© 2017 Copyright - Haijai.com
ปวดแบบไหน หมอนรองกระดูกแตก
คุณเคยมีอาการปวดเนื้อปวดตัวและร้าวลงไปที่ขาบ้างไหมคะ ถ้าเคย คุณคงเริ่มสงสัยว่าตัวเองอาจมีอาการ “กล้ามเนื้ออักเสบ” แต่ช้าก่อน อาการปวดเนื้อตัวเปล่านี้ อาจไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบเท่านั้น แต่ยังอาจหมายถึงคุณกำลังมีอาการ “หมอนรองกระดูกแตก” ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงกว่าอาการกล้ามเนื้ออักเสบธรรมดาอย่างแน่นอน
ความปวดที่แตกต่าง
เริ่มสงสัยกันแล้วใช่ไหมคะว่า อาการปวดแบบไหนเกิดจากอาการหมอนรองกระดูกแตก แบบไหนเกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบ นายแพทย์ ดร.ฉกาจ ผ่องอักษร ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีคำตอบค่ะ
“อาการปวดที่เกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบนั้น ผู้ป่วยสามารถบอกตำแหน่งที่รู้สึกปวดได้ มีจุดกดเจ็บ คลำได้ว่าเจ็บบริเวณไหน ซึ่งก็คือบริเวณที่เกิดกล้ามเนื้ออักเสบ ส่วนอาการปวดที่เกิดจากหมอนรองกระดูกแตก จะมีอาการปวดชัดเจนมากกว่ากล้ามเนื้ออักเสบ”
“โดยระยะแรกผู้ป่วยจะรู้สึกปวดหนักๆ และมีอาการปวดร้าวลงขา อาจมีอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย”
สำหรับความรุนแรงของอาการหมอนรองกระดูกแตก คุณหมอฉกาจสรุปว่า สามารถแบ่งได้ 2 ระดับ คือ ระดับไม่รุนแรงและระดับรุนแรง โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
“กรณีที่ไม่รุนแรงคือ มีการปริของหมอนรองกระดูก ทำให้สารเคมีที่อยู่ในหมอนรองกระดูกไหลออกมามาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดในบริเวณดังกล่าว แต่อาการปวดจะหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์”
“ส่วนกรณีที่มีการแตกรุนแรงคือ มีการแตกของหมอนรองกระดูกจนไปกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะรู้สึกชาและอ่อนแรงที่ขา ถ้าปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาการชาและอ่อนแรงที่ขาเป็นมากขึ้น ในที่สุดกล้ามเนื้ออาจลีบ ฟื้นตัวไม่ได้”
อย่าละเลยความปวด ก่อนอาการลุกลาม
ไม่ว่าอาการปวดจะเกิดกล้ามเนื้ออักเสบหรือหมอนรองกระดูกแตก คุณหมอฉกาจแนะนำว่า ต้องให้ความสำคัญและรีบเข้ารับการรักษา
“สำหรับอาการปวดที่เกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบ หากผู้ป่วยยังคงทำกิจกรรมซ้ำๆ แบบเดิมทุกวัน อาการปวดจะลุกลามไปยังบริเวณอื่น เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณที่อักเสบไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ กล้ามเนื้อบริเวณอื่นจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือ”
ส่วนวิธีการรักษาอาการปวดเกี่ยวกับกล้ามเนื้ออักเสบและหมอนรองกระดูกแตกนั้น คุณหมอฉกาจแนะนำดังนี้
“ในเบื้องต้น หากยังไม่สามารถวินิจฉัยอาการได้แน่ชัด แพทย์จะรักษาไปตามอาการ นั่นคือให้ยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งไม่ใช่การรักษาที่ผิด เพราะผู้ป่วยอาจเป็นเพียงอาการกล้ามเนื้ออักเสบ แต่สิ่งที่ผู้ป่วยต้องระวัง คือ เมื่อพบแพทย์แล้วอาการไม่ดีขึ้น นั่นหมายความว่าควรต้องไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด เพราะหากปล่อยไว้นาน การรักษาจะยากขึ้น หรือต้องทำกายภาพบำบัดนานขึ้น”
หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และหาสาเหตุให้พบโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยเยียวยาโรคและอาการผิดปกติให้หายไปในเร็ววันค่ะ
นพ. ดร.ฉกาจ ผ่องอักษร
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล
(Some images used under license from Shutterstock.com.)