Haijai.com


รวมฮิต เชื้อรา


 
เปิดอ่าน 1978

เรื่องราว เรื่องรา รวมฮิตเชื้อราผิวหนัง

 

 

รา เป็นจุลินทรีย์ มีทั้งชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดโรคและชนิดที่ก่อให้เกิดโรค พบโรคได้ทั้งในมนุษย์ สัตว์ และพืช สำหรับโรคในมนุษย์ การติดเชื้อราที่ผิวหนังเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย ในมุมของประชาชนทั่วไป การมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ น่าจะช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของเชื้อรา และหาทางระมัดระวังป้องกัน ไม่ให้เชื้อราก่อโรคเข้ามารุกรานร่างกายของเราได้ดีขึ้น

 

 

ประเทศของรา

 

ราเป็นจุลินทรีย์ จัดอยู่ในอาณาจักรรา (Kingdom Eumycota, Fungi) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

 

1.ราชนิดที่มีเซลล์เดียว เรียกว่า ยีสต์ (Yeast) มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

 

 

2.ราชนิดที่มีหลายเซลล์ เรียกว่า โหมด (Mold) มีทั้งชนิดที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลักษณะเป็นเส้นใย (hypha) โดยเส้นใยมีหน้าที่ยึดติดกับอาหารและสืบพันธุ์ เมื่อรวมกลุ่มจำนวจมากเป็นกระจุก หรือกลุ่มเส้นใย เรียกว่า ไมซีเลียม (mycelium) กลุ่มของไมซีเลียมที่เจริญบนผิวหน้าของอาหาร เรียกว่า โคโลนี (colony) เส้นใยแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ เส้นใยแบบมีผนังกั้น โดยเส้นใยแต่ละเซลล์จะมีผนังกั้นไว้ทำให้ดูลักษณะเป็นห้องๆ ในแต่ละเซลล์จะเชื่อมกันด้วยรูตรงกลางของผนังกั้น และเส้นใยแบบไม่มีผนังกั้น ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อทะลุถึงกันโดยตลอด ภายในมีนิวเคลียสและไซโตพลาสซึมกระจายอยู่ทั่วไป เส้นใยมีสีต่างๆ เช่น ขาว เขียว เหลือง แดง

 

 

3.ราเห็ด (Mushroom) ไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ ยกเว้นเกิดพิษจากเห็นมีพิษ ซึ่งหากบริโภคจะก่อให้เกิดพิษต่อร่างกาย มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

 

 

นอกจากนี้หากแบ่งเชื้อราตามแหล่งกำเนิดอาจแบ่งได้เป็น “เชื้อราบนบก” (terrestrial fungi) พบได้ทั่วไปในดิน และ “เชื้อราน้ำ” (aquatic fungi) ซึ่งมีทั้งเชื้อราน้ำจืดและเชื้อราน้ำเค็ม

 

 

โครงสร้างของรา

 

โครงสร้างของราประกอบด้วย

 

 ผนังเซลล์ ทำหน้าที่ห่อหุ้มป้องกันเซลล์ ทำให้เซลล์คงรูปร่างอยู่ได้ เป็นสารไคตินกับเซลลูโลส จะมีลักษณะหนาเป็นชั้นๆ แยกออกจากกันชัดเจน

 

 

 เซลล์เมมเบรน ทำหน้าที่ห่อหุ้มโปรโตพลาสซึม มี 2 ชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยส่วนหัวและหาง โดยส่วนหาง ซึ่งชอบน้ำจะอยู่ด้านนอก

 

 

 เอนโดพลาสมิกเรติคูลัม ทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีน มีในบางเซลล์ของเชื้อราไมโตคอนเดรีย ทำหน้าที่สร้างพลังงานให้แก่เซลล์ มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป ไมโตคอนเดรียในยีสต์มีรูปร่างค่อนข้างกลม

 

 

 ไรโบโซม มีหน้าที่สำคัญในการสังเคราะห์โปรตีน

 

 

 แวคิวโอล ทำหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำ มีลักษณะเป็นเมมเบรนชั้นเดียว เรียกว่า tonoplast ภายในมีเม็ดสีประกอบด้วยไกลโคเจน ซึ่งเป็นอาหารผสม ขณะที่แบ่งเซลล์ แวคิวโอลจะแบ่งตัวด้วย

 

 

 นิวเคลียส ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเซลล์ ผ่านการแสดงออกของยีน มีลักษณะตรงกลางเข้ม บริเวณรอบนอกจาง

 

 

การขยายพันธุ์

 

รามีการขยายพันธุ์ 2 แบบ คือ

 

 แบบอาศัยเพศ โดยเส้นใยหลอมรวมกัน เกิดการรวมตัวของนิวเคลียส แล้วจึงแบ่งเซลล์ เจริญเป็นสปอร์แบบอาศัยเพศที่มีรูปร่างต่างๆ กัน

 

 

 แบบไม่อาศัยเพศ ราส่วนใหญ่จะขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้

 

-เส้นใยหัก (fragmentation) เกิดจากเส้นใยหักเป็นส่วนๆ แล้วเจริญเป็นเส้นใยใหม่

 

 

-การแตกหน่อ (budding) โดยเซลล์แบ่งออกเป็นหน่อขนาดเล็ก เมื่อหน่อเจริญเต็มที่จะคอดเว้าขาดจากกัน และเจริญต่อไป

 

 

-การแบ่งตัวออกเป็น 2 ส่วน (fission) แต่ละเซลล์จะคอดเว้าตรงกลางและหลุดออกจากกันเป็น 2 เซลล์

 

 

-การสร้างสปอร์แบบไม่อาศัยเพศ เป็นการสืบพันธุ์แบบไม่มีเพศที่พบมากที่สุด

 

 

การดำรงชีวิต

 

รามีการดำรงชีวิตทั้งแบบอิสระและการดำรงชีวิตที่ก่อโรคทั้งในพืชและสัตว์ โดยการดำรงชีวิตแบบอิสระนั้น ราจะหลั่งเอนไซม์ออกนอกเซลล์ แล้วย่อยสลายสารอินทรีย์ที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ และซับซ้อนให้ได้โมเลกุลขนาดเล็ก แล้วจึงดูดซับเข้าไปในเซลล์

 

 

สภาพแวดล้อมในการเจริญของเรา

 

 อาหารที่จำเป็นในการเจริญของรา คือ กลูโคส ซึ่งจะเป็นแหล่งคาร์บอนและแหล่งพลังงาน

 

 

 อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของรา จะแตกต่างกัน โดยทั่วไปราจะเจริญเติบโตที่อุณหภูมิห้อง หรือประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ราบางชนิดสามารถเจริญเติบโตที่อุณหภูมิต่ำขนาดอุณหภูมิตู้เย็น ราบางชนิดเจริญได้ดีที่อุณหภูมิสูง 40-50 องศาเซลเซียส แต่ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ราทุกชนิดจะถูกทำลายหมด และที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส สปอร์จะตายหมด

 

 

 ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ราจะเจริญได้ในช่วง pH 2-10 แต่ pH ที่เหมาะสมจะอยู่ในภาวะกรดระหว่าง pH 4-6

 

 

ราก็เหมือนกับหลายสิ่งบนโลกใบนี้ที่มี 2 ด้าน คือ มีทั้งคุณและโทษ ราที่มีประโยชน์ก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น ราบางชนิดที่พบในดิน สามารถนำมาใช้ป้องกันและกำจัดวัชพืช เช่น หญ้าปากควาย หญ้าพง หญ้าขี้กรอก บางชนิดช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของด้วงมะพร้าว ราที่พบในมูลสัตว์ สามารถนำมาใช้ควบคุมโรคพืช

 

 

นอกจากนี้ราบางชนิดยังมีประโยชน์ทางการแพทย์อีกด้วย เช่น รา Penicillium notatum นำมาผลิตยาปฏิชีวนะเพนนิซิลิน ราบางชนิดถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยนำมาหมักทำเต้าเจี้ยวมิโซะ ซีอิ๊วแบบหมัก เนยแข็ง นอกจากนี้เห็ด ซึ่งเป็นราชั้นสูง ยังเป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดไมตาเกะ ใช้เสริมภูมิคุ้มกัน ต่อต้านไวรัส เห็ดหลินจือนำมาใช้บำรุงร่างกาย อย่างไรก็ตามยังมีราอีกจำนวนหนึ่งที่ก่อให้เกิดโทษต่อมนุษย์ ซึ่งมีทั้งก่อโรคบริเวณผิวหนัง ผม เล็บ และก่อโรคภายในร่างกาย แม้หลายโรคจะไม่มีอันตรายรุนแรงถึงชีวิต แต่ก็ไม่ควรมองข้าม

 

 

ภญ.จิตตวดี กมลพุทธ

 

 

โรคผิวหนังจากเชื้อรา กลาก เกลื้อน แคนดิดา

(Some images used under license from Shutterstock.com.)