© 2017 Copyright - Haijai.com
ความไม่เหมือนกันของ “การลงโทษ” และ “ผลของการกระทำ”
เซอร์ไอแซก นิวตัน กล่าวไว้ว่า “แรงกริยา เท่ากับแรงปฏิกิริยา” ทุกการกระทำย่อมก่อให้เกิดผลของการกระทำนั้นๆ เฉกเช่นเดียวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งเราสามารถใช้หลักการในเรื่องของการกระทำและผลของการกระทำนี้ในการสั่งสอนอบรมเลี้ยงดูเด็กได้เป็นอย่างดีค่ะ ไม่ต่างจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ในเรื่องของหลักธรรมว่า “ทำอย่างไรได้อย่างนั้น” หรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า หลักของกรรม “ผลของการกระทำ” ไม่นับเป็นสิ่งเดียวกันกับ “การลงโทษ”
ตามความหมายจากพจนานุกรมนั้น “การลงโทษ” คือสิ่งที่ได้รับตามความผิดหรือการขัดขืน ส่วน “ผลของการกระทำ” หมายถึงผลสรุป หรือผลลัพธ์ที่ตามมาจากการกระทำ ตามหลักแห่งตรรกะนั่นเอง เป็นต้นว่า เมื่อเด็กคนหนึ่งแกล้งตักทรายรดบนศีรษะเพื่อน ผู้ใหญ่หลายท่านอาจจะใช้วิธีเดินเข้าไปว่ากล่าว ตักเตือน ข่มขู่ สั่งห้าม หรือลงโทษด้วยการตี เพื่อให้เด็กหยุดการกระทำดังกล่าวในทันที คำถามที่ปรากฏขึ้นก็คือ เด็กคนนั้นหยุดเนื่องด้วยความคิดและความรู้สึกเช่นไร คำตอบอาจจะมีหลายประการ เช่น หยุดเพราะความรู้สึกกลัวที่จะโดนดุ หยุดเพราะว่ากลัวถูกทำโทษ หรือหยุดเพราะความรำคาญไม่อยากฟังเสียงบ่นว่า นั่นหมายความว่า เด็กหยุดเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่มีอำนาจเหนือกว่าเท่านั้น แต่อาจจะไม่เข้าใจหรือรู้สึกเลยว่าการกระทำของตนนั้นมีผลเช่นไรต่อผู้ที่ถูกกระทำ ดังนั้น เมื่อลับสายตาของผู้ใหญ่ เด็กอาจจะกลับไปแกล้งตักทรายรดศีรษะเพื่อนต่อก็เป็นได้ เพราะรู้ว่าผู้ใหญ่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว
ในสถานการณ์เดียวกัน หากผู้ใหญ่เลือกวิธี “ผลของการกระทำ” ผู้ใหญ่ต้องสื่อให้เด็กทราบว่าหากกระทำเช่นนั้นอีกจะต้องงดเล่นทรายและต้องย้ายไปเล่นที่อื่น เพราะการตักทรายรดบนศีรษะเพื่อนนั้น อาจทำให้เม็ดทรายเข้าไปในดวงตาของเพื่อน เพื่อนอาจเจ็บนัยน์ตาได้ เด็กก็อาจเข้าใจได้โดยไม่ยากว่าเพื่อนจะรู้สึกอย่างไร เพราะเด็กเองก็อาจเคยประสบเหตุดังกล่าวมาก่อน รวมทั้งจะไม่ได้เล่นทรายกับเพื่อนอีกด้วย จิตใจของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ย่อมจะรู้สึกไม่ดีแน่นอนค่ะ หากทำให้ใครรู้สึกเจ็บ ความเมตตาสงสาร และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน นับเป็นสิ่งประเสริฐตามสัญชาตญาณมนุษย์ทุกคน
ถึงจุดนี้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงจะมีคำตอบในใจแล้วนะคะ ว่าหลักการใดที่เราจะเลือกใช้ในการอบรมสั่งสอนลูกหลานของเรา
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและพัฒนาการเด็กหลายท่านอธิบายว่า พฤติกรรมต่างๆ ของเด็ก ส่วนใหญ่มักจะมีผลของการกระทำที่ถูกตั้งเป็นเงื่อนไขไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น เด็กจะเป็นผู้คิด ตัดสินใจ และเลือกผลของการกระทำด้วยตัวเขาเอง ว่าต้องการให้ผลลัพธ์ออกมาเช่นไร ดังนั้นเด็กจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้มีส่วนร่วม และเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกการกระทำต่างๆ ของตนเอง อีกทั้งการใช้หลักผลของการกระทำในการสอนเรื่องระเบียบวินัยในเด็กเล็กมักจะได้ผลดีกว่าการลงโทษ โดยในระยะยาวการใช้วิธีการดังกล่าวจะทำให้เด็กเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล และรู้จักการใช้เหตุผลได้ดียิ่งขึ้น โดยเด็กจะค่อยๆ พัฒนาความเข้าใจนี้ได้ด้วยตัวเอง จนนำไปสู่ความมีระเบียนวินัยในตนเอง ความรู้จักผิดชอบชั่วดี และความรู้จักเคารพซึ่งบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมกัน
ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการลงโทษก็คือ การลงโทษที่เด็กได้รับนั้นมักจะเกิดขึ้นในทันทีทันใดและโดยฉับพลัน ไม่ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเสียก่อน หลายครั้งเป็นการใช้อารมณ์ชั่ววูบในการตัดสินใจ และมักจะก่อให้เกิดความรู้สึกผิดตามมาในใจของคุณพ่อคุณแม่ภายหลังเสมอ
ข้อที่น่าพิจารณาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ผลลัพธ์ที่ตามมาในด้านความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดูที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต เด็กที่เติบโตมาด้วยการถูกลงโทษโดยขาดการใช้เหตุผลอยู่เป็นประจำ จะมีบาดแผลฝังลึกอยู่ในใจ ไม่ไว้วางใจผู้อื่น ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่มีความมั่นคงในอารมณ์ และที่สำคัญคือ อาจจะมีผลเสียระยะยาวต่อทัศนคติและบุคลิกภาพที่จะติดตัวเด็กไปตลอด
สำหรับเด็กที่กำลังจะเข้าโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่อาจจะพูดคุยกับคุณครูที่โรงเรียน แลกเปลี่ยนทัศนคติกันเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ และสังเกตถึงหลักการที่โรงเรียนใช้ในการสอนเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันในโรงเรียน รวมทั้งวิธีการปลูกฝังระเบียบวินัยให้แก่เด็ก หรืออาจนำแนวทาง “ผลของการกระทำ” นี้ไปปรับใช้กับการเลี้ยงดูในชีวิตประจำวันที่บ้านก็จะเป็นผลดีแก่เด็กค่ะ
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการอบรมเลี้ยงดูเด็กเล็กๆ ก็คือ ความสม่ำเสมอ หนักแน่นและความมั่นคงในอารมณ์ของผู้ใหญ่ ที่ควบคู่ไปกับความเมตตาและความเข้าใจในตัวเด็กเป็นหลัก จึงจะเกิดผลดีต่อตัวเด็กเองและความสัมพันธ์อันอบอุ่น แนบแน่นของครอบครัว
8 เทคนิควิธีการสอนเรื่อง “ผลของการกระทำ”
1.เข้าไปให้ใกล้เด็กมากที่สุด เพื่อให้เด็กรู้ตัวและพูดเบาๆ กับเด็ก
2.มองตรงไปที่เด็กขณะพูดกับเด็ก ถึงแม้ว่าเด็กจะไม่ได้มองเรา
3.ใช้คำพูดที่สั้น กระชับ ไม่ควรเกิน 2 ประโยค
4.ใช้คำง่ายๆ ที่เด็กเข้าใจได้
5.ไม่ควรใช้ถ้อยคำกำกวม ประชดประชัน
6.อาจใช้ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ถ้า…” เช่น “ถ้าหนูไม่รีบไปอาบน้ำ วันนี้เราจะไม่เหลือเวลาเล่านิทานก่อนนอน”
7.ใช้น้ำเสียงปกติ แต่หนักแน่นเวลาพูดเตือน แต่ไม่ใช้อารมณ์ขณะพูด
8.ถ้าเด็กเลือกที่จะปฏิบัติตาม ควรกล่าวชมทันที
ดร.ดวงวรรณ บุนนาค
(Some images used under license from Shutterstock.com.)