© 2017 Copyright - Haijai.com
5 อาหารอันตราย อ่านได้จากฉลาก
อาหารการกินเป็น 1 ใน 5 ปัญจกิจหรือหลักปฏิบัติ ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิต (กิน นอน พักผ่อน ออกกำลังกาย ทำงาน) ที่ให้ความสำคัญเพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างภูมิชีวิต ฉะนั้นถ้ากินไม่ถูกก็จะส่งผลให้เกิดการทำลายภูมิชีวิต เนื่องจากอาหารเหล่านั้นก่อให้เกิดการสะสมของท็อกซินในร่างกายได้
ขอแนะนำการเลือกกินอาหารจากฉลากให้ปลอดภัยและไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากนิตยสาร Eat This Not That! ดังต่อไปนี้
1.สารให้ความหวาน (Aspartame)
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งใช้ในอาหารชนิดต่างๆ ไม่สามารถให้พลังงานและมีความหวานมากกว่าน้ำตาล 180 เท่า มักพบในขนมขบเคี้ยว หมากฝรั่ง และเครื่องดื่มประเภทโซดา
Did you know : จากรายงานของเอฟดีเอ (FDA) ประเทศสหรัญอเมริกา หากกินสารให้ความหวานมากเกินไป จะส่งผลต่อระบบประสาท เช่น ทำให้มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ ความจำลดลง กรณีรุนแรงอาจจะทำให้ชักได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
2.สารปรุงแต่งกลิ่น
สารเคมีที่สั่งเคราะห์ขึ้นมาเลียนแบบกลิ่นและรสธรรมชาติ ซึ่งสามารถพบได้บ่อยในกระบวนการผลิตอาหาร เช่น ซีเรียล เครื่องดื่ม และคุกกี้
Did you know : ถึงแม้ว่าเอฟดีเอ (FDA) จะอนุมัติให้สามารถใส่สารปรุงแต่งกลิ่นในอาหารได้ แต่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เป็นสารเคมีชนิดใด เนื่องจากเป็นความลับของทางบริษัทและไม่ปรากฏบนฉลาก จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้บริโภคจะสามารถประเมินผลจากการกินได้
3.น้ำเชื่อมฟรักโทส (High Frutose Corn Syrup (HFCS))
สารให้ความหวานจากการสังเคราะห์ข้าวโพด แม้มีให้เห็นอยู่บนฉลาก โดยยังไม่มีคำเตือนใดๆ เช่น ในไอศกรีม ซีเรียลบางชนิด ขนมปังบางประเภท โยเกิร์ต และ 1 ใน 3 ของเครื่องดื่มบางประเภท
Did you know : งานวิจัยที่ตีพิมพ์ โดยสมาคมต่อมไร้ท่อ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ใหญ่ที่บริโภคน้ำเชื่อมข้าวโพดฟรักโทสในปริมาณสูง เพียงแค่ 2 สัปดาห์จะทำให้ระดับไขมันเลว (LDL Cholesterol) เพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
4.ไขมันทรานส์ (Trans Fat)
ไขมันแปรรูปที่เกิดจากการเติมก๊าซไฮโดรเจนลงในไขมันไม่อิ่มตัว เช่น การแปรสภาพน้ำมันพืชเป็นเนยเทียม (Margarine) เพื่อให้ไขมันนั้นแข็งตัว มีจุดหลอมเหลวสูงขึ้น ไม่เป็นไข มีอายุการเก็บรักษานานขึ้นและมีรสชาติ พบมากในอาหารจำพวกเบเกอรี่ เค้ก ครีมเทียม และอาหารแช่แข็ง
Did you know : หลายงานวิจัยพบว่า ไขมันทรานส์จะทำให้ระดับของไขมันเลวเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจมากกว่าไขมันอิ่มตัว
5.สารกันบูด (BHT and BHA)
สารเจือปนอาหารใช้ป้องกันการหืนของไขมัน และน้ำมันจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Lipid Oxidation) เพื่อเสริมให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น พบในน้ำมันพืช ไขมันสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์ขนอบ น้ำมันหอมระเหย เป็นต้น
Did you know : จากการศึกษาพบว่า สารกันบูดก่อให้เกิดมะเร็งในหนูทดลอง โดยที่กระทรวงสาธารณสุข ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดสารกันบูดประเภทนี้อยู่ในกลุ่มที่คาดว่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง
ฉลาดซื้อ ฉลาดกิน ด้วยการอ่านฉลากก่อนนะครับ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)