© 2017 Copyright - Haijai.com
รู้จักเราเข้าใจลูกด้วย Enneagram นพลักษณ์
ความมหัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” นั้นมีอยู่อย่างไม่สิ้นสุดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำเนิดชีวิต การดำรงอยู่ ความรู้สึกนึกคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เรื่องของความต่าง” ที่ไม่เพียงแต่รูปลักษณ์ภายนอกที่อาจจะกล่าวได้ว่า มนุษย์กว่าล้านล้านชีวิตนั้น ไม่มีใครที่เหมือนกันโดยสิ้นเชิงเลยแม้แต่คู่เดียว แม้กระทั่งฝาแฝดที่เหมือนกันที่สุดก็ยังมีความต่างในร่างกาย นี่ยังไม่รวมถึงความเป็น “ตัวตน” ของแต่ละบุคคล ที่ต่างบุคลิก ต่างความคิด ต่างจิตใจ และยากยิ่งนักที่จะทำความรู้จักและเข้าใจใครสักคนอย่างถ่องแท้ได้อย่างแท้จริง กระทั่งตัวของเราเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากคุณต้องเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยสักคนหนึ่ง คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า คุณเข้าใจและรู้จักลูกของคุณดีพอ ในเมื่อบางครั้ง คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงไม่ปฏิเสธว่า “คุณก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่า คุณรู้จักตัวเองดีพอแล้วหรือยัง”
การจะเป็นพ่อแม่ที่ดีได้ อาจไม่ใช่เพียงแค่การสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ลูก แต่น่าจะอยู่ที่การที่คุณสนับสนุนลูกให้เขาเติบโตขึ้นมาในแบบที่เขาเป็นจริงๆ ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นได้ ก็น่าจะเริ่มจากการที่คุณรู้จักตัวเองอย่างดีพอก่อนค่ะ ซึ่ง Enneagram หรือทฤษฎีนพลักษณ์ น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังค้นหาแนวทางที่เหมาะสมในการเลี้ยงลูกของตัวเอง
นพลักษณ์ กับแผนภาพชีวิต
Enneagram หรือที่ในภาษาไทยเรียกว่า นพลักษณ์ นั้นเป็นศาสตร์หนึ่งที่พยายามจะทำความเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ค่ะ ศาสตร์นี้พัฒนาขึ้นมาจากองค์ความรู้โบราณที่เกิดขึ้นในแถบเอเชียกลาง เมื่อประมาณหลายร้อยปีมาแล้ว จากเดิมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของนักบวช เมื่อถ่ายทอดต่อๆ กันมา ก็ได้มีการขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ ให้เป็นไปเพื่อพัฒนาตนเองสำหรับบุคคลทั่วไป และมีการทำแผนภาพนพลักษณ์ เพื่อการทำความเข้าใจที่ง่ายยิ่งขึ้น โดยนักจิตวิทยาที่ชื่อว่าเฮเลน พาล์มเมอร์
จากแผนภาพจะเห็นได้ว่า คนเรานั้นจะมีลักษณะที่โดดเด่นเฉพาะตัวหรือที่เรียกว่าลักษณ์ประจำตัว แบ่งได้เป็น 9 ลักษณะด้วยกัน แต่ทั้งนี้ลักษณ์ทั้ง 9 ก็หาได้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิงค่ะ เราทุกคนจะมีลักษณ์อื่นๆ อยู่ในตัวด้วย ไม่มากก็น้อย สำหรับเด็กๆ นั้นลักษณ์ประจำตัวจะไม่เด่นชัด จนกว่าพวกเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว โดยเด็กๆ อาจเริ่มมีลักษณ์ประจำตัวที่ชัดเจนมากขึ้นเมื่ออายุประมาณ 9 ปี แต่ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเริ่มเฝ้าสังเกตลูกได้ตั้งแต่เขายังเล็กๆ เลยทีเดียว
นอกจากนี้ บุคคลแต่ละลักษณ์ ก็จะมีลักษณ์ที่อยู่เคียงข้างทั้งซ้ายและขวา ซึ่งเรียกว่าปีก เช่น ลักษณ์ที่ 1 ก็จะมีลักษณ์ 9 และ 2 เป็นปีก ด้านข้าง ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้คนที่แม้จะอยู่ในลักษณ์เดียวกันอาจมีบุคคลิก ความนึกคิด ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นลักษณ์นั้นเอนเอียงไปทางปีกด้านไหนมากกว่านั่นเอง
สังเกตเรา เฝ้าดูลูก
เมื่อมาถึงบรรทัดนี้ คุณพ่อคุณแม่หลายท่านน่าจะเกิดคำถามขึ้นในใจแล้วว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราอยู่ในลักษณ์ไหน และความรู้เรื่องนพลักษณ์จะช่วยเราในเรื่องการเลี้ยงดูลูกได้อย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นักวิชาการและนายกสมาคมนพลักษณ์ไทย แนะนำว่า
“ตามทฤษฎีนพลักษณ์ เราแต่ละคนจะเป็นแบบใดแบบหนึ่ง ขึ้นกับวิธีการใช้พลังชีวิตที่แตกต่างกันไป การค้นหาลักษณ์ของตนเองเบื้องต้นนั้น เริ่มทำได้จากการสังเกตตัวเอง คอยเฝ้าดูอารมณ์ของตนเมื่อสิ่งต่างๆ เข้ามากระทบ ไม่ว่าสิ่งดีหรือร้าย แล้วดูว่าคุณตอบสนองอย่างไร ซึ่งการสังเกตนี้เป็นเพียงวิธีการอย่างง่ายๆ แต่หากจะให้แน่ใจ มั่นใจจริงๆ นั้นก็จำเป็นจะต้องศึกษาอย่างลึกซึ้ง หรืออาจต้องเข้ารับการอบรมเพื่อให้มั่นใจว่าเราเข้าใจตัวเองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
ส่วนเรื่องนพลักษณ์กับการเลี้ยงลูกนั้น ก็ยังไม่ต้องวิตกกังวลว่า ฉันจะรู้ไหมนี่ว่าลูกฉันเป็นลักษณ์อะไร ขอให้เริ่มที่การทำความเข้าใจตัวเอง เพื่อเข้าใจอคติของเรา และฝึกสติเฝ้าระวังมิให้เข้าไปตัดสินเขา หรือพยายามเปลี่ยนเขาให้เป็นแบบที่เราชอบ เพราะจะทำให้ลูกเกิดความขัดแย้งมากในตัวเอง แน่ละ ตอนเล็กๆ เขาจะยอมเรา เพราะเราเป็นผู้ดูแลป้อนข้าวป้อนนม แต่เมื่อเขาเริ่มเป็นวัยรุ่น เขาจะเกิดความขัดแย้งกับวิธีเลี้ยงดูของเราอย่างมาก เพราะเด็กวัยรุ่นทุกคนจะพยายามแสวงหาอัตลักษณ์ของตัวเอง เราจึงมีหน้าที่ช่วยให้เขาค้นพบตัวเอง จึงจะดีที่สุด”
คุณคือใครใน ลักษณ์ทั้ง 9
เมื่อคุณรู้แล้วว่าวิธีการค้นหาตัวตนของคุณเอง เริ่มจากการสังเกต เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า คนทั้ง 9 ลักษณ์ มีบุคลิก ลักษณะอย่างไรบ้าง และลักษณ์ไหนตรงกับที่คุณเฝ้าสังเกตตัวเองมากที่สุด เพราะ การที่คุณจะเข้าใจคนอื่นๆ รวมทั้งลูกของคุณได้ดีนั้น น่าจะมาจากการที่คุณเข้าใจตัวของคุณเองก่อน การที่คุณเป็นคนลักษณ์ไหนนั้น จะแสดงออกในการกระทำของคุณ รวมไปถึงการเลี้ยงลูกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ การศึกษาเรื่องนพลักษณ์ จึงน่าจะทำให้คุณ เข้าใจตัวเองได้ว่า “ทำไมหนอเราจึงต้องหงุดหงิดทุกทีที่เจ้าตัวดีไม่ยอมเก็บที่นอนให้เรียบร้อย” ก็เป็นได้
1. The Perfectionist
บุคคลในลักษณ์ที่ 1 ที่มีความเป็นเพอเฟคชั่นนิสต์หรือที่ในตำรานพลักษณ์ใช้คำว่า “คนเนี้ยบ” นั้น มีจุดเด่น ตามชื่อที่ใช้เรียกคนในลักษณ์นี้ค่ะ คือต้องการให้ทุกสิ่งสมบูรณ์แบบ และมักจะมีข้อกำหนดอยู่ในใจเสมอว่าอะไร ควร หรือ ไม่ควร มีมาตรฐานสูง จริงจังกับความรับผิดชอบของตน หากคุณหงิดหงิดบ่อยๆ ที่เจ้าวัยซน ไม่เคยเก็บของเข้าที่ พับผ้าห่มไม่เท่ากัน ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พ่อแม่บางคนมองผ่าน แต่คุณกลับต้องคอยแก้ไขให้ถูกเป๊ะทุกครั้ง คุณก็อาจจะเป็นพ่อแม่สุดเนี้ยบ หมายเลข 1 ค่ะ
2. The Giver
บุคคลในลักษณ์ที่ 2 นี้ เราเรียกว่า “ผู้ให้” ค่ะ บุคลิกของคนในลักษณ์นี้ มักจะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น ชอบให้คำปรึกษา ทั้งนี้เป็นเพราะบุคคลในลักษณ์นี้ต้องการเป็นคนที่มีคุณค่า เป็นที่รักและต้องการของคนรอบข้าง และจะมีความสุขมากเมื่อตนเป็นบุคคลที่คนอื่นขาดไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันคนในลักษณ์ 2 กลับไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะในส่วนลึกแล้วคนลักษณ์นี้ไม่ค่อยรู้ความต้องการจริงๆ ของตัวเอง หากคุณมีความสุขทุกครั้งที่ลูกร้องขอให้สอนการบ้าน หรือแอบเศร้าที่ลูกขอให้คนอื่นช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ แทนที่ลูกจะขอร้องคุณ คุณก็อาจเป็นคนในลักษณ์ที่ 2
3. The Performer
บุคคลในลักษณ์ที่ 3 ที่เรียกกันว่า นักแสดง หรือ บางตำราก็ว่าเป็น ผู้ใฝ่หาความสำเร็จนั้น เป็นผู้ที่มีพละกำลังเหลือเฟือ และดูเหมือนว่าจะเป็นคนที่เก่งไปเสียทุกเรื่องอีกด้วย สำหรับคนหมายเลข 3 นี้ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ และด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้คนในลักษณ์นี้ชื่นชอบการแข่งขัน และต้องการจะประสบความสำเร็จในทุกๆ สิ่ง หากคุณมักจะสรรหากิจกรรมเสริมต่างๆ มาให้ลูกทำอย่างจริงจัง เพื่อหวังส่งเสริมให้เจ้าตัวน้อยเก่งรอบด้าน หรือคุณให้ความสำคัญกับเรื่องงานมาก เท่าๆ กับการหาคอร์สเรียนเสริมให้ลูก จนยุ่งอยู่ตลอดเวลา คุณก็อาจจะเป็นพ่อแม่ในแบบที่ 3
4. The Romantic
ลักษณ์ที่ 4 เป็นลักษณ์แห่งอารมณ์ศิลปินค่ะ คนในลักษณ์นี้เรียกกันว่าเป็นคน โศกซึ้ง เพราะมักจะมองสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้งและมีความหมาย บุคคลหมายเลข 4 เป็นผู้ที่ร้องไห้ได้ง่ายๆ ในเรื่องทุกเรื่องตั้งแต่ ความงาม ความรัก ความเจ็บปวด ความสำเร็จ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเกี่ยวกับตัวเองโดยตรง หรือเป็นเรื่องที่ได้สัมผัส ได้ยินได้ฟังมาอีกต่อหนึ่งก็ตาม ก็จะรู้สึกมีส่วนร่วมในอารมณ์นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี และด้วยการที่เป็นคนที่มองทุกอย่างรอบตัวอย่างลึกซึ้งนี่เอง คนในลักษณ์นี้จึงเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบทำอะไรไม่ซ้ำใคร ขณะเดียวกันก็มักจะคาดหวังให้คนอื่นๆ เข้าใจตัวเองอยู่เสมอ คุณควรฝึกที่จะไม่ใช้อารมณ์มากนัก เพราะเด็กๆ ต้องการแบบอย่างที่แสดงให้เห็นในเรื่องของความมั่นคงทางอารมณ์ หากคุณหมกหมุ่นกับตัวเอง จนรู้สึกหดหู่มากเกินไป เจ้าตัวน้อยก็อาจสัมผัสอารมณ์ด้านลบของคุณ ซึ่งนั่นไม่เป็นผลดีต่อเด็กๆ เลย
5. The observer
บุคคลในลักษณ์ 5 เป็น “นักสังเกตการณ์” ค่ะ คนในลักษณ์นี้จะชอบหาข้อมูล ชอบวิเคราะห์ แต่มักจะไม่นำตัวเองเข้าไปคลุกคลี มักจะทำตัวเป็นผู้ดูเหตุการณ์อยู่ห่างๆ มากกว่า รักและหวงแหนความเป็นส่วนตัวของตนเอง จนบางครั้งจะรู้สึกกระวนกระวายใจ หากไม่มีเวลามากพอสำหรับตัวเอง เมื่อใดที่คุณได้ทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ คุณก็จะอยู่กับสิ่งนั้นได้นานๆ และมักจะอึดอัดเมื่อต้องอยู่กับคนมากๆ หรือเมื่อต้องเข้าสังคมกับคนที่ไม่คุ้นเคย เพื่อนๆ คุณส่วนใหญ่มักจะมีนิสัยหรือความสนใจที่เป็นไปในทางเดียวกัน หากคุณไม่ค่อยอยากพาลูกออกไปไหน และมักชักชวนให้ลูกทำสิ่งที่คุณชอบไปพร้อมๆ กัน คุณก็อาจเป็นพ่อแม่ในลักษณ์ 5
6. The Royal Skeptic
บุคคลในลักษณ์ 6 เป็น นักตั้งคำถาม หวาดระแวง และไม่ไว้ใจใครง่ายๆ ทั้งนี้เป็นเพราะเขามีพื้นฐานอยู่บนความหวาดกลัว คนลักษณ์ 6 มักจะจินตนาการเรื่องราวต่างๆ ให้ไปถึงผลร้ายสุดๆ เพื่อที่จะได้เตรียมรับมือได้ทัน มักจะลังเลที่จะทำสิ่งต่างๆ เพราะในใจมีแต่ความสงสัย ไม่ชอบแสดงความคิดเห็น เก็บตัว บางกรณีก็ปกป้องตัวเองจนเกินเหตุด้วยการไม่เข้าไปมีส่วนร่วม แต่บางทีก็พุ่งออกไปเผชิญหน้าโดยที่ไม่จำเป็น จนคนอื่นอาจมองว่าก้าวร้าว แม้ว่าจะเป็นคนไม่ไว้ใจใครง่ายๆ แต่หากว่าวางใจใครแล้ว คนลักษณ์ 6 ก็จะเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งทีเดียว พ่อแม่ในลักษณ์ 6 มักจะวิตกจริตในแทบทุกเรื่องของลูก คุณอาจจะไม่ไว้ใจให้ลูกไปไหนกับใครเลย กระทั่งญาติสนิทของคุณ คุณอาจต้องต่อสู้กับความกลัวของตัวเองบ้าง เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กับลูก
7. The Epicure
บุคคลในลักษณ์ 7 เป็น นักผจญภัย ที่มีพลังเหลือเฟือ ชอบทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน คิดเร็ว ทำเร็ว พูดเร็ว สดใส ร่าเริง และอารมณ์ดี คนหมายเลข 7 ถึงแม้ว่าจะมีความหวาดกลัวอยู่ในใจ แต่ก็มักจะไม่ยอมรับความกลัวของตัวเอง เป็นคนที่รักสนุก และพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องเจ็บปวดทุกข์ใจ เมื่อถูกวิจารณ์ก็จะ โต้กลับไปในทันที โดยไม่ทันได้คิดว่าคำวิจารณ์นั้นอาจมีส่วนจริงอยู่ด้วยก็เป็นได้ ข้อควรระวังของพ่อแม่ลักษณ์ 7 คือ บางครั้งคุณก็อาจไม่ค่อยมีวินัยมากนัก ซึ่งสำหรับการเลี้ยงลูกนั้น เรื่องของวินัยเป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่อคุณเป็นพ่อแม่หมายเลข 7 คุณก็ควรฝึกฝนเรื่องวินัยให้เป็นตัวอย่างที่ดีของลูกให้มากขึ้น
8. The Protector
บุคคลในลักษณ์ 8 หากแปลตรงตัวจะเรียกว่า ผู้ปกป้อง หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันคือ “เจ้านาย” เพราะคนในลักษณ์นี้จะกล้าแสดงสิทธิของตนเองโดยไม่ค่อยหวาดกลัวใคร จนอาจทำให้ดูเหมือนเป็นคนก้าวร้าว หากอยู่ในกลุ่มก็มักจะเป็นผู้นำ สามารถปกป้องคนในปกครองได้อย่างเข้มแข็ง ยืดหยัดต่อสู้เพื่อตนเองได้เป็นอย่างดี เป็นคนรู้จักใช้อำนาจ จึงไม่ถูกควบคุมหรือครอบงำง่ายๆ และด้วยอำนาจของคุณที่มีอยู่มากมาย จึงทำให้คนในลักษณ์ 8 ส่วนใหญ่เป็นคนพูดเสียงดัง จนบางครั้งดูเหมือนกำลังตะคอกคู่สนทนา หากคุณเห็นว่าสิ่งใดมีคุณค่าแล้ว ก็จะต่อสู้เพื่อสิ่งนั้นอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย พ่อแม่ในลักษณ์ 8 อาจเป็นคนเก่งและเข้มแข็ง แต่ก็ต้องระวังที่จะไม่ควบคุมลูกจนเกินไป รวมทั้งควรเพิ่มความละเอียดอ่อนให้มากขึ้น
9. The Mediator
บุคคลในลักษณ์ 9 เรียกว่าเป็น ผู้ประสานไมตรี คนในลักษณ์นี้เข้าใจมุมมองของคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี แต่กลับไม่เข้าใจความคิดของตัวเองเท่าไรนัก คนลักษณ์ 9 มักจะคล้อยตามไปกับความคิดของคนอื่นๆ ได้โดยง่าย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้ง โดยทั่วไปคน 9 จะกระตือรือร้นด้วยความใคร่รู้ แต่เมื่อจะต้องลงมือทำกลับผลัดผ่อนเรื่องที่จำเป็น จนกระทั่งนาทีสุดท้าย โดยให้ไปทำในสิ่งที่เป็นกิจกรรมยามว่าง เช่น การสังสรรค์ ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ แทนที่จะทำเรื่องที่สำคัญให้เสร็จเสียก่อน อย่างไรก็ตามลักษณะเด่นของผู้ประสานไมตรี คือ สามารถไกล่เกลี่ย และต่อรองได้ดี เมื่อคนลักษณ์ 9 เป็นพ่อแม่ คุณอาจต้องเพิ่มเรื่องของความเป็นผู้นำ และกล้าตัดสินใจให้มากขึ้น
ศูนย์ของนพลักษณ์
อีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ค้นพบลักษณ์ประจำตัวได้ง่ายขึ้น คือการค้นหาว่าคุณจัดอยู่ในศูนย์ไหนของนพลักษณ์ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ศูนย์ตามวิธีที่คุณใช้ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ แต่ละศูนย์ประกอบไปด้วย 3 ลักษณ์ ดังนี้
• ศูนย์หัว ประกอบไปด้วย ลักษณ์ 5, 6 และ 7 คนในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อชีวิตผ่านความนึกคิด มีสมรรถภาพสูงในการวิเคราะห์และเชื่อมโยงความคิด และใช้ความคิดของตัวเองในการเก็บกดความกลัวที่มีต่อโลก ซึ่งโดยทั่วไปมักจะไม่รู้ตัวเอง
• ศูนย์ใจ ประกอบไปด้วย ลักษณ์ 2, 3 และ 4 คนในกลุ่มนี้ใช้ความรู้สึกในการตอบสนองสิ่งต่างๆ แทนที่จะใช้ความคิดเช่นคนศูนย์หัว อารมณ์ของคน ศูนย์ใจมีตั้งแต่รุนแรง เร้าใจ ไปจนถึงซ่อนเร้นลึกล้ำที่สุดหรือแทบจะไม่รู้สึกเลย ใช้ใจเป็นตัวนำในการดำเนินชีวิต ไวต่อความต้องการหรืออารมณ์ของผู้อื่นและสนองต่ออารมณ์และความต้องการ นั้นทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว สัมพันธภาพที่ประสบความสำเร็จจะช่วยไม่ให้เกิดความรู้สึกว่างเปล่า และโหยหา อันเป็นลักษณะสำคัญของคนในศูนย์นี้
• ศูนย์ท้อง ประกอบไปด้วยลักษณ์ 8, 9 และ 1 คนในกลุ่มนี้ใช้สัญชาตญาณเป็นตัวนำในการดำเนินชีวิต ใช้ความรู้สึกตามสัญชาตญาณส่วนลึกเป็นฐานการตัดสินใจหรือการลงมือกระทำ แม้ว่าจะได้คิดอย่างรอบคอบในรายละเอียดแล้วก็ตาม นพลักษณ์ยกให้เป็นพวกหลงลืมตนเอง เพราะพวกเขาอาจไม่รู้ตัวว่า อะไรสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ต่อตนเองจริงๆ การเป็นคนกระตือรือร้นในโลกได้รับแรงบันดาลจากความโกรธ คนกลุ่มนี้อาจใช้การแสดงออกตรงๆ ในบางครั้งคราวเพื่อบรรเทาความโกรธของตัวเองด้วย
นพลักษณ์ กับการเลี้ยงลูก
เมื่อคุณพอจะรู้ได้รางๆ แล้วว่าคุณเข้าข่ายเป็นคนลักษณ์ไหน ก็น่าจะทำให้คุณเข้าใจด้วยว่าแต่ละลักษณ์มีความแตกต่างกันโดยพื้นฐานความเชื่อ อารมณ์ และปฏิกิริยา การตีความ รวมถึงการมีอคติต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ต่างกัน จนทำให้เรามีรูปแบบการเลี้ยงลูกที่แตกต่างกันไป ต่อไปนี้คุณก็อาจจะเข้าใจตัวเองได้ง่ายขึ้นว่า อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังการคาดหวังให้ลูกเป็นแบบที่คุณต้องการ นั่นเป็นเพราะว่าคุณกำลังเลี้ยงลูกในแบบที่คุณต้องการให้เขาเป็น มากกว่าแบบที่ลูกเป็น จริงๆ หรือเปล่า?
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ว่านพลักษณ์จะช่วยคุณในการเลี้ยงลูกได้อย่างไร เราขอยกตัวอย่างง่ายๆ ค่ะ เช่น หากว่าคุณเป็นพ่อแม่ในลักษณ์ที่ 6 นักตั้งคำถาม ที่มีพื้นฐานอยู่ในความหวาดกลัวไปทุกสิ่ง คุณก็คงจะไม่ยอมปล่อยให้ลูกไปเล่นคนเดียวในสนามหน้าบ้าน ปกป้องลูกไปเสียทุกอย่าง การกระทำของคุณเหล่านี้ก็อาจปลูกฝังความกลัวลงไปในใจของลูกโดยไม่จำเป็น หรือไม่ก็อาจขัดขวางการเรียนรู้ของลูกก็เป็นได้ และเมื่อลูกโตขึ้น พัฒนามีบุคลิกภาพของตัวเองที่แน่นอน สมมติว่าลูกกลายเป็นคนลักษณ์ 7 นักผจญภัย ความอยากเผชิญสิ่งต่างๆ ของลูก ก็อาจขัดกับความต้องการของคุณ จนเกิดเป็นความไม่เข้าใจภายในครอบครัวขึ้นได้
การศึกษานพลักษณ์ จึงเข้ามาช่วยคุณพ่อคุณแม่ในแง่ที่ว่า คุณจะได้รู้จักตัวเอง เข้าใจแนวโน้มของความชอบ ไม่ชอบ อันจะมีผลไปสู่การเลี้ยงดูลูก เพราะพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยก็จะทำให้เด็กๆ มีการแสดงออกที่ต่างกันไป เช่น หนูน้อยวัยเตาะแตะ อาจจะชอบปีนป่าย กินอาหารเลอะเทอะ ซึ่งหากคุณเป็นพ่อแม่ในลักษณ์ที่ 1 ที่นิยมความเนี้ยบ ก็อาจจะทำให้ยากในการที่จะรับมือกับพฤติกรรมดังกล่าวของลูกได้ ดังนั้นเมื่อคุณรู้จักตัวเองดีพอ ก็น่าจะเป็นเกราะป้องกัน ไม่ให้คุณเอาความคิด ความคาดหวังของคุณไปใส่ในตัวลูก จนเกิดเป็นความกดดัน ในทางกลับกันก็น่าจะนำไปสู่การพัฒนาลูกน้อยให้เต็มศักยภาพอย่างที่เขาควรจะเป็นมากที่สุดได้
พญ.จันทร์เพ็ญ ให้คำแนะนำพ่อแม่ในเรื่องนี้ว่า “ขอให้พ่อแม่แน่ใจว่า หากเรามีความปรารถนาดี รักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข และตั้งสติมีความระลึกรู้ตลอดเวลาว่า พฤติกรรมการแสดงออกทั้งทางวาจา ท่าทาง สีหน้า การแสดงอารมณ์ต่าง ๆ นั้นมีผลกระทบและจะเป็นต้นแบบของลูกอย่างที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นในช่วงของการเลี้ยงลูกเล็ก เราจะต้องฝึกสติให้ระลึกรู้อยู่เสมอว่า เราจะเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ลูก ก็น่าจะเชื่อมั่นได้ว่า ท่านได้ให้สิ่งดี ๆ กับลูกเท่าที่ท่านจะให้ได้”
นพลักษณ์ กับเจ้าตัวเล็ก
เมื่อคุณรู้จักตัวเองดีแล้ว คราวนี้ คุณก็อาจจะเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมค่ะว่า แล้วเจ้าตัวเล็กของเราล่ะ จัดอยู่ในลักษณ์ใด โดยทั่วไปแล้ว ลักษณ์ประจำตัวของบุคคลนั้นจะไม่ชัดเจน จนกว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ค่ะ แต่หากคุณพ่อคุณแม่เฝ้าสังเกตลูกของเราอย่างใกล้ชิด ก็อาจจะพอเข้าใจ “พื้นอารมณ์” ของลูกได้ ซึ่งพื้นอารมณ์นี้เอง อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่พอคาดเดาได้ว่าลูกของเราจะเติบโตขึ้นมามีบุคลิกอย่างไร
ซึ่งพื้นอารมณ์นี้ เป็นสิ่งที่ติดตัวทารกมาตั้งแต่กำเนิดค่ะ เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลและจะติดตัวไปจนโต ซึ่งลักษณะอารมณ์พื้นฐานนี้ศึกษาได้โดย การเคลื่อนไหว การตอบสนองต่อสิ่งใหม่ๆ ว่าเป็นไปในลักษณะใด รวมถึงความรุนแรงในการตอบสนองต่อสิ่งเร้า อารมณ์ส่วนใหญ่ของเด็ก เช่น ยิ้ม หัวเราะง่าย หรือว่าโกรธง่าย งอแง ซึ่งแบ่งพื้นอารมณ์ของเด็กได้เป็นกลุ่มใหญ่ คือ
1. เด็กเลี้ยงง่าย Easy Child เป็นเด็กอารมณ์ดี กินง่าย ขับถ่ายเป็นเวลา
พญ.จันทร์เพ็ญ ให้ความเห็นในเรื่องการค้นหาลักษณ์ในเด็กว่า “ถ้าคุณพ่อคุณแม่ เลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เขาเกิดจนโตเป็นวัยรุ่น ก็สามารถสังเกตและรู้จักพื้นอารมณ์ของลูกได้เป็นอย่างดี ขอเพียงแต่ให้เราเฝ้าสังเกตเขาอย่างเป็นกลาง คือ ไม่ใส่อคติว่าชอบหรือไม่ชอบแบบนั้น แบบนี้ ซึ่งเมื่อคุณพ่อคุณแม่อ่านทำความเข้าใจความต่างของคนแต่ละลักษณ์แล้วก็คงพอเข้าใจได้ว่า แต่ละลักษณ์มีอคติต่อสิ่งรอบตัวแตกต่างกันไป นั่นจะมีผลให้เราไปตัดสินหรือพยายามเปลี่ยนลูกไปในแบบที่เราชอบ ซึ่งถือว่า “อันตราย อันตราย” นะคะ สิ่งที่ควรทำมากที่สุดก็คือ เฝ้าสังเกตลูกอย่างใกล้ชิด ศึกษาธรรมชาติของเขา ไม่ว่าเขาจะเป็นเด็กแบบไหน ก็รัก และโอบอุ้มเขาให้เติบโตเป็นตามธรรมชาติของเขา เราเพียงแต่ช่วยดูแล จัดปรับหรือช่วยเหลือหากเห็นว่าเขาจะก้าวเดินไปสู่อันตรายทั้งทางกายและจิตใจ โดยยังไม่ต้องกังวลว่าลูกจะเป็นแบบที่เราต้องการหรือไม่จะดีกว่า”
นพลักษณ์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตใจของมนุษย์ จึงมีความละเอียดลึกซึ้งเกินกว่าที่เราจะหยั่งรู้ได้เพียงแค่ข้ามคืนค่ะ การศึกษานพลักษณ์ให้เข้าใจได้แจ่มแจ้ง รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้โดยปราศจากอคตินั้น อาจต้องอาศัยเวลา และการสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง บทความที่เรานำมาฝากกันในฉบับนี้ จึงเป็นแค่เพียงความรู้เบื้องต้นที่จะทำให้คุณรู้จักนพลักษณ์ และเริ่มจะหันกลับมามองตัวเอง เฝ้าดูจิตใจ และพัฒนาสู่การเป็นพ่อแม่ที่เข้าใจลูกน้อยอย่างที่เขาเป็นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหากท่านใดสนใจจะศึกษาต่ออย่างจริงจังต่อไป ก็น่าจะเป็นผลดีทั้งต่อตัวคุณและเจ้าตัวน้อยค่ะ
Mom Must Know
การก่อตัวของลักษณ์
ในบทความจากเว็บไซต์สมาคมนพลักษณ์ไทยเรื่อง “การก่อตัวของลักษณ์” โดยท่านสันติกโร กล่าวถึงการก่อตัวของลักษณ์ในเด็กว่า “เมื่อเด็กดิ้นรนจะมีปฏิกิริยาขึ้นในครั้งแรก เขาจะเริ่มเลือกในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จากการคิด แต่เลือกจากจุดที่มีอยู่แล้ว ว่าจะเริ่มเป็นคนลักษณ์ไหน ทั้ง 9 แบบจะคล้ายกันจากจุดเริ่มต้นง่าย ๆ คือ เมื่อมีความทุกข์ เด็กจะตีความอย่างไร และก่อตัวเป็นคนประเภทไหนต่อไป กลไกง่ายๆ ตรงนี้ นักจิตวิทยาเรียกว่า กลไกป้องกันตัวเอง กลไกป้องกันของเด็กจะเริ่มมีการใช้ซ้ำ ใช้ทุกวัน ตอบสนองทุกครั้ง ที่เด็กไม่สบาย แม้แต่เล็กๆ เช่น พ่อกลับจากทำงานปกติ เด็กอยากกอดพ่อ แต่พ่อเสียงดังอารมณ์เสีย เด็กเริ่มต้องหาวิธีเยียวยาตัวเอง เมื่อถนัดกับกลไกอย่างหนึ่ง ก็จะก่อตัวเป็นนิสัยเรื่อยๆ สิ่งที่ตามก็จะเรียกว่าบุคลิกภาพ”
(Some images used under license from Shutterstock.com.)