
© 2017 Copyright - Haijai.com
แย่แล้ว ลูกน้อยนอนหลับมีเสียงกรน
พอพูดถึงการนอนกรน เรามักจะนึกถึง ผู้ชายตัวอ้วน พุงโตนอนกรนส่งเสียงดังอยู่ แต่จริงๆ แล้วคนทุกเพศ ทุกวัยก็สามารถนอนกรนได้หมด ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ สำหรับเด็กๆ นั้นการนอนกรนมักจะพบในช่วงอายุ 2-6 ปี หรือช่วงอายุก่อนวัยเรียน
เสียงกรนเกิดขึ้นได้อย่างไร
เสียงกรนเกิดจากการสั่นสะเทือนของลิ้นไก่กับเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงในขณะนอนหลับ เนื่องจากขนาดของต่อมอดีนอยด์ และต่อมทอนซิลมีขนาดโตกว่าขนาดของทางเดินหายใจเด็ก ทำให้หายใจไม่สะดวกจึงต้องเพิ่มแรงในการหายใจเอาก๊าซออกซิเจนเข้าสู่ปอด จึงทำให้เกิดเสียงดังออกมาจากตัวลูก หรือที่เรียกว่า “เสียงกรน” นั่นเอง การนอนกรนไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในทันทีก็จริง แต่หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ลูกน้อยอาจเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ค่ะ
สาเหตุของการนอนกรน
• เด็กที่มีต่อมทอนซิล หรือต่อมอดีนอยด์โต
• เด็กที่อ้วน หรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน จะทำให้ไขมันบริเวณคอสะสมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบ
• มีความผิดปกติของโครงสร้างของระบบทางเดินหายใจ เช่น มีกรามเล็ก มีขนาดทางเดินหายใจแคบกว่าปกติ
• มีความผิดปกติของสมองที่ทำให้การคุมการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น Cerebral Palsy
• เด็กที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากสาเหตุต่างๆ
• เด็กที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม
• เด็กที่มีปัญหาโรคปอดเรื้อรัง
When to see a doctor
• ลูกน้อยมีอาการหายใจติดขัด หายใจลำบาก หรือหยุดหายใจเป็นพักๆ ร่วมกับการนอนกรน
• นอนกระสับกระส่าย เหงื่อออกมากเวลานอน ตื่นนอนกลางดึกบ่อยๆ
• ปัสสาวะรดที่นอนทั้งที่เคยควบคุมได้มาก่อน
• อ้าปากหายใจ
• มีปัญหาด้านการเรียน เรียนได้ไม่ดี
• มีปัญหาทางพฤติกรรม สมาธิสั้น อยู่นิ่งเฉยไม่ได้
• ระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ
• ง่วงเหงาหาวนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน
• มีความดันโลหิตสูง
โรงพยาบาลกรุงเทพ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)