© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคตับ ป้องกันดีรักษาได้
ตับเปรียบได้กับโรงงานขนาดใหญ่ที่เป็นทั้งแหล่งผลิต แหล่งสะสมพลังงาน และโรงงานกำจัดของเสีย อาหารทุกชนิดที่ผ่านการย่อยและดูดซึมมาจากกระเพาะอาหารและลำไส้ จะถูกส่งมาที่ตับเพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ของร่างกาย นอกจากนี้ตับยังเป็นโกดังเก็บสะสมสารอาหารต่างๆ ไว้ใช้ในยามจำเป็นอีกด้วย ทั้งยังรับของเสียจากที่ต่างๆ ของร่างกาย ที่ผ่านมากับเลือดเข้าสู่เซลล์ตับ เพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นโมเลกุลหรือสารที่เหมาะสม และกำจัดออกทางท่อน้ำดี
ดังนั้น ถ้าตับถูกทำลายเสียไป 60-70% จะเริ่มเกิดอาการต่างๆ ได้แก่ ตาเหลือง ตัวเหลือง บวม มีน้ำในช่องท้อง ซึม สับสน อาเจียนเป็นเลือด ถ้ารุนแรงมากอาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของตับ จึงได้เรียนเชิญ นพ.ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ อายุรแพทย์โรคตับและการเปลี่ยนตับ ศูนย์โรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาบอกเล่าเรื่องราวความรู้และอัพเดตสถานการณ์โรคตับในปัจจุบันให้เราได้ทราบ
โรคของตับ
โรคเกี่ยวกับตับมีมากมาย ที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ ก็เช่น มะเร็งตับ ก้อนในตับ ถุงน้ำในตับ และอีกหนึ่งโรคที่เป็นเหมือนสนิมคอยกัดกร่อนตับคนไทยมาช้านาน คือ “โรคตับอักเสบ” และเนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกเฉพาะบริเวณเปลือกหุ้มตับเท่านั้น ร่างกายจึงไม่รับรู้ถึงอาการอักเสบที่เกิดขึ้นภายในตับ เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะจะเกิดพังผืดในเนื้อตับ ถ้าเป็นซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นนานวันเข้า ก็จะตามมาด้วยภาวะที่เรียกว่า “ตับแข็ง” โดยตับจะเริ่มโตขึ้นและค่อยๆ หดตัวลงเป็นตะปุ่มตะป่ำขรุขระ หากปล่อยทิ้งไว้จะเข้าสู่ตับแข็งระยะท้าย ตับจะเริ่มสูญเสียการทำงานและแสดงอาการออกมาให้เห็น เช่น หลังเท้าบวม (ถ้าเอานิ้วไปกดบริเวณนั้นแล้วยกนิ้วขึ้น ก็จะยังปรากฏเป็นหลุมตามรอยนิ้วที่กดลงไป) ท้องบวมมีน้ำในช่องท้อง หลายคนมาด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลผ่านตับได้ จึงไหลย้อนกลับไปในหลอดอาหาร เกิดหลอดเลือดโป่งพอง เรียกว่า “หลอดเลือดขอดในหลอดอาหาร” ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้หลอดเลือดจะแตกออก เลือดเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหาร เมื่อมีปริมาณมากขึ้นจะอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายออกมาเป็นเลือดสีดำ ถ้าเป็นรุนแรงมากจะเกิดอาการทางสมอง เนื่องจากมีของเสียไปคั่วอยู่ ผู้ป่วยอาจจะเริ่มนอนไม่หลับ สับสน หลงลืม อารมณ์ดีผิดปกติ อารมณ์ร้ายผิดปกติ ลืมญาติพี่น้องและคนในครอบครัว ซึมลง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 10-30 ปี ตั้งแต่เริ่มตับอักเสบ
ส่วนการเกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับนั้นต้องขอบอกว่า “เป็นคนละเรื่องเดียวกัน” หมายความว่า ผู้ป่วยมักจะมาด้วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง จากนั้นจึงเกิดพังผืด และตับแข็งตามลำดับ บริเวณพังผืดจะเป็นจุดกำเนิดของก้อนมะเร็ง โดยก้อนมะเร็งจะค่อยๆ ขึ้น จากที่มองไม่เห็นเป็นขนาด 1 เซนติเมตร จนถึงประมาณ 8-10 เซนติเมตร ซึ่งจนถึงระยะนี้ร่างกายจะยังไม่แสดงอาการใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งมะเร็งโตเต็มตับ จึงเริ่มมีอาการแสดงออกมาให้เห็น เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลด เลือดออกในช่องท้อง จึงได้รู้ว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ
ดังนั้น เรามักจะได้ยินว่าคนที่เป็นมะเร็งตับจะเสียชีวิตภายใน 3 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะกว่าจะรู้ตัวมะเร็งก็เต็มตับแล้ว แต่ถ้าไปตรวจและพบว่ามีก้อนมะเร็งที่ขนาดยังไม่เกิน 5 เซนติเมตร สามารถรักษาให้หายขาดได้
ตับอักเสบ
เราสามารถแบ่งตับอักเสบได้เป็น 2 ระยะ คือ ตับอักเสบเฉียบพลัน หมายถึง ตับอักเสบที่เกิดขึ้นและหายภายใน 6 เดือน และ ตับอักเสบเรื้อรัง หมายถึง ตับอักเสบที่เป็นนานกว่า 6 เดือน สาเหตุของการเกิดตับอักเสบทั้ง 2 ระยะ ค่อนข้างคล้ายคลึงกันในประเทศไทย สาเหตุของการเกิดโรคตับอักเสบเฉียบพลันที่พบบ่อย ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ การใช้ยาและสารที่เป็นพิษต่อตับ และการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
• ไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี ที่น่ากังวลคือ ไวรัสตับอักเสบอี เนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักทั้งในหมู่ประชาชนและแพทย์บางส่วน ทั้งยังพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบอีถูกมองว่าเป็นไวรัสตัวใหม่ แต่ในความเป็นจริงไวรัสชนิดนี้มีในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปีแล้ว เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางอาหาร เดิมทีพบได้ในแถบอินเดีย จีน บังคลาเทศ ปากีสถาน ฯลฯ ปัจจุบันพบเชื้อไวรัสตับอักเสบอีในประเทศไทยแล้ว แต่เป็นเชื้อคนละสายพันธุ์กับต่างประเทศ โดยจะพบเชื้อในสัตว์ ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เช่น หมู หมูป่า กวาง และสัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิด การเกิดโรคในคนนั้น ผู้ป่วยหลายรายมีประวัติสัมผัสหรือรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ซึ่งเป็นเหตุของการติดเชื้อได้ จึงควรรับประทานอาหารที่สุกสะอาด ถูกสุขอนามัยและใช้ช้อนกลางทุกครั้งที่ต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
การติดเชื้อจะหายขาดได้ในผู้ป่วยทั่วไปภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ผู้ป่วยหลายรายอาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยเอดส์ อาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังจนกระทั่งตับแข็ง และเสียชีวิตได้
• การใช้ยา เป็นสาเหตุของตับอักเสบเฉียบพลันที่พบรองลงมา ยาในที่นี้หมายถึงยาที่แพทย์ใช้ในการรักษา ยาต้ม ยาหม้อ สมุนไพร อาหารเสริม และยาบำรุงทุกชนิด โดยเฉพาะวิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพรบำรุงต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดตับอักเสบได้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่รับประทนของพวกนี้เข้าไป จะเกิดปัญหา แต่ในบางคนก็อาจจะเกิดปัญหาต่อตับได้ ต้องระวัง
• การดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าดื่มปริมาณมาก สามารถทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันได้ แต่คนที่ดื่มปริมาณปานกลางถึงมาก ดื่มเป็นระยะเวลานาน ในที่สุดจะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง และตับแข็งต่อไปอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโรคที่เป็นสาเหตุของตับอักเสบ เช่น โรคภูมิต้านทานต่อตับ โรคธาตุเหล็กและธาตุทองแดงสะสมในตับ เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ถ้าเวลาผ่านไป 6 เดือนแล้ว ตับยังคงอักเสบอยู่ก็จะกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง สาเหตุของโรคตับอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยในบ้านเรามักมาจาก 4 สาเหตุหลัก คือ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี การดื่มแอลกอฮอล์และไขมันแทรกตับ
• ไขมันแทรกตับ เป็นอีกหนึ่งโรคที่ทำให้เกิดตับอักเสบแบบเรื้อรัง ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ซึ่งถ้าปล่อยไว้จะดำเนินโรคกลายไปสู่ภาวะตับแข็ง และเกิดเป็นมะเร็งตับในภายหลังได้ ผู้ที่อ้วน น้ำหนักเกิน เป็นเบาหวาน ไขมันจะไปแทรกอยู่ตามส่วนต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งในเนื้อตับ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าไขมันแทรกตับเกิดจากการที่เรากินไขมันมาก จึงลดการบริโภคไขมันเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะการลดไขมันเพียงอย่างเดียว โดยไม่ลดคาร์โบไฮเดรตหรืออาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล สุดท้ายก็จะตามมาด้วยโรคอ้วน น้ำหนักเกิน เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ และไขมันแทรกตับอยู่ดี
ในประเทศไทยมีประชากรวัยผู้ใหญ่อยู่ประมาณ 40 ล้านคน คาดว่ามีประมาณ 5 ล้านคนที่มีโรคตับซ่อนอยู่ หรือคิดเป็น 1 ใน 10 เพราะฉะนั้นหน้าที่สำคัญของเราคือ การไปตรวจสุขภาพตับ อย่ารอให้โรคตับถามหา ควรรีบไปตรวจเช็ค โดยแจ้งกับแพทย์ว่ามาตรวจตับ หากพบว่าเป็นตับอักเสบหรือมีโรคตับอื่นๆ ไม่ควรกังวลจนเกินไป เพราะปัจจุบันโรคตับสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบซี
ปัจจุบันคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กำหนดให้การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง รวมทั้งสิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม สามารถรับการรักษาไวรัสตับอักเสบซีได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งยาที่ใช้มีอัตราการรักษาหายขาดค่อนข้างสูง แม้จะมีภาวะแทรกซ้อนอยู่บ้าง แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา หลายท่านอาจจะได้ยินข่าวยาเม็ดละ 30,000 บาท ที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี โดยต้องกินยานานประมาณ 3 เดือน อัตราการรักษาหายขาดอยู่ที่ 90-100% ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ยาชนิดดังกล่าวจะได้บรรจุเข้าในรายชื่อบัญชียาหลักแห่งชาติหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ ในอนาคตไวรัสตับอักเสบซีจะหมดไปอย่างแน่นอน
สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้คือ ธรรมชาติได้สร้างให้ตับของเรามีความแข็งแรงดีอยู่แล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องหาอะไรมาบำรุงตับ ยุคนี้สมัยนี้ผู้คนนิยมสรรหาสิ่งต่างๆ มาบำรุงร่างกายกันมาก ซึ่งสุดท้ายอาจต้องมาจบลงที่โรงพยาบาล เนื่องจากเกิดภาวะตับอักเสบ ตับวาย และถ้ารุนแรงมากก็อาจจะถึงขั้นเสียชีวิต
นพ.ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์
อายุรแพทย์โรคตับและการเปลี่ยนตับ ศูนย์โรคตับ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)