

 

 

การให้นมแม่แก่ลูกคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกตนเอง หรือที่เรียกว่าแม่นม ในยุคปัจจุบันนี้วงการแพทย์ได้ออกมาเตือนเรื่องความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคสู่เด็ก แม้ว่าจะไม่สูงมากก็ตาม เพราะปัจจุบันมีโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ซึ่งสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกผ่านทางนมแม่ได้ อาทิ เชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี และเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus) ตลอดจนแม่ที่ติดสารเสพติด เช่น เหล้าและบุหรี่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่แนะนำให้มีการให้นมแม่แก่ลูกคนอื่น โดยไม่ได้การรับรองหรือกลั่นกรองจากสถานบันทางการแพทย์ และไม่ได้รับการยินยอมจากสองฝ่าย

 

 

แต่เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความกังวลและสับสนว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นความเสี่ยง แล้วฉวยโอกาสไปเลี้ยงลูกด้วยนมผสม จึงขอบอกว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีระบบบริการสุขภาพที่จะป้องกันไม่ให้แม่และลูกติดเชื้อดังกล่าว เช่น การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวีและซิฟิลิสในแม่ตั้งครรภ์ ตลอดจนการให้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในทารกแรกเกิด ส่วนไวรัสตับอักเสบซีนั้นมีอัตราการเกิดในประเทศไทยน้อยมาก สำหรับเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส ถ้าแม่มีเชื้อนี้อยู่ในตัวจะส่งผ่านทางน้ำนมสู่ลูกได้ แต่ไม่ต้องตระหนก เพราะทารกที่คลอดตามกำหนดจะได้รับภูมิคุ้มกันเชื้อนี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มาดา

 

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงพอสรุปได้ว่า การให้นมแม่แก่ลูกคนอื่น หรือการเป็นแม่นมในยุคสังคมออนไลน์นั้น มีความเสี่ยงในการรับเชื้อไม่สูง แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดสำหรับทารก จึงต้องมีระบบการจัดการแม่นม หรือบริจาคนมตนเองให้ลูกคนอื่น

 

 

ส่วนการจัดตั้งธนาคารนมแม่มีบางประเทศเริ่มลงมือทำไปบ้างแล้ว สำหรับประเทศไทยยังไม่มี เพราะต้องลงทุนค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม การให้นมแม่แก่ลูกคนอื่นหรือการเป็นแม่นมนั้น เป็นเพียงทางออกหนึ่งของสังคมโลกที่พยายามจะให้ทารกได้เข้าถึงนมแม่

 

 

แต่อุปสรรคใหญ่ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิดจากแม่ต้องไปทำงาน จึงไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือเลี้ยงลูกเป็นระยะเวลานานๆ ได้

 

 

ด้วยเหตุนี้หน่วยงานแกนนำที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น กรมอนามัย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเน้นการสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้เข้าถึงนมแม่ แม้แม่จะทำงาน

 

 

กิจกรรมที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนมีมากมาย ที่สำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมให้สถานประกอบการที่มีผู้หญิงจำนวนมากจัดตั้งมุมนมแม่ และส่งเสริมการลาคลอดของแม่อย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้ท้องถิ่นชุมชนเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น การจัดตั้งตำบลนมแม่ ส่งเสริมบทบาทเครือข่ายแม่ช่วยแม่  ส่งเสริมให้พ่อลาคลอดเพื่อช่วยแม่เลี้ยงลูก และการผลักดันให้รัฐบาลออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและผลิตภัณฑ์

 

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ยากที่จะหาสิ่งใดมาทดแทนได้ และเป็นภาระที่ส่งต่อักนมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน

 

 

การมีแม่นมเมื่อครั้งอดีตคือความสวยงามแห่งการแบ่งปันที่มนุษย์มีต่อกัน แต่เมื่อมาถึงยุคสังคมออนไลน์ การเกิดอุบัติการณ์ของโรคระบาดใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดจากแม่สู่ลูกผ่านทางน้ำนมแม่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการแบ่งปันนมแม่แก่ลูกคนอื่น

 

 

แต่ ณ วันนี้ปัญหาอยู่ที่เราจะรวมพลังกันอย่างไร ให้เด็กไทย ได้เข้าถึงนมแม่อย่างถ้วนหน้าครับ

 

 

อาจารย์ ดร.สง่า ดามาพงษ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)