
© 2017 Copyright - Haijai.com
ฝังแร่รักษามะเร็ง อันตรายหรือไม่
Q : เห็นตามสื่อต่างๆ มีกระแสเกี่ยวกับการไปฝังแร่เพื่อรักษามะเร็งที่ประเทศจีน จึงอยากทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีนี้ว่า ปลอดภัยและได้ผลจริงหรือไม่
A : เรามาทำความเข้าใจเรื่องการใช้รังสีรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกันก่อน โดยปกติการใช้รังสีรักษาแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1.รังสีระยะไกล (ที่นิยมใช้กันทั่วไป)
2.รังสีระยะใกล้ (การใส่แร่ที่มีรังสีในการรักษาเฉพาะที่)
การรักษาแบบรังสีระยะใกล้สามารถแยกย่อยได้อีกเป็น 2 ประเภท นั่นก็คือ ประเภทถาวรและประเภทชั่วคราว ซึ่งจากข่าวที่คนนิยมไปฝังแร่ที่ประเทศจีนนั้น จัดอยู่ในประเภทถาวร คือ การฝังเม็ดแร่เข้าไปในก้อนมะเร็งโดยตรง แต่การรักษาแบบที่เป็นที่ยอมรับและได้มาตรฐานจริงๆ คือ ใช้กับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มต้นเท่านั้น และยังเป็นการรักษาแบบเฉพาะจุดที่ไม่มีการกระจายของเซลล์มะเร็ง ดังนั้น หากนำมารักษากับมะเร้งประเภทอื่นหรือมะเร้งที่มีการกระจายแล้ว จึงไม่มีข้อมูลยืนยันถึงประสิทธิภาพ
ในประเทศไทยเองก็มีการรักษาด้วยรังสีระยะใกล้มานานแล้ว โดยในประเภทถาวรที่ต้องฝังเม็ดแร่ไอโอดีน 125 (Iodine – 125) เข้าไปจะใช้กับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะเริ่มต้น โดยการฝังแร่เพื่อให้ปล่อยรังสีออกมา และรังสีจะอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ ตามอายุขัยของแร่ ซึ่งจัดว่าไม่เป็นอันตรายและไม่ใช่การรับรังสีไปตลอดอย่างที่เข้าใจ
ส่วนของการรักษาด้วยรังสีระยะใกล้ ประเภทชั่วคราวมีหลักการคล้ายๆ กัน แต่จะเป็นการใส่แร่อิริเดียม 192 (Iridium – 192) ผ่านอุปกรณ์ (แร่ไม่ได้สัมผัสกับเซลล์โดยตรง) และให้แร่นำรังสีผ่านเซลล์มะเร้งในระยะเวลาประมาณ 20-30 นาที แล้วถอดอุปกรณ์ออก จึงไม่มีแร่ตกค้างในร่างกาย
โดยแร่ทั้งสองชนิดจะปล่อยรังสีระยะใกล้ที่เรียกว่า แกมม่า เพื่อไปทำลายดีเอ็นเอของเซลล์โดยตรง หรือผลิตฟรีแรดิคัลไปทำลายดีเอ็นเออีกที โดยจะทำลายทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง แต่เพราะเซลล์ปกติในร่างกายมนุษย์มีการฟื้นตัวได้เร็วกว่า เมื่อหยุดให้รังสี เซลล์ปกติจะค่อยๆ คืนสภาพ ในขณะที่เซลล์มะเร็งจะตายลง
ทั้งนี้การรักษาด้วยรังสีระยะใกล้นั้น ต้องพิจารณาประเภทและระยะของมะเร็ง รวมถึงร่างกายของผู้ป่วยว่า สามารถรักษาด้วยวิธีนี้อย่างเดียวได้ หรือควรทำร่วมกับการรักษาด้วยรังสีระยะไกลและเคมีบำบัด
วิธีการตามข่าวดังกล่าวจึงไม่อาจยืนยันผลการรักษาที่แน่ชัดได้ค่ะ
พญ.ศศิกาญจน์ จำจด
ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)