© 2017 Copyright - Haijai.com
รวยสุขภาพ รวยทรัพย์
เมื่อเลยวัยกลางคนไปแล้ว เราจะเริ่มเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า สุขภาพกับความมั่นคงทางการเงินเป็นเรื่องเดียวกัน (ช่วงวัยรุ่นหรือวัยทำงานต้นๆ เรายังมีสุขภาพแข็งแรงดีเยี่ยม และไม่มีภาระต้องดูแลผู้ป่วยในบ้าน จึงนึกภาพเรื่องดังกล่าวไม่ออก) โดยเฉพาะหากเกิดปัญหาสุขภาพและไม่ได้เตรียมความพร้อมด้านการเงินไว้อย่างดีพอ เราจะเห็นสัจธรรมพร้อมปัญหาต่างๆ อีกเป็นกระบวน
จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านให้เตรียมตัววางแผนดูแลสุขภาพเสียแต่เนิ่นๆ เพราะจะช่วยประหยัดเงินทองที่จะต้องเสียไป เพราะค่ารักษาพยาบาล ซึ่งหากคำนวณดูแล้วอาจมีมูลค่ามหาศาลจนผู้อ่านตกตะลึงกันเลยทีเดียว
ทำไมต้องวางแผนดูแลสุขภาพ
การวางแผนดูแลสุขภาพ เช่น การเลือกสรรพเฉพาะอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายสร้างความแข็งแรง การผ่อนคลายความเครียด และรู้จักพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นอกจากช่วยให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังทำให้อายุยืนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอิสระในการทำสิ่งที่ชอบหรือสามารถเดินตามความฝันโดยไร้อุปสรรคด้านพละกำลังมาขัดขวาง
ส่วนในแง่ของเงินทอง การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เราก็ไม่ต้องเสียเงินทองไปกับค่ารักษาพยาบาล ทำให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณได้อย่างสบายๆ ตรงกันข้าม หากสุขภาพย่ำแย่ เจ็บป่วยบ่อย โอกาสหารายได้ก็ลดลง หรือหากเจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลสูงๆ การจะเป็นผู้รวยทรัพย์ก็คงจะยากเสียแล้ว เพราะต้องสิ้นเปลืองเงินทองไปกับค่ายา ค่าหมอ
รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า “การวางแผนสุขภาพไปพร้อมๆ กับการเงินเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมนุษย์เราต้องใช้ชีวิตอยู่ในอนาคต จึงจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินอย่างมีเหตุมีผล เพื่อเก็บไว้ใช้ในวันข้างหน้า การดูแลสุขภาพให้ดีกับการใช้เงินเป็นจึงได้ประโยชน์สองเท่า คือ มีร่างกายแข็งแรงและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค”
“เวลาเจ็บป่วยอาจต้องใช้เงินที่เก็บออมมาตลอดชีวิตเพื่อรักษาโรค แต่การมีร่างกายแข็งแรงนั้น เหมือนการสะสมทรัพย์สินไว้ใช้ยามเกษียณ เพราะคนที่มีร่างกายแข็งแรงสามารถมีชีวิตการทำงานที่ยืนยาวกว่า มีเงินทองสะสมเพิ่มขึ้น สามารถนำเงินทองไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นๆ ได้ และสามารถนำทรัพย์สินจากเงินที่เก็บออม หรือดอกเบี้ยไปใช้เพื่อการลงทุน การค้า ทำให้มีเงินเพิ่มและมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น”
จ่ายขนาดนี้ รีบดูแลสุขภาพจะดีกว่า
เพราะการเชิญชวนคุณผู้อ่านมาวางแผนดูแลสุขภาพ อาจยังไม่เร้าใจพอ เราจึงนำเสมอค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งโรคต่างๆ ที่ยกตัวอย่างนี้เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต และมักเป็นเมื่อมีอายุมากขึ้นไปจนกระทั่งถึงวัยสูงอายุ
โดยเป็นข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเรื้อรังในประเทศไทยจากสำนักนโยบาย ยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2551 มีรายละเอียดดังนี้
โรคเรื้อรัง |
จำนวนผู้ป่วยรวม |
ค่ารักษา ผู้ป่วยรวมต่อปี |
ค่ารักษา ต่อคนต่อปี |
ไตวายระยะสุดท้าย |
30,000 คน |
6,000 ล้านบาท |
200,000 บาท |
หลอดเลือดสมอง |
0.5 ล้านคน |
20,632 ล้านบาท |
41,264 บาท |
เบาหวาน |
3 ล้านคน |
47,596 ล้านบาท |
15,865 บาท |
หัวใจ |
4 ล้านคน |
154,846 ล้านบาท |
38,711.5 บาท |
ความดันโลหิตสูง |
10 ล้านคน |
79,263 ล้านบาท |
7,926.3 บาท |
เมื่อเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เหล่านี้ก็มีโอกาสเป็นยาวนานนับ 10 ปี ดังนั้นลองนำ 10 คูณจำนวนเงินค่ารักษาต่อคนต่อปีเข้าไป ก็จะพบว่า มีค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวนหลักแสนถึงล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากนี้เมื่อดูรายละเอียดค่าใช้จ่ายจริงของผู้ป่วยในแต่ละโรคแล้ว ก็พบว่ายังมีรายจ่ายแฝงที่มากกว่านี้ ทั้งค่าเดินทาง ค่าจ้างคนดูแล ค่าอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายเมื่อนอนโรงพยาบาล ค่าผ่าตัด ฯลฯ รวมทั้งการรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคดังกล่าว
ส่วนโรคมะเร็งซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ยังไม่พบตัวเลขที่สำนักนโยบายยุทธศาสตร์รวบรวมไว้ จากข้อมูลที่รวบรวมในเบื้องต้นพบว่า โรคมะเร็งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 120,000 – 1,200,000 บาทต่อคนต่อปี หรืออาจสูงกว่านี้
และยังมีโรคอื่นๆ ที่ไม่ได้เอ่ยอีกหลายโรค ซึ่งเราทุกคนมีโอกาสเจ็บป่วยได้ตลอดเวลา และทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกัน
แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน อาจารย์สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงโรคที่มีค่ารักษาพยาบาลสูงเป็นอันดับต้นๆ ว่า
“ในโรงพยาบาลรัฐมีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดโรคหัวใจสูงมาก หากต้องทำการสวนหัวใจก็จะเสียค่าใช้จ่ายไปประมาณ 30,000-40,000 บาท ถ้าต้องขยายหลอดเลือดหัวใจและใส่ขดลวดเพิ่มเติม จะมีค่าใช้จ่ายเป็นแสนค่ะ”
หากรักษาโรคหัวใจในโรงพยาบาลเอกชน ก็จะมีค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 3-8 เท่า เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลรัฐบาล คุณหมอสิรินทรอธิบายต่อว่า
“โรคมะเร็งนี้ถ้าจะสู้กันต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก เดี๋ยวนี้ยารักษามะเร็งเข็มละเป็นแสนก็มี ชนิดเม็ดราคาเม็ดละ 8,000-10,000 บาทก็มี แถมต้องกินทุกวัน ดังนั้นคนทั่วไปจึงต้องดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อพบมะเร็งในระยะแรก ในแง่ของการรักษาและเรื่องค่ารักษาพยาบาล ก็จะเป็นไปในทางที่ดีมากกว่าการพบ เมื่อมีอาการมากแล้ว”
“เมื่อเจ็บป่วยแล้ว เราก็ไม่สามารถใช้ร่างกายได้อย่างเดิม ทำให้เสียโอกาสในด้านต่างๆ โดยเฉพาะไม่สามารถทำงานหารายได้ ไม่ใช่เฉพาะเสียสตางค์อย่างเดียว ยังหาสตางค์ไม่ได้ด้วย”
ป่วยแล้ว มีแต่เสียกับเสีย
เมื่อเป็นโรค โดยเฉพาะโรคที่มีค่ารักษาพยาบาลสูง ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสภาวะการเงินเท่านั้น ยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีกหลายโรค
คุณหมอสิรินทรยกตัวอย่างปัญหาการรักษาโรคบางโรค เช่น ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการไม่มาก แต่หากทิ้งไว้นานจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลอดเลือด นำไปสู่ปัญหาอื่นที่ใหญ่กว่า
“เมื่อเป็นความดันโลหิตสูงแล้วต้องกินยา นานเข้าก็ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้น และหลาขนานขึ้น เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่น หลอดเลือดแข็งกระด้างขึ้น จากที่เคยกินยา 1 เม็ด ต้องเพิ่มจำนวนและชนิดยาหลายขนานขึ้น จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม”
“แต่ถ้าไม่กินยา ทิ้งอาการผิดปกติไว้นานจะเกิดปัญหาแทรกซ้อน เช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือหลอดเลือดในสมองตีบตัน มีอาการอัมพาต อัมพฤกษ์ ทำให้เสียทั้งเงินที่จะต้องใช้ในการรักษาช่วงที่มีอาการเฉียบพลัน เสียเวลาที่ต้องนอนโรงพยาบาล และสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถมีสุขภาพเป็นปกติอย่างเดิมได้”
นอกจากปัญหาสุขภาพแล้ว ผลที่ตามมาอีกอย่างคือ อาจทำให้เดินไม่สะดวกหรือเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง เพราะไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ทำให้เสียโอกาสในการทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งการหารายได้ และยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตตามมาอีกด้วย
คุณหมอสิรินทรยังกล่าวถึงผลกระทบต่อครอบครัวว่า “ผู้ป่วยจะเป็นภาระของลูกหลาน หรือคนในครอบครัวที่อาจต้องลาออกจากงานประจำ เพื่อช่วยเหลือดูแล ทำให้เสียโอกาสหารายได้ และเสียสตางค์ซ้ำซ้อนเข้าไปอีก”
(Some images used under license from Shutterstock.com.)