
© 2017 Copyright - Haijai.com
หญ้าฝรั่น ทองคำสีแดง
ปัจจุบันเทรนด์สุขภาพกำลังมาแรง คนยุคใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีสารเคมีและมลพิษเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตมากมาย ภาวะดังกล่าวทำให้เรามีอาการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น การดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัยและถือว่า เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน วันนี้จะมาพูดถึงสมุนไพรที่พร้อมไปด้วยสรรพคุณมากมาย และถือเป็นเครื่องเทศที่มีราคาสูงที่สุดในโลก
หญ้าฝรั่น (ออกเสียง ฝะ-หรั่น) มีสมญานามว่า “ทองคำสีแดง” โดยหญ้าฝรั่นคุณภาพสูงสุดมีราคา 2,200 บาท ต่อ 1 กรัม จัดเป็นเครื่องเทศและเครื่องยาที่สำคัญอย่างหนึ่ง หญ้าฝรั่นภาษาอังกฤษเรียก saffron ได้จากพันธุ์ไม้ Crocus sativus วงศ์ Iridaceae ดอกมีสีม่วง หญ้าฝรั่นได้มาจากเกสรตัวเมียของดอกไม้ชนิดนี้ โดย 1 ดอก จะมีเกสรเพียง 3 เส้นเท่านั้น ดังนั้น 1 กิโลกรัม ต้องใช้ดอกหญ้าฝรั่น 120,000-160,000 ดอก ต้นไม้ชนิดนี้ขึ้นเฉพาะพื้นที่ลาดเขาในไม่กี่แห่งทั่วโลก คือ มีมากที่อินเดียและสเปน ด้วยเหตุนี้หญ้าฝรั่นจึงมีราคาแพงมากที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยขายกันประมาณกิโลกรัมละ 77,700 บาท
หญ้าฝรั่นมีกลิ่นหอม รสสุขุม ตำรายยาไทยใช้เป็นยาขับเหงื่อ ขับระดู แก้ปวด และใช้ทำน้ำกระสายยา นอกจากนี้ในตำราแพทย์แผนโบราณของจีน ยังมีการนำหญ้าฝรั่นไปใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาที่ใช้ในการรักษา โดยเรียกว่า “ซีหงฮวา” มีสรรพคุณกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด แก้ซึมเศร้า ลดไข้ ในตะวันตกใช้หญ้าฝรั่นแก้ไอ แก้หอบหืด ขับเสมหะ แก้ปวดประจำเดือน แก้หลั่งเร็ว
อย่างไรก็ตาม การใช้หญ้าฝรั่นในหลายๆ ข้อบ่งใช้ เช่น นอนไม่หลับ หอบหืด หลอดเลือดแดงแข็ง ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุประสิทธิภาพของหญ้าฝรั่นในข้อบ่งใช้ดังกล่าว ในขณะที่การใช้หญ้าฝรั่นสำหรับการแก้ปวดประจำเดือน และภาวะซึมเศร้ายังมีหลักฐานที่ระบุว่าหญ้าฝรั่น อาจมีประสิทธิภาพสำหรับข้อบ่งใช้ดังกล่าว การศึกษาที่อิตาลีเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าหญ้าฝรั่นอาจมีผลดีต่อสายตา การศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 25 คน เป็นเวลาหกเดือนพบว่า ยาเม็ดหญ้าฝรั่นช่วยทำให้สายตาของอาสาสมัครดีขึ้น และเมื่อไม่ได้รับหญ้าฝรั่น ผลดีที่เกิดขึ้นก็หายไปอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามการรับประทานหญ้าฝรั่นในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่นทำให้มดลูกบีบตัว (ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งลูก) กระทบต่อการเต้นของหัวใจ และทำให้ความดันเลือดต่ำ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า หญ้าฝรั่นตีกับยาแผนปัจจุบันตัวไหนบ้าง ผู้ที่คิดจะใช้หญ้าฝรั่นบำรุงสุขภาพ จึงควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ และปรึกษาแพทย์กับเภสัชกรเสียก่อน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)