Haijai.com


แสงแดดก่อมะเร็ง


 
เปิดอ่าน 2172

แสงแดดร้ายลึก

 

 

แสงแดดก่อมะเร็ง

 

เรื่องแสงแดดทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังเป็นที่รู้กันมานานแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าความเสียหายของเซลล์ผิวหนังจากแสงแดดนั้นมีมากและลึกกว่าที่เคยรับรู้กันมา โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักวิจัยชาวอังกฤษได้รายงานผลการศึกษาในวารสาร Science ว่า 1 ใน 4 ของเซลล์ผิวหนังของคนวัยกลางคน มีความเสียหายเกิดขึ้นที่สารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) เนื่องจากแสงแดด แม้ว่าลักษณะภายนอกจะดูปกติ แต่ภายในเซลล์มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่มะเร็งขั้นแรกแล้ว

 

 

ทีมนักวิจัย นำโดย ปีเตอร์ แคมป์เบลล์ นักพันธุกรรมมะเร็งจากสถานบัน Wellcome Trust Sanger Institute ประเทศอังกฤษ ได้ทำการศึกษาผลกระทบของแสงแดดต่อหนังตาบนของคน 4 คน ซึ่ง 3 ใน 4 เป็นคนยุโรปตะวันตก อีกหนึ่งคนที่เหลือเป็นคนเชื้อสายเอเชียใต้ เขาพบว่าแม้ลักษณะเซลล์ภายนอกจะดูปกติ แต่ภายในมีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม (mutation) ที่เกี่ยวเนื่องกับมะเร็งมากกว่าที่เขาเคยคาดคิด โดยกลุ่มเซลล์ (clone) หลายกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอปรากฏในเซลล์ผิวหนังนับพันบนพื้นที่ผิวหนัง 65 ตารางมิลลิเมตร แม้ว่างานวิจัยนี้จะไม่สามารถสรุปได้ว่าเซลล์เหล่านั้นได้กลายไปเป็นมะเร็งหรือเปล่า หรือมีคนเชื้อชาติอื่นใดบ้างที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ แต่ข้อมูลนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เตือนเราให้ระวังและป้องกันแสงแดดไว้

 

 

ดักลาส แบร็ช นักชีวฟิสิกส์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ผู้ซึ่งได้ทำการศึกษาผลเสียของรังสีอัลตราไวโอเลตต่อเซลล์มาเป็นเวลากว่า 40 ปี ได้เขียนบทวิจารณ์ถึงงานวิจัยข้างต้นไว้ ข้อมูลที่พบเป็นสิ่งเตือนใจให้คนเราตระหนักถึงอันตราย ที่อาจจะเกิดขึ้นจากแสงแดดให้มากกว่านี้ โดยเน้นว่าสิ่งที่สำคัญมากคือการปกป้องเด็กเล็ก เพราะดีเอ็นเอมีความเสี่ยงที่จะเสียหายจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดมากกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เขากล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ว่าคนเราจะมีความสามารถในการซ่อมแซมความเสียหายจากแสงแดดได้ดีถึง 99.9% แต่บางครั้งจะมีเซลล์เล็ดรอดไปและเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้

 

 

นอกจากนี้เมื่อ 25 ปีก่อน แบร็ชยังได้ศึกษาวิจัยเรื่องมะเร็งผิวหนังในชาวนิวอิงแลนด์และสวีเดนจำนวน 24 คน และพบว่ารังสีอัลตราไวโอเลตทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยีน p53 ซึ่งเป็นยีนที่ทำหน้าที่ต้านการเกิดมะเร็ง เมื่อ p53 เปลี่ยนแปลงไป เซลล์จึงกลายเป็นมะเร็งง่ายขึ้น เขาจึงแนะนำให้ป้องกัน

 

 

เลือกใช้ครีมกันแดด

 

จากการสำรวจความคิดเห็นของคน 114 คนในมลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Dermatology พบว่า 57% ของผู้ตอบแบบสำรวจไม่มีความรู้ เรื่องครีมกันแดดและค่า SPF (sun protection factor) ที่มีระบุไว้บนผลิตภัรฑ์เลย ค่า SPF เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าครีมนั้นมีคุณสมบัติในการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตและป้องกันความเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนังได้มากแค่ไหน คนสหรัฐฯ ใช้ครีมกันแดดอย่างที่กล่าวมานี้แค่ 1 ใน 3 เท่านั้น

 

 

อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรพึ่งพิงครีมกันแดดมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นครีมกันแดดที่มีค่า SP 30 หรือมากกว่า ผู้บริโภคหลายคนเข้าใจผิดว่าการซื้อครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากๆ เช่น SPF 70 หรือ SPF 100 จะมีฤทธิ์ป้องกันแสงแดดได้มากขึ้น แต่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริการะบุว่า SPF ที่มากกว่า 50 ไม่ได้เพิ่มการป้องกันมากขึ้น จากการศึกษาของกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทำการศึกษาครีมกันแดดที่ขายกันอยู่พบว่า ครีมกันแดดที่มีสารซิงค์ออกไซด์และไทเทเนียมออกไซด์ เป็นครีมที่ดี มีข้อเสียน้อย สามารถป้องกันแดดได้ดี

 

 

นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้กันว่า แสงแดดยังมีผลทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัย ความสวยใสเสื่อมทรุด และทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลงอีกด้วย สรุปแล้วแสงแดดแม้ว่าจะมีประโยชน์ในแง่ทำให้ร่างกายสร้างวิตามินดี ซึ่งมีผลช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากอาหารมาเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง แต่ก็มีข้อเสียต่อสุขภาพได้ ถ้าตากแดดนานๆ เพราะทำให้เซลล์ในร่างกายเปลี่ยนไปในทางร้าย ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังมากขึ้น ท่านทั้งหลายที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งจึงควรตระหนักเอาไว้

 

 

นพ.นริศ เจนวิริยะ

ศัลยแพทย์

 

 

แสงแดดวายร้ายทำลายผิวลูก - เด็กโต - Haijai.com

 

แสงแดด UV ทำร้ายผิวได้มากกว่าที่คุณคิด - สุขภาพ - Haijai.com

 

เทคนิคทาครีมกันแดด ให้สวยเริ่ดรับลมร้อน - สุขภาพ - Haijai.com

 

แสงแดด ช่วยลดความดันโลหิต - สุขภาพ - Haijai.com

 

ภัยที่มาพร้อมกับแสงแดด - สุขภาพ - Haijai.com

 

5 ข้อผิดพลาดของครีมกันแดด ที่คุณอาจยังไม่รู้ SPF - สุขภาพ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)