Haijai.com


โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว


 
เปิดอ่าน 8341

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว

 

 

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว หมายถึง ภาวะที่มีความผิดปกติของหัวใจหรือหลอดเลือด ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยที่ความผิดปกตินั้นๆ ทำให้มีเลือดดำปนอยู่ในเลือดแดงที่ไปเลี้ยงร่างกาย พบได้ประมาณ 15% ของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งพบได้ 8 รายต่อเด็กแรกเกิดมีชีวิต 1,000 ราย โดยทั่วๆ ไปแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มเลือดไปปอดน้อย และกลุ่มเลือดไปปอดมาก

 

 

ภาวะเขียวและมีเลือดไปปอดน้อย

 

เจ้าตัวน้อยจะมีอาการเขียว โดยมีริมฝีปากสีม่วงคล้ำ มีนิ้วปุ้มคล้ายไม้ตีกลองเป็นผลมาจากมีรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจตั้งแต่กำเนิดทำให้เลือดดำผสมปนกับเลือดแดง ภาวะเขียวและมีเลือดไปปอดน้อยทำให้เจ้าตัวน้อยอาจเกิดอาการดังต่อไปนี้ได้

 

1.อาการเขียวมาก และตัวอ่อนปวกเปียก (Cyanotic spell)

 

 

2.มีเลือดข้นมาก ทำให้หัวใจทำงานมากขึ้น และเลือดหนืดมากขึ้นโดยอาจเกิดก้อนลิ่มเลือดในหลอดเลือดได้ทั่วร่างกายโดยเฉพาะที่สมอง

 

 

3.เกิดฝีในสมองได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป

 

 

ซึ่งภาวะดังกล่าวสามารถป้องกันได้โดยการพาเจ้าตัวน้อยไปตรวจอย่างสม่ำเสมอ และควรดูแลลูกน้อยดังนี้

 

1.ในช่วงที่มีไข้ ไม่สบาย ถ่ายเหลว ให้ระวังภาวะขาดน้ำ ควรดื่มน้ำบ่อยๆ ให้มีปัสสาวะใสพอสมควรและรีบพาไปพบแพทย์

 

 

2.ถ้าหากมีอาการเขียวมากขึ้น หายใจหอบลึกมากขึ้น ซึมเพลีย ตัวอ่อนปวกเปียก (มักเป็นหลังตื่นนอนตอนเช้า หลังเล่นหรือร้องมากๆ) ให้ปฏิบัติดังนี้

 

 ปลอบลูกให้หยุดร้อง ควรรีบทำให้เร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยให้เป็นอยู่นานเพราะจะดูแลลำบาก และอาจจะเป็นอันตรายรุนแรงได้

 

 ให้งอเข่าลูกทั้ง 2 ข้างเข้าชิดหน้าอก อาจจะอุ้มแนบอกกรณีเป็นเด็กเล็ก ถ้าเป็นเด็กโตให้นอนตะแคง เข่าชิดหน้าอกให้มากที่สุด ถ้าได้ผลลูกจะหายใจดีขึ้น ริมฝีปากเริ่มกลับมาเป็นเหมือนปกติก่อนเกิดอาการ ถ้าหากทำวิธีดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบพาลูกไปโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สุดเพื่อให้ออกซิเจนและยาโดยอุ้มในท่าดังกล่าว

 

 

3.รับประทานอาหารได้ทุกอย่าง ไม่มีของแสลง เด็กสามารถเติบโตได้พอสมควร ถ้าได้อาหารครบทุกหมู่ เนื้อ นม ไข่ โดยเน้นอาหารพวกไขมัน ให้ใช้น้ำมันพืชในการทอด ผัด แทนการต้มหรือลวก

 

 

4.รับประทานยาที่แพทย์ให้ ไม่ควรซื้อยาใดๆ มาให้รับประทานเอง เพราะอาจจะเป็นอันตราย

 

 

5.ฟันเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็กที่เป็นโรคหัวใจชนิดเขียว เพราะชั้นเคลือบฟันจะไม่แข็งแรง มีโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายกว่าเด็กปกติ จึงควรได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ คือควรดูแลฟันตั้งแต่ลูกยังอายุน้อยๆ โดยเริ่มจากการเช็ดเหงือกก่อนนอน เพื่อให้ลูกชินกับการทำความสะอาดฟัน จากนั้นจึงให้แปรงฟันและพาลูกไปตรวจฟันกับทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ฟันที่ผุจะเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคสะสมอยู่มาก และอาจเป็นแหล่งกระจายเชื้อให้ลูกเกิดฝีในสมอง หรือติดเชื้อในหัวใจได้

 

 

6.เฝ้าระวังอาการที่เป็นสัญญาณอันตรายดังต่อไปนี้

 

 มีอาการเขียวมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้นและตัวอ่อนปวกเปียกบ่อยครั้งขึ้น

 

 มีไข้นานหลายวันติดต่อกัน ซึมลง ร้องปวดหัวและอาเจียนไม่ทราบสาเหตุ

 

 ขยับแขนขาได้ลดน้อยลง หรือมีอาการชักเกร็งกระตุก

 

 

7.ความผิดปกติที่หัวใจนั้นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมในเวลาต่อมา

 

 

8.สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ได้เหมือนปกติทั่วไป

 

 

9.ลูกคนต่อไปมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมากขึ้น คุณแม่จึงควรไปฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ นะคะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)