
© 2017 Copyright - Haijai.com
การดูแลรักษาแบบประคับประคอง
ปัจจุบันนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาแบบประคับประคองกันมาก เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง บ้างก็เข้าใจว่าการดูแลรักษาแบบประคับประคองคือ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ใกล้จะเสียชีวิตแล้ว บ้างก็ว่าการดูแลรักษาแบบประคับประคองนั้นเท่ากับเราไม่รักษาตัวโรคแล้ว
การดูแลรักษาแบบประคับประคองไม่ได้หมายถึงการดูแลในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต อย่างที่เข้าใจกันในอดีต แต่หมายถึง การดูแลสุขภาพทั้งทางด้านกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณให้แก่ผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยมุ่งเน้นเป้าหมายให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลมีความสุขสบาย และมีชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการดูแลจะเริ่มตั้งแต่รู้ผลการวินิจฉัย เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแลในการดูแลตัวโรค ระยะการรักษา ระยะสุดท้ายของชีวิต และหลังจากที่ผู้ป่วยเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งการดูแลรักษาแบบประคับประคองนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่ดูแลผู้ป่วยด้วย เนื่องจากผู้ที่ดูแลก็มีความเครียดเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นภาระหน้าที่การดูแลที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
เราสามารถนำการดูแลรักษาแบบประคับประคองมาผสมผสานกับการรักษาตัวโรคได้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเจ็บป่วยที่ลดลง และช่วยให้ผู้ป่วยได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในชีวิต นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยและผู้ที่ดูแลนั้น สามารถปรับตัวและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้
สำหรับหลักการดูแลนั้น เราจะเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางโดยยึดถือความสุขสบายของผู้ป่วยเป็นหลัก การนำครอบครัวเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการรักษา และให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง ไมว่าจะเป็นหลังจากที่ผู้ป่วยได้จากไปแล้ว เพื่อช่วยประคับประคองและช่วยเหลือครอบครัวของผู้ป่วย ให้ผ่านช่วงเวลาที่โศกเศร้าไปได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมืออีกมากมาย ที่จะช่วยให้การดูแลผ่านไปได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่น การเยี่ยมบ้าน การดูแลในสถานบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ มีความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกันออกไป
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หวังว่าทุกคนจะเปิดใจเกี่ยวกับการดูแลรักษา แบบประคับประคองมากขึ้น และร่วมมือกันเพื่อที่จะให้คนรอบข้างของเราก้าวผ่านช่วงเวลาที่ลำบากในชีวิต อย่างราบรื่นมายิ่งขึ้นนะครับ
นพ.สาโรจน์ หัตถกิจพาณิชกุล
(Some images used under license from Shutterstock.com.)