
© 2017 Copyright - Haijai.com
มารู้จักสมองเด็กทารกกัน Understand baby’s brain
ถ้าเราสามารถมองทะลุเข้าไปในกะโหลกศีรษะของเด็กทารกได้ เราก็คงจะพบกับสมองที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นมาอย่างน่าทึ่งและดีที่สุดในโลกใบนี้ สมองของเจ้าตัวน้อยแรกคลอดแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ สมองส่วนหน้า (forebrain), สมองส่วนกลาง ( midbrain ) และสมองส่วนท้าย ( hindbrain ) ซึ่งในสมองส่วนหน้ายังแบ่งออกไปได้อีกเป็น เซรีบรัม, ธาลามัส, ไฮโปธาลามัสและระบบประสาทลิมบิก แต่ส่วนที่สำคัญและโดดเด่นเป็นที่รู้จักกันดี ก็คือ เซรีบรัม ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนพื้นผิวที่พับโค้งลงมา และมีน้ำหนักมากที่สุดในกลุ่มก้อนของสมองด้วยกัน เรียกว่า ซีเรบรัล คอร์เท็กซ์ ( cerebral cortex )
วิวัฒนาการของสมองทารกในครรภ์
เชื่อไหมคะว่า ตั้งแต่วันแรกที่ไข่ของคุณแม่ปฏิสนธิกับสเปริ์มของคุณพ่อในมดลูก ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับลูกน้อยก็ถูกกำหนดเอาไว้หมดเรียบร้อยแล้ว เพียงแค่รอเวลาที่จะเจริญเติบโตและพัฒนาให้พ่อแม่และคุณหมอได้เห็นกันเท่านั้น
ประมาณวันที่ 18 หลังการปฏิสนธิ เซลล์ที่ปฏิสนธิแล้วจะมีการแบ่งตัวอย่างมากมาย เซลล์ส่วนที่ยีนกำหนดให้เจริญเติบโตเป็นสมอง เริ่มปรากฏรูปร่างให้เห็นได้แล้วว่าเป็นเนื้อเยื่อสมอง จะเริ่มเห็นเป็นแผ่นบางๆ ต่อมาแผ่นบางๆนี้จะเริ่มโค้งงอแล้วมาบรรจบกันตรงกลาง เหมือนท่อหลอดกาแฟตอนอายุครรภ์ประมาณหนึ่งเดือน พอเข้ากลางเดือนที่สอง เจ้าหลอดกาแฟนี้ก็จะเริ่มโป่งพองเพื่อที่จะจัดโครงสร้างให้เป็นสมองส่วนหน้า สมองส่วนกลางและสมองส่วนท้าย
ระยะเดือนที่ 2-4 เซลล์สมองจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ประมาณ 250,000 เซลล์ต่อนาที ทุกๆนาทีเซลล์สมองมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็จะมีเซลล์สมองเก่าที่ตายไปพร้อมๆกันด้วย ประมาณ 30-50% ของเซลล์สมองที่แบ่งตัวขึ้นมา ซึ่งเป็นกลไกทางธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด
ในขณะที่เซลล์สมองมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนที่3 ของการตั้งครรภ์ เซลล์สมองเหล่านี้ก็จะมีการเคลื่อนย้ายไปยังตำแหน่งต่างๆของสมอง เพื่อทำหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรอยหยักบนพื้นผิวของสมอง เรียกว่าคอร์เท็กซ์ ซึ่งในช่วงอายุครรภ์ 5 เดือน สมองของลูกยังคงมีพื้นผิวสมองที่เรียบอยู่ แต่พอเริ่มมีการเคลื่อนย้ายเซลล์สมองไปพื้นผิวสมอง ก็จะทำให้เกิดรอยหยักของสมองขึ้นจนเห็นได้ชัดเจนในเด็กทารกแรกคลอด ( เพราะพื้นที่ในการขยายมีจำกัด การขยายจึงเป็นการขยายลึกลงไปเป็นรอยหยักอย่างที่เห็นกันอยู่ ยิ่งขยายมาก รอยหยักก็ยิ่งมากขึ้นตามไป )
จากนั้นในช่วงอายุครรภ์ได้ 6 เดือน เซลล์สมองจะเริ่มมีการจัดลำดับตัวเองเป็นชั้นๆตามโครงสร้างแต่ละส่วนของสมอง เพื่อที่จะทำหน้าที่ต่างๆได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเซลล์สมองเหล่านี้จะเรียงตัวกันเป็นหกชั้นอยู่บนพื้นผิวของเซลล์สมอง
นอกจากการจัดตัวเองเป็นชั้นๆอย่างเป็นระเบียบของเซลล์สมองแล้ว ก็ยังมีการสร้างเส้นใยสมองหรือเส้นใยประสาทขึ้นมาอีกด้วย เพื่อให้เซลล์สมองนับแสนล้านเซลล์ติดต่อสื่อสารถึงกันโดยผ่านทางเส้นใยสมองนี่เอง และเส้นใยประสาทมีอยู่สองแบบคือ เดนไดรต์(dendrite) ทำหน้าที่นำกระแสประสาทเข้าสู่ตัวเซลล์และแอกซอน(axon)ทำหน้าที่นำกระแสประสาทออกจากตัวเซลล์ไปยังเซลล์ประสาทอื่นๆ
เซรีบรัม ( Cerebrum )
สมองส่วนเซรีบรัมเป็นสมองส่วนใหญ่ที่อยู่ด้านหน้าสุด มีขนาดใหญ่ประมาณ 70% ของสมองทั้งหมด มีร่องแบ่งสมองที่ม้วนขดเป็นรูปครึ่งวงกลมออกเป็นสองซีก ที่เราเรียกกันว่าสมองซีกซ้ายและซีกขวานั่นเอง เนื้อสมองชั้นนอกเป็นสีเทา และชั้นในเป็นสีขาว ซึ่งมีเซลล์ประสาทอยู่มากมาย อันที่จริงถ้าเราแผ่สมองทั้งสองซีกนี้ออกมา ก็ค่อนข้างจะกินพื้นที่มากอยู่พอสมควร แต่เมื่อเกิดรอยหยักและรอยย่นที่พับทบกันไปมาของก้อนสมองแล้ว ก็ทำให้สมองของเราถูกจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบลงตัวอยู่ภายใต้กะโหลกศีรษะที่มีพื้นที่จำกัดของเรานั่นเอง หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การมีรอยหยักลึกคล้ายลูกคลื่นมากมาย ก็เพื่อเพิ่มพื้นที่ของสมองส่วนนี้นั่นเอง รอยหยักดังกล่าวแบ่งเซรีบรัมออกเป็นสี่พู ( เหมือนพูทุเรียน ) คือพูหน้า ( frontal lobe ) พูขมับ (temporal lobe) พูข้างกระหม่อม (parietal lobe) และพูท้ายทอย (occipital lobe) ซึ่งแต่ละส่วนของเซรีบรัมก็มีหน้าที่เฉพาะที่แตกต่างกันออกไป
เนื้อสีเทาด้านนอกที่เรียกว่า cerebral cortex นั้นประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทกว่าแปดพันล้านเซลล์ ซึ่งยึดติดกันอยู่ได้ด้วยเซลล์เกลียประมาณ 64,000 ล้านเซลล์ เจ้า cerebral cortex นี้เองที่เป็นตัวรวบรวมข้อมูล และคอยบอกเด็กทารกในสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน รวมทั้งเรื่องของจินตนาการและความทรงจำ ผ่านรอยหยักของพูสมองทั้งสี่พูที่ได้พูดถึงไปนั่นเอง
สมองส่วนพูหน้า ( frontal lobe )
สมองส่วนพูหน้าอยู่ตรงตำแหน่งหลังหน้าผากพอดี ทำให้ดูเหมือนเป็นมงกุฏแห่งชัยชนะของทารกน้อยและมนุษยชาติ พูหน้านี้เป็นส่วนของสมองที่มีพัฒนาการมากที่สุดในกระบวนการของวิวัฒนาการมนุษย์ และเป็นส่วนที่ใหญ่และสลับซับซ้อนที่สุดในจำนวนสี่พูที่มีอยู่ในเซรีบรัม เพราะว่าสมองส่วนพูหน้านี้เป็นแหล่งที่มาของความฉลาดของเด็กทารก เป็นที่ๆบุคลิกลักษณะของเด็กจะพัฒนาขึ้นมา และเป็นที่ๆความคิดสร้างสรรค์ของเด็กถูกบ่มเพาะให้งอกงามต่อไป นอกเหนือไปจากนี้ สมองส่วนพูหน้าก็ยังเกี่ยวข้องกับการควบคุมการเคลื่อนไหวและการพูดอีกด้วยค่ะ
พูขมับ ( temporal lobe ),พูข้างกระหม่อม ( parietal lobe ), พูท้ายทอย ( occipital lobe )
พูข้างกระหม่อมคือพูที่อยู่ด้านบนสุด หลังสมองส่วนพูหน้าขึ้นไป ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับความรู้สึกสัมผัส อุณหภูมิร้อน-เย็น แรงกดดันและความเจ็บปวด และยังมีหน้าที่รับคำสั่งจากภายในร่างกายอีกด้วย
พูท้ายทอย อยู่บริเวณด้านหลังของสมองเด็ก รับผิดชอบเกี่ยวกับการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นการจับสัญญาณภาพหรือการนำเสนอสิ่งที่มองเห็นได้ เป็นบริเวณที่อยู่ของเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเกี่ยวกับการมองเห็นและเซลล์ประสานงาน ซึ่งมีหน้าที่รวมภาพที่เห็นเข้ากับประสบการณ์ทางความรู้สึก
พูขมับอยู่บริเวณสองข้างของสมอง เป็นที่อยู่ของเซลล์ประสาทที่รับความรู้สึกเกี่ยวกับการได้ยิน และการได้กลิ่น ดนตรี ความกลัว และทำหน้าที่ในการแปลประสบการณ์ เกี่ยวกับความรู้สึก การจดจำภาพต่างๆและแบบแผนที่ซับซ้อนของความรู้สึก
สมองซีกซ้ายและซีกขวา
สมองซีกซ้ายและซีกขวาก็เปรียบประดุจสมองและจิตใจ โดยซีกซ้ายนั้นจะถนัดและควบคุมในเรื่องของเหตุผล การคำนวณ คณิตศาสตร์และข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงทั้งหลาย การคิดวิเคราะห์ต่างๆก็มาจากสมองส่วนนี้ทั้งสิ้น ในขณะที่สมองซีกขวาจะเป็นในเรื่องของศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ดนตรี เรียกว่าสมองซีกนี้เป็นเรื่องของสัญชาตญาณความรู้สึกเสียเป็นส่วนใหญ่ และสมองทั้งสองซีกเชื่อมต่อกันด้วย corpus callosum ซึ่งเป็นแถบเนื้อเยื่อประสาทชิ้นหนาที่เป็นทางผ่านของข้อมูลต่างๆนั่นเอง จากผลการวิจัยระบุว่า มนุษย์เราใช้พื้นที่สมองเพียงแค่ 5% - 10% เท่านั้น และคนส่วนใหญ่จะใช้สมองซีกซ้ายมากกว่าสมองซีกขวา ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การเรียน การทำงาน ซึ่งยังมีพื้นที่สมองอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้งาน หรือใช้งานน้อยมาก ปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศกำลังศึกษา ค้นคว้า และทำวิจัยถึงวิธีการดึงสมองส่วนต่างๆมาใช้งาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ธาลามัสและไฮโปธาลามัส ( thalamus & hypothalamus )
ธาลามัสมีขนาดเท่าลูกพลัมหรือลูกพรุนสด อยู่บริเวณตรงกลางของสมองเลยค่ะ มีหน้าที่คล้ายๆกับเป็นสถานีถ่ายทอดข้อมูลจากร่างกายไปสู่สมอง และจากสมองส่วนหนึ่งไปยังจุดต่างๆในสมอง รับรู้และตอบสนองต่อความรู้สึกเจ็บปวดและความรู้สึกทุกชนิด ยกเว้นเรื่องการได้กลิ่น เจ้าธาลามัสนี่แหละที่เป็นตัวสั่งการให้เราแสดงออกต่างๆนานา เมื่อรู้สึกเจ็บปวด
ไฮโปธาลามัส อยู่ใต้ธาลามัสลงมา ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของระบบประสาทอัตโนมัติ และสร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมการผลิตฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ซึ่งจะทำการควบคุมสมดุลของปริมาณน้ำและสารละลายในเลือด นอกจากนี้ยังควบคุมการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก การเต้นของหัวใจ วงจรการตื่นและการหลับ การหิว การอิ่ม รวมทั้งความรู้สึกทางเพศอีกด้วย
ซีรีเบลลัม ( Cerebellum )
Cerebellum เป็นสมองส่วนท้ายที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสมองทั้งหมด อยู่บริเวณข้างใต้ของซีเรบรัม ไปทางด้านหลังของสมอง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว, การทรงตัวและการวางท่าทางต่างๆของร่างกาย ในช่วงสองขวบปีแรกของเด็กทารก cerebellumจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งลูกน้อยอายุครบสองขวบสมองส่วนนี้ก็จะเติบโตเต็มที่แล้ว
การที่สมองส่วน cerebellum เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสองปีแรก แตกต่างจากสมองส่วนอื่น ก็เพื่อให้เจ้าตัวน้อยสามารถพลิกตัว คลาน ยืน เดินและวิ่งได้ภายในสองปีแรกนั่นเอง นอกเหนือไปจากนั้น ก็ยังมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการหายใจ และการไหลเวียนของเลือดภายในร่างกายอีกด้วย
การดื่มเครื่องดื่มประเภทมึนเมา แอลกอฮอล์จะไปขัดขวางการทำงานของสมองส่วนนี้ เพราะเหตุนี้คนที่เมาจึงเริ่มสูญเสียการทรงตัว ยิ่งเมามาก ก็จะยิ่งทรงตัวไม่อยู่ เดินเซไปเซมามากขึ้น และจากการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ก็พบว่า สมองส่วนนี้อาจมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาด้วย เช่น ในเด็กที่เป็นโรคออทิสซึ่ม พบว่ามีความผิดปกติในพัฒนาการของสมองส่วนนี้
พอนส์ ( Pons )
พอนส์เป็นส่วนของก้านสมอง อยู่ทางด้านหน้าของเซรีเบลลัมติดต่อกับสมองส่วนกลาง มีหน้าที่สำคัญคือ ควบคุมการเคี้ยว การหลั่งน้ำลาย การเคลื่อนไหวบนใบหน้าและควบคุมการหายใจด้วยค่ะ พอนส์เป็นทางผ่านของกระแสประสาทระหว่างเซรีบรัมกับเซรีเบลลัม และระหว่างเซรีเบลลัมกับไขสันหลัง
เมดัลลา (Medulla)
เป็นสมองส่วนท้ายสุด ต่อกับไขสันหลัง เป็นทางผ่านของกระแสประสาทระหว่างสมองกับไขสันหลัง เป็นศูนย์กลางการควบคุมการทำงานที่อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ เช่น การไอ จาม สะอึก หายใจ การเต้นของหัวใจ เป็นต้น
ขอทิ้งท้ายว่าสมองของลูกจะพัฒนาอย่างรวดเร็วอเมซิ่งที่สุดในช่วง 2-3 ปีแรก เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่รอช้าไม่ได้แล้วนะคะ รีบใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุดในช่วงนี้เลยค่ะ ไม่งั้นเห็นทีจะต้องบอกว่าเสียใจแทนด้วยจริงๆ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)