© 2017 Copyright - Haijai.com
สนามแม่เหล็กไฟฟ้า วายร้ายล่องหน
รอบตัวเราเต็มไปด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ประกอบกับชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์ทำให้เราสัมผัสกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้ามากขึ้น ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์ ใช้โทรศัพท์มือถือ เล่นคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ได้ทำให้เกิดคำถามถึงผลด้านลบของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าต่อสุขภาพมนุษย์ งานวิจัยในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากับผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ อย่างไรก็ตามเราก็ควรระมัดระวังเอาไว้บ้าง เพราะมีข้อมูลบางแหล่งที่ระบุถึงผลเสียของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าต่อมนุษย์ เช่น รบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในเพศชาย เป็นต้น
การขยายตัวของเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสารทั้งในสายและไร้สาย ได้ทำให้ชีวิตมนุษย์สะดวกสบายอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามบางคนได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีเหล่านี้ว่า มีโทษต่อสุขภาพกายแฝงอยู่หรือไม่ ดังเช่นกรณีผลของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสิ่งเหล่านี้ต่อสุขภาพกาย
สนามแม่เหล็กไฟฟ้าคืออะไร
สนามแม่เหล็กไฟฟ้าประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 อย่างคือ สนามไฟฟ้าซึ่งเกิดขึ้นจากความต่างศักย์ของไฟฟ้า ในขณะที่สนามแม่เหล็กเกิดจากการไหลของกระแสไฟฟ้าในธรรมชาติ เราสามารถพบสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้ เช่น ประจุไฟฟ้าระหว่างการเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หรือสนามแม่เหล็กโลกที่ทำให้เข็มทิศชี้ไปทิศเหนือ ส่วนสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่นอกเหนือจากนี้ จะพบได้จากเสาอากาศของการส่งวิทยุ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ตลอดจนรังสีที่ใช้ในการแพทย์และอุตสาหกรรม เช่น รังสีเอกซ์ หรือรังสีแกมมา เป็นต้น
สนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้ามีข้อแตกต่างกัน ได้แก่
• สนามแม่เหล็กจะปรากฏเฉพาะเมื่อมีการไหลของกระแสไฟฟ้า (ต้องมีการเปิดใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า) ขณะที่สนามไฟฟ้าจะปรากฏขึ้นเมื่อมีความต่างศักย์ของไฟฟ้า จึงทำให้แม้อุปกรณ์ยังปิดอยู่ (แต่ไม่ได้ถอดปลั๊ก) ก็ยังมีสนามไฟฟ้าปรากฏ
• สนามไฟฟ้าสามารถถูกปิดกั้นโดยโลหะที่เป็นตัวนำอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างอาคารและต้นไม้ ในขณะที่สนามแม่เหล็กไม่ถูกปิดกั้นโดยวัสดุโดยทั่วไป
พลังงานของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นกับความถี่ของสนามดังกล่าว ความถี่ยิ่งมีค่ามากพลังงานก็ยิ่งมีค่ามาก เราจึงอาจจำแนกสนามแม่เหล็กไฟฟ้าตามระดับพลังงาน หรือความถี่ออกได้เป็น 2 พวก คือ
1.กลุ่มที่ทำให้เกิดการแตกตัวเป็นประจุ ได้แก่ รังสีเอกซ์ และรังสีแกมมา กลุ่มนี้มีความถี่สูง
2.กลุ่มที่ไม่ทำให้เกิดการแตกตัวเป็นประจุ ได้แก่ สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นระหว่างการส่งไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้า คลื่นวิทยุ รังสีอินฟราเรด รังสีอัลตราไวโอเลต เป็นต้น กลุ่มนี้มีความถี่ต่ำ
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อความแรงของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า คือ ระยะทางจากแหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ยิ่งไกลความแรงก็ยิ่งลดลง ดังเช่น สนามแม่เหล็กที่มีความแรงที่แหแล่งกำเนิด 800 แอมแปร์ต่อเมตร เมื่ออยู่ห่างจากแหล่งกำเนิด 30 เซนติเมตร ความแรงของสนามแม่เหล็กอาจจะลดลงเหลือต่ำกว่า 30 แอมแปร์ต่อเมตร
ผลต่อสุขภาพ
ดังที่กล่าวไว้แล้วว่ารอบตัวเราเต็มไปด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่ว่าจะเดินไปในเมือง ดูโทรทัศน์ คุยผ่านโทรศัพท์มือถือ เล่นคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ก็ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งสิ้น จึงมีผู้สงสัยว่าการที่เราได้รับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำๆ ในชีวิตประจำวันต่อเนื่อง จะเกิดผลลบต่อสุขภาพ เช่น ทำให้ปวดศีรษะ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง หรือทำให้เกิดความร้อนขึ้นจนเป็นอันตรายแก่อวัยวะในร่างกายหรือไม่
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เราได้รับในชีวิตประจำวัน ยังไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติใดๆ ของร่างกาย (แต่ก็เป็นประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์ยังต้องศึกษาต่อไป) อีกทั้งสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เราเจอในชีวิตประจำวัน ก็มีขนาดต่ำกว่าขนาดสูงสุดที่อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ ดังเช่นการสำรวจในเยอรมนีพบว่าขนาดสนามแม่เหล็กที่ประชาชนได้รับในชีวิตประจำวันอยู่ที่ 0.10 ไมโครเทสลา ซึ่งต่ำกว่าขีดจำกัดที่กำหนดไว้ที่ 100 ไมโครเทสลา นอกจากนี้แม้ว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ จะได้รับคลื่นความถี่วิทยุมากกว่าที่พบในสภาพแวดล้อมทั่วไป แต่การศึกษาพบว่าพลังงานที่ร่างกายดูดซับจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของโทรศัพท์มือถือไม่เกินค่ามาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน เรื่องที่ส่งต่อกันว่าใช้โทรศัพท์มือถือแล้วจะทำให้ “สมองไหม้” จึงเป็นไปไม่ได้ และยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันถึงผลเสียของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อด้านอื่นๆ ของสุขภาพมนุษย์ (ถึงกระนั้นการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป ก็อาจเกิดผลเสียต่อชีวิตจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่สนามแม่เหล็กไฟฟ้า)
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางแหล่งได้ระบุถึงผลในด้านลบของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าต่อชีวิตมนุษย์ เช่น สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากภายนอกอาจรบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ แต่ผลที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตเกิดขึ้นน้อยมาก หรือการวิเคราะห์ผลจากงานวิจัยทางระบาดวิทยาจำนวน 18 งาน โดยคณะนักวิจัยชาวจีนพบว่า การได้รับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในเพศชายถึง 32% เหตุผลอาจจะมาจากการที่สนามแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนการสร้างเมลาโทนิน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม
พวกเราในฐานะคนรักสุขภาพยุคโลกาภิวัตน์ก็ควรมีท่าทีระมัดระวัง (แต่ไม่ตื่นตระหนก) เอาไว้ก่อนจะดีกว่า ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าตามความจำเป็น ดูแลสุขภาพให้ดีด้วยวิธีการต่างๆ และหมั่นติดตามความรู้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อการก้าวไปกับเทคโนโลยีอย่างเป็นสุขทั้งกายและใจ
ภก.พลกิตต์ เบศรภิญโญวงศ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)