Haijai.com


โรคเมอร์ส เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012


 
เปิดอ่าน 1844

โรคเมอร์ส (MERS)

 

 

เมอร์สเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับผู้ป่วย ผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย ไอ จาม ปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะ การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการ การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย ล้างมือด้วยสบู่ ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ไม่เข้าไปในสถานที่แออัด หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดแล้ว มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอภายหลังเดินทางกลับประเทศไทยภายใน 14 วัน ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที เพื่อรับการวินิจฉัย

 

 

MERS ย่อมาจาก Middle East Respiratory Syndrome หรือเรียกว่า กลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เมอร์สเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 มีการระบาดส่วนใหญ่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง และประเทศเกาหลีใต้ โดยองค์การอนามัยโลกรายงาน ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2558 พบผู้ป่วย 1,190 ราย เสียชีวิต 444 ราย คิดเป็น ร้อยละ 37.31 จากทั้งหมด 25 ประเทศ

 

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเมอร์ส

 

ผู้ที่เป็นโรคเมอร์สจะมีอาการในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ หายใจ ปอดบวม ร่วมกับมีไข้ หากมีอาการรุนแรง จะทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว นอกจากนี้ก็จะมีอาการในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ท้องร่วง ท้องเสีย

 

 

ใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อเมอร์ส

 

บุคคลที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ได้แก่ บุคคลที่อาศัยหรือเดินทางในช่วงเวลา 14 วันก่อนเริ่มป่วย  หรือเป็นผู้สัมผัสกับผู้เดินทางจากประเทศแถบตะวันออกกลาง และประเทศเกาหลีใต้ บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยปอดบวม และผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยโรคเมอร์ส

 

 

เมอร์สเป็นโรคที่ติดต่อกันได้หรือไม่

 

ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ติดต่อผ่านละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย การไอ จาม และการสัมผัสกับอูฐที่มีเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012

 

 

มีวิธีป้องกันโรคเมอร์สหรือไม่ การป้องกันมีหลายวิธี ได้แก่

 

 สวมหน้ากากป้องกันโรค โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว

 

 ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ โดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย

 

 หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ

 

 หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ผู้คนแออัด

 

 ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

 

 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ

 

 หลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสฟาร์มสัตว์ สัตว์ป่าต่างๆ โดยเฉพาะอูฐ

 

 หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง หากจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรสวมหน้ากากป้องกันโรค หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีคนรวมกลุ่มกันจำนวนมาก ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ ไม่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย หรือผู้ต้องสงสัยป่วยด้วยโรคเมอร์ส หากเดินทางกลับประเทศไทยแล้วมีอาการไข้ ไอ เป็นหวัด หอบ หายใจลำบาก ภายใน 14 วัน ควรรีบไปพบแพทย์

 

 

โรคเมอร์สรักษาได้อย่างไร

 

การรักษาโรคเมอร์สเป็นการรักษาตามอาการ และการรักษาแบบประคับประคองจนกว่าการอักเสบในระบบทางเดินหายใจจะลดน้อยลง จนหายเป็นปกติ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 ที่เป็นสาเหตุของโรคเมอร์ส

 

 

หากมีไข้ควรใช้ยาอย่างไร ฟ้าทลายโจรใช้ได้ไหม

 

หากมีไข้ควรประเมินว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเมอร์สหรือไม่ เช่น เดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาดแล้วมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ภายหลังเดินทางกลับประเทศไทย ภายใน 14 วันหรือไม่ หากเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที หากไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ควรรับประทานยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด ทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานยาไอบูโพรเฟนเพื่อลดไข้ หากรับประทานยาพาราเซตามอลไปแล้ว 1-2 วัน แต่ยังมีไข้ (อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส) หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

 

 

ฟ้าทะลายโจรเป็นยาสมุนไพร ใช้รักษาอาการไข้หวัด เจ็บคอ ร้อนใน ต่อมทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ท้องเสีย บิด หากมีอาการไข้หวัด ควรประเมินว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเมอร์สหรือไม่ หากไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง สามารถรับประทานยาฟ้าทะลายโจรขนาด 400 มิลลิกรัมต่อแคปซูล ครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 4 เวลา หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน อย่างไรก็ตามห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาฟ้าทะลายโจร เสลดพังพอน ทองพันชั่ง พญาวานร (ว่านง๊อก) ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ห้ามใช้สำหรับแก้อาการเจ็บคอ เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus group A ในผู้ป่วยที่มีประวัติไตอักเสบจากการติดเชื้อนี้ ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหัวใจรูห์มาติค  ผู้ที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง หนาวสั่น พบตุ่มหนองในคอ หากใช้ยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 2-3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หากเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเมอร์ส ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

 

 

การติดเชื้อเมอร์สยังไม่มียารักษาจำเพาะ หากมีการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด อย่าคลุกคลีกับผู้ป่วย หากเดินทางกลับประเทศไทยแล้วมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ภายหลังเดินทางภายใน 14 วัน ขอให้สวมหน้ากากป้องกันโรค และไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที หากมีข้อสงสัยและต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

ภญ.จิตตวดี กมลพุทธ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)