© 2017 Copyright - Haijai.com
ใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร ลดอ้วนแบบใหม่ไม่ต้องผ่าตัด
ด้วยเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้วิธีการลดน้ำหนักในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องหนักอกหนักใจอีกต่อไป สำหรับคนที่ประสบกับภาวะน้ำหนักตัวเกินมากๆ ลดยาก อยากที่จะลดแต่ก็อดใจตัวเองไม่ไหวไม่ให้ตามใจปาก สุดท้ายก็ลดไม่ได้สักที ทางเลือกอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้การลดน้ำหนักเห็นผลมากขึ้นนั่น คือ “ลดพื้นที่ในกระเพาะอาหารด้วย วิธีการใส่บอลลูน
จุดเริ่มต้นของการรักษา
การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารเริ่มต้นขึ้นมาเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน เพื่อใช้รักษาคนไข้ที่มีน้ำหนักส่วนเกินมากๆ ซึ่งในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาพบว่า คนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สืบเนื่องมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการรับประทานอาหารอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความอ้วน และเมื่ออ้วนมากขึ้นเรื่อยๆ โรคต่างๆ ก็เกิดขึ้นตามมาได้
การลดน้ำหนักต้องเริ่มจากความตั้งใจจริงที่จะลด แพทย์อาจให้คำแนะนำกับคนไข้ โดยเริ่มตั้งแต่การใช้วิธีควบคุมอาหาร ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย แต่ว่ายังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถือเป็นคนไข้ โรคอ้วนที่ไม่ว่าจะทำวิธีใดก็ไม่สามารถที่จะลดน้ำหนักลงมาได้ หรือทำเต็มที่แล้วแต่ก็ยังไม่ผอม อาจต้องมีเรื่องของการรับประทานยาเข้ามาช่วย แต่หากรับประทานยาแล้วไม่ได้ผลหรือคนไข้ไม่ต้องการรับประทานยา ก็จะก้าวไปสู่เรื่องของการผ่าตัดลดน้ำหนัก แต่คนไข้จะต้องมีน้ำหนักตัวที่มากจริงๆ ทั้งนี้การผ่าตัดลดน้ำหนักก็มีหลายรูปแบบ เช่น
1.การผ่าตัดลดน้ำหนักแบบ Restrictive Procedures
ได้แก่ การผ่าตัดกระเพาะอาหารบางส่วน หรือการใส่เข็มขัดรัดกระเพาะอาหาร เพื่อให้อิ่มเร็วขึ้นและรับประทานได้น้อยลง
2.การผ่าตัดลดน้ำหนักแบบ Malabsorptive procedures
วิธีนี้ลดน้ำหนักได้มาก แต่ก็มีผลข้างเคียงมากเช่นกัน
การผ่าตัดถือเป็นเรื่องใหญ่ และมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก ก็จะมีโรคประจำตัวที่สัมพันธ์กับความอ้วนอยู่แล้ว จึงเกิดความเสี่ยงหากผ่าตัด ดังนั้น การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารจึงถูกพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยให้คนไข้ที่ต้องประสบกับภาวะอ้วนสามารถควบคุมการรับประทานอาหารให้น้อยลง ช่วยลดน้ำหนักและไม่ต้องเสี่ยงกับการผ่าตัด
การใส่บอลลูนลดพื้นที่ในกระเพาะอาหาร
ขั้นแรกเริ่มจากการสอบถามประวัติคนไข้ทำการตรวจสุขภาพ แพทย์ต้องทำความเข้าใจกันกับคนไข้ ถึงความต้องการที่อยากจะลดน้ำหนักและพร้อมจะปรับเปลี่ยนการรับประทานควบคู่กันไป แต่ทั้งนี้ก็มีข้อห้ามและข้อจำกัด เช่นผู้ป่วยมีโรคประจำตัวบางอย่างที่อาจมีผลต่อการรักษาด้วยวิธีการใส่บอลลูน ได้แก่ โรคกรดไหลย้อนรุนแรง เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือผ่าตัดอื่นๆ ในช่องท้องมาก่อน หรือมีโรคร่วมร้ายแรงที่ยังควบคุมไม่ได้เหล่านี้ อาจยังไม่สามารถทำการรักษาได้
หากไม่มีข้อห้ามในการทำ คนไข้ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการรักษาด้วยวิธีการส่องกล้อง ซึ่งวิธีการส่องกล้องใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร จะคล้ายกันกับการส่องกล้องเพื่อตรวจโรคทางกระเพาะอาหารทั่วไป โดยเริ่มแรกจะฉีดยาเพื่อทำให้คนไข้เคลิ้มหลับ จะทำให้คนไข้รู้สึกสบายและไม่เจ็บ ขั้นตอนในการทำใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที โดยผ่านกล้องเข้าไปทางปากของคนไข้ จากนั้นแพทย์จะนำอุปกรณ์รวมถึงบอลลูนผ่านปากลงไปสู่กระเพาะอาหาร เมื่ออยู่ในกระเพาะอาหารบอลลูนจะถูกเป่าให้ขยายและแพทย์จะทำการใส่น้ำเกลือที่ผสมกับสารสีฟ้า สำหรับใช้ในทางการแพทย์เพื่อที่จะได้ทราบ หากบอลลูนมีการรั่วหรือหลุด โดยใส่น้ำเกลือเข้าไปในบอลลูนประมาณ 500 CC ขนาดของบอลลูนจากที่มีความเล็กเท่ากับนิ้วก้อย เมื่อเข้าไปในกระเพาะและเติมน้ำเกลือเข้าไป บอลลูนก็จะขยายขึ้นและไปเพิ่มพื้นที่อยู่ในกระเพาะอาหาร หลังจากนั้นก็นำกล้องออกเป็นอันเสร็จขั้นตอน
โดยบอลลูนที่ใช้นำมาจากซิลิโคนชนิดพิเศษ ที่มีความยืดหยุ่น สามารถหด-ขยายได้ ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร และสามารถอยู่ในกระเพาะอาหารได้นานถึง 1 ปี แต่หลังจากใส่บอลลูนไปแล้ว 3-6 เดือน ถ้าคนไข้ยังไม่พอใจในน้ำหนักที่ลดลง อยากที่จะลดน้ำหนักเพิ่มอีกก็สามารถที่จะมาเพิ่มขนาดของบอลลูนได้ โดยแพทย์จะทำการเติมน้ำเกลือเพิ่มเข้าไปในบอลลูน เพื่อที่จะเพิ่มขนาดบอลลูนให้ขยายขึ้นโดยการส่องกล้อง
บอลลูนจะเข้าไปแทนที่อยู่ในกระเพาะของคนไข้ โดยใช้พื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของกระเพาะอาหาร ซึ่งวิธีนี้นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคอ้วน แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าคนที่ต้องมีน้ำหนักส่วนเกินมากขนาดไหน จึงควรรักษาด้วยวิธีการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร ซึ่งบุคคลที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคอ้วนต้องใช้สูตรการคำนวณดัชนีมวลกาย Body mass index หรือ BMI โดยใช้น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) และส่วนสูง (เมตร) คือ เอาน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ตั้ง หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลัง 2 หากดัชนีมวลกาย มีค่า BMI ตั้งแต่ 27 ขึ้นไป ก็สามารถทำการรักษาด้วยวิธีใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารได้
ข้อดีของการใส่บอลลูน ช่วยลดน้ำหนัก
• เป็นทางเลือกสำหรับคนไข้ที่มีโรคอ้วน และอยากลดความอ้วนโดยที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการผ่าตัด
• ไม่ยุ่งยากและมีความปลอดภัยสูงสำหรับคนที่ไม่สามารถที่จะควบคุมน้ำหนักได้ด้วยตัวเองทั้งหมด หรือยากต่อการลดน้ำหนักจริงๆ
• บอลลูนจะเข้าไปลดพื้นที่ในกระเพาะอาหาร รับประทานเพียงนิดเดียวก็รู้สึกอิ่มท้องได้นานขึ้น
• ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความหิวจะหลั่งลดลง ทำให้รู้สึกหิวน้อยลง
ผลข้างเคียงภายหลังการรักษา
ผลข้างเคียงการรักษาอาจเป็นมากในช่วงแรกๆ ของการใส่บอลลูน โดยผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน เพราะยังไม่ชินกับการมีบอลลูนเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหาร และจะรู้สึกแน่นท้องประมาณ 3 วันโดยเฉลี่ย แต่ไม่เกิน 7 วัน ซึ่งเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีถ้าผู้ที่เข้ารับการรักษามีอาการแบบนี้ ไม่ต้องตกใจ จากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับจนเป็นปกติ แพทย์จะประเมินอาการผู้ป่วยและให้ยาเพื่อช่วยลดอาการแน่นท้อง คลื่นไส้ หลังจากนั้นเมื่อคนไข้ปรับตัวได้อาการต่างๆ ก็จะทุเลาลง
แม้จะใส่บอลลูน การควบคุมอาหารก็สำคัญ
ในช่วงแรกภายหลังจากการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร ควรเริ่มจากากรรับประทานอาหารเหลวก่อน จากนั้นค่อยๆ ปรับเป็นอาหารอ่อนย่อยง่าย หลังจากนั้นจึงจะเป็นอาหารปกติ แต่ก็ต้องจำกัดปริมาณอาหารที่รับประทานรวมทั้งแคลอรีด้วย ในแต่ละมื้อควรทานในปริมาณที่น้อยแต่ทานบ่อยมื้อขึ้น อาหารที่เป็นของหวานและที่มีพลังงานสูงทั้งหลาย เช่น น้ำปั่น น้ำผลไม้ มิลค์เชค ช็อกโกแลต ไอศกรีม เหล่านี้มีแคลอรีสูง หากรับประทานแบบนี้บ่อยๆ ก็ไม่ช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ เพราะฉะนั้นการควบคุมอาหารควบคู่ไปกับการรักษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น
การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร จะช่วยให้ลดน้ำหนักลงโดยเฉลี่ย 20-24 กิโลกรัม ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ซึ่งน้ำหนักที่ลดได้ของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับควบคุมอาหารและการออกกำลังกายในขณะที่บางคนอาจจะลดได้มากกว่า เพราะมีความตั้งใจในการควบคุมอาหารด้วยตนเอง และออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญ ซึ่งจะช่วยลดน้ำหนักลงได้เยอะกว่า และอาจลดได้มากกว่าน้ำหนักเฉลี่ยก็เป็นไปได้
คำแนะนำ
• หมั่นสังเกตตัวเองว่าน้ำหนักตัวเกิน ถึงขั้นเป็นโรคอ้วนหรือไม่ ต้องดูแลตัวเองไม่อย่างนั้นก็จะมีโรคหลายๆ อย่างตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานไขมันในเลือดสูง โรคที่เกี่ยวกับหัวใจ ปอด กระดูก และข้อก็จะตามมา
• ควบคุมอาหาร เลือกรับประทานอาหารที่ให้พลังงานไม่สูง ลดหวาน หมั่นออกกำลังกาย ถ้าน้ำหนักส่วนเกินมาก และลดความอ้วนด้วยตัวเองลำบากจริงๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแนะนำวิธีการดูแลที่เหมาะสม
พญ.ศศิพิมพ์ สัลละพันธ์
อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลเวชธานี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)