Haijai.com


ขึ้นวอร์ด ตึกผู้ป่วยใน


 
เปิดอ่าน 32600

ขึ้นวอร์ด

 

 

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน เราจะมาพาท่านไปดูส่วนที่ทุกๆ คนที่เคยไปโรงพยาบาล ก็น่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือสถานที่ซึ่งเป็นที่พักของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ตึกผู้ป่วยใน หรือ “วอร์ด (ward)” นั่นเองค่ะ

 

 

สำหรับตึกผู้ป่วยใน หลายคนอาจจะคิดว่าไม่ค่อยได้เห็นหน้าเห็นตาของหมอสักเท่าไหร่ ราวกับว่าหมอแค่เพียงเข้ามาดูผู้ป่วยวันละครั้งสองครั้ง ก็หายหน้าหายตาไป ทิ้งผู้ป่วยไว้กับคุณพยาบาล แท้ที่จริงแล้ว...หมอหายไปทำอะไร และทำไมผู้ป่วยจึงต้องมานอนในโรงพยาบาล?

 

 

เชื่อหรือไม่ว่าถึงแม้ศาสตร์การรักษาความเจ็บป่วยต่างๆ จะมีมานานนับพันปีแล้ว แต่สถานพยาบาลในลักษณะที่รับผู้ป่วยเอาไว้พักรักษาตัว เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง โดยก่อนหน้านั้นแพทย์จะเป็นฝ่ายเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้านด้วยตัวเอง จนกระทั่งในยุคต่อมาปริมาณผู้ป่วยมีมากขึ้น สถานพยาบาลในลักษณะที่รับผู้ป่วยมานอนค้างคืน จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วยที่จะได้รับการดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา และแพทย์จะได้ไม่ต้องเดินทางไปตามบ้านของผู้ป่วย ซึ่งนับวันมีแต่จะมากขึ้นๆ เป็นต้น กำเนิดของโรงพยาบาลอย่างที่เห็นในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า ส่วนผู้ป่วยในนั้นมีความเก่าแก่อยู่คู่มากับการก่อตั้งโรงพยาบาลเลยทีเดียว

 

 

“วอร์ด” หรือหอผู้ป่วยใน เป็นส่วนที่ผู้ป่วยมานอนค้างรักษาตัวด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิเช่น ต้องการการดูแลสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ต้องมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือด ต้องมีการพยาบาลด้วยเครื่องมือพิเศษที่ไม่สามารถให้กลับไปทำที่บ้านได้ หรือมาเพื่อรอหรือพักฟื้นหลังผ่าตัด

 

 

เมื่อผู้ป่วยคนหนึ่งถูกส่งเข้ามาในหอผู้ป่วย บุคคลแรกที่ผู้ป่วยและญาติจะได้พบก็คือพยาบาลประจำวอร์ด ซึ่งจะมาต้อนรับและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการนอนโรงพยาบาล มีการให้ยาและให้น้ำเกลือในเบื้องต้น หลังจากที่ได้รับการต้อนรับและพักผ่อนสักครู่ โดยมากก็จะมีแพทย์ประจำหอผู้ป่วยมาทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายอีกครั้งอย่างละเอียด เนื่องจากผู้ป่วยที่ถูกแอดมิทหรือส่งเข้ามานอนรักษาในหอผู้ป่วย มักจะมาจากห้องฉุกเฉิน หรือห้องตรวจผู้ป่วยนอก ซึ่งมักจะไม่ได้มีเวลาในการถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดชนิดครบจบตามตำรา ดังนั้น เมื่อขึ้นมาถึงหอผู้ป่วยแล้วก็มักจะต้องเริ่มทำการตรวจใหม่ ขอให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจและให้ความร่วมมือกับการตรวจ เพราะการตรวจร่างกายอย่างละเอียดครบถ้วนนั้น จะนำไปสู่การวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งการวินิจฉัยที่ถูกต้องก็จะนำไปสู่การรักษาที่ได้ผลในระยะยาว ไม่ใช่แค่เพียงรักษาตามอาการไปอย่างเฉพาะหน้าเท่านั้น

 

 

เมื่อเข้ามาอยู่ในหอผู้ป่วยแล้ว คุณจะพบกับเหตุการณ์เหล่านี้

 

 การ “ราวน์”

 

ในระหว่างที่พักรักษาในโรงพยาบาล แต่ละวันจะมีแพทย์มาเยี่ยม หรือที่เรียกว่า “ราวน์วอร์ด” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่อยู่คู่กับโรงพยาบาลมาอย่างยาวนาน ในการราวน์วอร์ดแต่ละครั้งทีมผู้ที่เข้าร่วมมักจะประกอบด้วย แพทย์เจ้าของไข้ พยาบาล อาจมีนักศึกษาแพทย์คอยเดินตาม ดูการราวน์และเรียนรู้จากผู้ป่วย ถือเป็นระบบหนึ่งของการเรียนแพทย์ ระหว่างการเยี่ยมผู้ป่วยจะมีการไต่ถามอาการต่างๆ ว่ากินได้หรือไม่ เจ็บปวดไม่สบายตัวตรงไหนประกอบไปกับการดูค่าสัญญาชีพต่างๆ ในแฟ้มประวัติประกอบกัน เพื่อตัดสินใจหาแนวทางการรักษาต่อไป ซึ่งโดยมากการราวน์วอร์ดมักจะเริ่มตั้งแต่เช้า อาจจะเช้าตรู่ตีห้าถึงหกโมงก็มี ขึ้นอยู่กับกิจกรรมระหว่างวันของแพทย์ว่ายุ่งแค่ไหน แต่โดยมากแล้วมักจะเริ่มราวน์เวลาเจ็ดโมงเช้าโดยประมาณ

 

 

หลังจากการราวน์เช้าจบลง แพทย์ก็มักจะสั่งการรักษาต่างๆ เอาไว้ และมุ่งหน้าไปทำงานอย่างอื่นต่อ (ออกตรวจผู้ป่วยนอก ไปห้องผ่าตัด หรือไปราวน์ที่อื่นๆ) ส่วนการรักษาต่างๆ เหล่าพยาบาลประจำตึกจะเป็นผู้นำไปดำเนินการต่อ เช่น เจาะเลือด ส่งผู้ป่วยไปถ่ายเอกซเรย์ให้ยา หรือส่งไปผ่าตัดต่อไป

 

 

 การวัดสัญญาณชีพ

 

แต่ละวันนอกจากการให้ยาและการรักษาต่างๆ แล้ว ยังมีการวัดสัญญาณชีพเป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญของกิจกรรมที่ทำในหอผู้ป่วยใน โดยมากการวัดสัญญาณชีพจะประกอบด้วยชีพจร ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และการเต้นของหัวใจ การวัดสัญญาณชีพมักจะทำทุกๆ 4 ชั่วโมง เพื่อติดตามดูความเป็นไปของผู้ป่วย

 

 

 แพทย์ต่างแผนกมาเยี่ยมไข้

 

เพราะผู้ป่วยหนึ่งคนอาจจะไม่ได้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่มีโรคประจำตัวมากมาย มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่ต้องได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญแผนกอื่นๆ ซึ่งแพทย์เจ้าของไข้ก็จะเขียนปรึกษาไปยังแพทย์ที่ชำนาญในเรื่องนั้นๆ ให้แวะเวียนเข้ามาช่วยดูอาการและรักษาร่วมกัน

 

 

 การเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์

 

จะเห็นได้อย่างชินตา โดยเฉพาะถ้าคุณพักรักษาตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีนักศึกษาแพทย์มาฝึกงาน เพื่อจะได้เป็นหมอเต็มตัว การเรียนการสอนในหอผู้ป่วยนี้ เป็นหนึ่งในการเรียนที่มีมาเป็นระยะเวลายาวนาน เรียกว่า การสอนข้างเตียงหรือ “Bed side teaching” เป็นการเรียนการสอนที่สำคัญมาก เนื่องจากภาวะบางอย่าง หรือการตรวจร่างกายบางอย่างต้องใช้ประสบการณ์ในการตรวจ การได้มาเรียนรู้จากผู้ป่วยจริงๆ สัมผัสของจริงโดยมีอาจารย์หมอ คอยยืนแนะนำอยู่ใกล้ๆ ถือเป็นการเรียนที่ไม่มีตำราหรือหนังสือเล่มไหนจะมาทดแทนได้ และยังจำเป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

 

 แพทย์เวร

 

ปรากฏกายในยามค่ำคืน และจะปรากฏตัวเฉพาะเวลาคับขัน มาเมื่อพยาบาลเรียกหาความช่วยเหลือ อาทิเช่น มีผู้ป่วยหนักที่ต้องการการรักษาอย่างรีบด่วน ผู้ป่วยอาการเปลี่ยนแปลงต้องการการประเมิน อาจจะเป็นคนละคนกับแพทย์ เจ้าของไข้ หรือแพทย์ประจำหอผู้ป่วย แต่จะเป็นคนดูแลผู้ป่วยทุกคนในยามวิกาล ให้ทุกคนสามารถผ่านค่ำคืนนั้นๆ ไปได้ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้แพทย์เจ้าของไข้ ซึ่งจะมาราวน์ในเช้าวันรุ่งขึ้น

 

 

ดังนั้น หากมีความจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล คุณผู้อ่านก็คงจะทราบแล้วใช่ไหมคะว่า เกิดอะไรขึ้นในหอผู้ป่วยบ้าง

 

 

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

(Some images used under license from Shutterstock.com.)