© 2017 Copyright - Haijai.com
กรดอะมิโน สารสำคัญที่ขาดไม่ได้
เราคงคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “กรดอะมิโน” ว่าแต่มันคืออะไร และสำคัญกับร่างกายเราอย่างไรกันแน่?
กรดอะมิโน เป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของโปรตีน ได้มาจากการที่โปรตีนถูกย่อย เพื่อนำกรดอะมิโนนั้นไปใช้ในการสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ และนำไปใช้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย ซึ่งโปรตีนนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายให้ปกติ และทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายด้วย
กรดอะมิโนมีอยู่ประมาณ 20 ชนิด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ จะต้องรับจากอาหารที่กินเข้าไป มี 10 ชนิด ได้แก่ ไอโซลิวซีน ลิวซีน ไลซีน เมไทโอนีน ฟีนิลอะลานีน ทรีโอนีน ทริปโตเฟน วาลีน อาร์จีนีน ฮีสทิดีน
2.กรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเองได้ มี 10 ชนิด คือ อะละนีน ไทโรซีน กลูตามีน ซีรีน ซีสเทอีน ไกลซีน แอสปาติก แอสพาราจีน กลูตามิก โพรลีน
ทั้งนี้กรดอะมิโนมีหน้าที่สำคัญต่างๆ ในร่างกาย คือ เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์โปรตีน ทำหน้าที่เฉพาะของกรดอะมิโนแต่ละชนิด สามารถถูกสลายเพื่อให้พลังงาน หรือสังเคราะห์เป็นกลูโคส หรือเก็บสะสมในรูปไขมัน
ในแต่ละวันเราจึงจำเป็นต้องได้รับกรดอะมิโนให้ครบเพื่อที่ระบบต่างๆ ของร่างกายสามารถทำงานได้อย่างสมดุล และมีประสิทธิภาพ หากขาดกรดอะมิโนจำเป็น การสร้างโปรตีนต่างๆ ในเซลล์ทั่วไปและเซลล์กล้ามเนื้อ จะทำได้ไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโต หรือส่งผลเสียกับบางระบบของร่างกายได้ เช่น เมื่อขาดกรดอะมิโนทรีโอนีน จะส่งผลต่อสภาวะทางจิตใจและสมอง จะรู้สึกหงุดหงิดเข้ากับคนอื่นได้ยาก ไม่มีสมาธิในการทำงาน หรือขาดกรดอะมิโนไกลซีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโปรตีน ฮอร์โมน เอนไซม์ และทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาทสมอง และเป็นสารต้นของสารต่างๆ หลายชนิดในน้ำดี เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้ได้รับกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้ให้ครบถ้วน จึงต้องรับประทานอาหารโปรตีนคุณภาพดี เช่น โปรตีนจาก เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ หรือต้นกล้าข้าวสาลี เป็นต้น
(Some images used under license from Shutterstock.com.)