© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคผิวหนังอักเสบในเด็กที่มักพบบ่อย
คุณหมอมีความรู้ดีดีมาบอกเล่าสู่กันฟังอีกนะคะ เผื่อลูกน้อยที่บ้านกำลังผจญกับผดผื่นอยู่ คุณแม่จะได้แยกแยะอาการของผื่นที่ลูกเป็นอยู่ได้ เพื่อป้องกันและรักษาให้ถูกวิธี ประหยัดทั้งเงินและเวลา แถมผิวพรรณลูกน้อยยังสุขภาพดีอีกด้วยค่ะ
คุณแม่เคยสังเกตเห็นผิวหนังของลูกน้อยเป็นรูปผื่นวงกลมหรือวงรีบ้างไหมคะ หากคุณแม่เคยพบลักษณะของผิวหนังแบบนี้ และ บริเวณผิวหนังมีรอยแดงอ่อนๆ หรือรอยขาวจางๆ ทราบได้เลยค่ะว่าเป็นอาการหนึ่งของโรคผิวหนังอักเสบที่เรียกว่า กลากน้ำนม (Pityrisasis Alba)
กลากน้ำนมนั้นมักจะพบมากในเด็กและวัยรุ่นค่ะ โดยเฉพาะถ้าเด็กมีสีผิวที่เข้มก็จะเห็นกลากน้ำนมชัดกว่าเด็กที่ผิวขาว ส่วนบริเวณที่จะสามารถเกิดกลากน้ำนมนั้นให้คุณแม่สังเกตได้ที่แก้ม หน้าผาก ขอบตา ปากและอาจพบผื่นบริเวณลำตัว คอ แขน ขาได้ค่ะ ในบางครั้งกลากน้ำนมสามารถที่จะพบได้ร่วมกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังทั่วไปได้ค่ะ
ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่การถูกแสงแดดอาจทำให้เกิดการทำงานผิดปกติของเม็ดสีผิวหนังบริเวณนั้น จึงทำให้มองเห็นรอยขาวได้ชัดเจนขึ้น ถึงจะถูกเรียกว่า “กลากน้ำนม” แต่สาเหตุไม่ได้เกิดจากน้ำนมแต่อย่างใดนะคะ
หากลูกน้อยมีอาการของกลากน้ำนมคุณแม่สามารถรักษาได้ดังนี้ค่ะ
• ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ที่มีฤทธิ์อ่อนที่สุด หรือโลชั่นบำรุง
• หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดและทาครีมกันแดด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผื่นใหม่ขึ้น
• โรคมักเป็นเรื้อรัง แต่ไม่เป็นอันตราย เป็นๆ หายๆ นานเป็นเดือนหรือเป็นปี
สำหรับคุณแม่ที่คุณลูกยังสวมใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป อาจจะเคยประสบกับลักษณะอาการของโรคผิวหนังอักเสบที่เรียกว่า ผื่นผ้าอ้อม (Diaper dermatitis) หากลูกน้อยเกิดอาการทางผิวหนังที่มีลักษณะเป็นผื่นแดง ที่พบตามส่วนนูนที่สัมผัสกับผ้าอ้อมที่เปียกชื้น เช่น บริเวณต้นขาด้านใน บริเวณก้น ท้องน้อยช่วงล่าง และบริเวณอวัยวะเพศของลูกน้อย
สำหรับสาเหตุของการเกิดอาการผื่นผ้าอ้อมนั้นเกิดมีหลายปัจจัยร่วมกัน ที่พบบ่อยที่สุดก็คือ การสัมผัสสารระคายเคือง (Irritant contact dermatitis) เช่น ปัสสาวะ อุจจาระซึ่งมีเอ็นไซม์ Protease และ Lipase ร่วมกับความเปียกชื้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผิวหนังชั้นนอกสุด (หนังกำพร้า) อ่อนแอลงและเปื่อยลอก ประกอบกับการถูกเสียดสีจากผ้าอ้อมจึงทำให้ผิวหนังลูกน้อยถูกทำลายได้ง่าย จนเกิดผื่นผ้าอ้อมในที่สุด ซึ่งผื่นผ้าอ้อมสามารถป้องกันการเกิดได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือ การทำให้ก้นลูกน้อยแห้งสนิทอยู่เสมอค่ะ
อาการผื่นผ้าอ้อมนี้โดยปกติมักพบบ่อยในเด็กอายุ 3-18 เดือนค่ะ ถ้าผื่นเป็นมากจะแดงจัดคล้ายถูกน้ำร้อนลวก อาจเกิดตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองได้ และมักจะเจ็บทำให้ลูกน้อยร้องไห้โยเยค่ะ หากคุณแม่พบเจออาการดังกล่าวให้คุณแม่รักษาอาการดังนี้นะค่ะ
• ใช้ยาทาตามความรุนแรงและสาเหตุของผื่น และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวที่เหมาะสม
• ถ้าผื่นอักเสบมากควรใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์อ่อนที่สุด ทาบางๆ
• ถ้าพบการติดเชื้อ ให้รักษาตามการติดเชื้อที่พบ
สำหรับอาการของโรคผิวหนังอักเสบอีกหนึ่งอาการก็คือ อาการผื่นผิวหนังที่เกิดจากปฏิกิริยาจากการที่ลูกน้อยเกิดอาการระคายเคืองจาก สารเคมี พืชบางชนิด หรือ แมลงค่ะ ถ้าเกิดอาการเหล่านี้เราเรียกผื่นประเภทนี้ว่า ผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) ค่ะ
คุณแม่ลองสังเกตนะค่ะ หากลูกน้อยได้สัมผัสกับสารเคมี, พืช หรือ แมลงบางชนิดตามที่ได้กล่าวไปแล้วผิวหนังจะเกิดการอักเสบและเกิดผื่นได้ ซึ่งอาการจะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับความเข้มข้นของสารที่แพ้ รวมทั้งระยะเวลาที่สัมผัสด้วย ยิ่งสัมผัสนานๆ อาการยิ่งเป็นมาก ผื่นแพ้สัมผัสมักพบได้ไม่บ่อยในเด็ก ดังนั้น คุณแม่ต้องคอยสังเกตด้วยนะคะ
ถ้าหากลูกน้อยของคุณแม่มีอาการของผื่นแพ้สัมผัสให้คุณแม่รักษาด้วยวิธีดังนี้ค่ะ
• หลีกเลี่ยงสารที่แพ้หรือระคายเคือง
• ยาส่วนใหญ่ที่ใช้รักษาคือยา คอร์ติโคสเตียรอยด์
• ถ้าแผลมีน้ำเหลืองด้วย ควรใช้น้ำเกลือประคบแผลเช้า-เย็น
• รับประทานยากลุ่มแอนติฮีสตามิน เพื่อช่วยลดอาการคัน
พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)