© 2017 Copyright - Haijai.com
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าในประเทศไทยมีผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงประมาณ 10 ล้านคน ซึ่ง 70% ของคนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว จึงไม่ได้รับการรักษาหรือเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้องเหมาะสม นำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หลอดเลือดสมองตีบ และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ พันธุกรรม โรคเบาหวาน โรคอ้วน น้ำหนักตัวเกิน โรคไตเรื้อรัง สูบบุหรี่ ติดสุรา กินอาหารเค็มสม่ำเสมอต่อเนื่อง ขาดการออกกำลังกาย และผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรัง คือ เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ยาก แต่สามารถควบคุมอาการได้ ถ้าเริ่มต้นดูแลรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด กินยาสม่ำเสมอ จำกัดอาหารแป้ง น้ำตาล ไขมัน และอาหารเค็ม ออกกำลังกายตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เลิกบุหรี่ เลิกสุรา พบแพทย์ตามนัดเสมอ และต้องรีบมาพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่
• ปวดศีรษะมาก
• เหนื่อยมากกว่าปกติมาก
• นอนราบไม่ได้
• ลุกมาหอบ
• เหนื่อยตอนกลางคืน
• เท้าบวม
• ปัสสาวะออกน้อยลง (อาการของโรคหัวใจล้มเหลว)
• เจ็บแน่นหน้าอก
• ใจสั่น
• เหงื่อออกมาก
• จะเป็นลม (อาการจากโรคหลอดเลือดหัวใจ)
• แขนขาอ่อนแรง
• พูดไม่ชัด
• ปากเบี้ยว
• คลื่นไส้ อาเจียน (อาการจากโรคหลอดเลือดสมอง)
แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง คือ การให้ยาลดความดันโลหิต การรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงและเป็นสาเหตุ การรักษาและป้องกันผลข้างเคียงจากโรคความดันโลหิตสูง และการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ การให้ยาลดความดันโลหิต ซึ่งมีหลากหลายชนิดทั้งชนิดกินและชนิดฉีด ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ การรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุและการรักษาผลข้างเคียงจากโรคความดันโลหิตสูง เช่น การรักษาโรคไตเรื้อรัง (โรคไตเป็นได้ทั้งสาเหตุและผลข้างเคียงจากโรคความดันโลหิตสูง)
ร่วมกันใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองและคนใกล้ชิด เริ่มตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะสายเกินไป
พญ.เมธาวีส์ เชาวลิต
(Some images used under license from Shutterstock.com.)