
© 2017 Copyright - Haijai.com
วิตามินเค
วิตามินเค เป็นกลุ่มของสารไม่ละลายน้ำที่มีโครงสร้างแนพทาควิโนนเป็นแกนกลาง โดยประกอบไปด้วยสาร 2 ประเภท คือ ไฟโลควิโนน (phylloquinone) หรือวิตามินเค 1 และสารกลุ่มมีนาควิโนน (menaquinones) หรือวิตามินเค 2 วิตามินเค 1 พบได้มากในผัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักใบเขียว (เช่น ผักโขม บรอคโคลี ผักกะหล่ำ ผักกาด คะน้า) ถั่วเหลือง และผลไม้บางชนิด (เช่น ทับทิม องุ่น บลูเบอร์รี่) วิตามินเค 2 เป็นวิตามินเคที่ได้จากการสังเคราะห์ โดยแบคทีเรีย พบได้มากในอาหารหมัก เช่น ชีส และนัตโตะ (ถั่วหมักญี่ปุ่น) นอกจากนี้ยังพบวิตามินเค 2 ได้ในเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ร่างกายและแบคทีเรียในทางเดินอาหาร สามารถสังเคราะห์วิตามินเค 2 ได้ วิตามินเคจากอาหารถูกดูดซึมได้ในอัตราที่ช้ากว่าวิตามินเคจากน้ำมัน หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่าวิตามินเค 2 ถูกดูดซึมได้ดีกว่าวิตามินเค 1 การรับประทานผักร่วมกับน้ำมัน (เช่น สลัดผัก ผักผัดน้ำมันหอย) ช่วยเพิ่มการดูดซึมวิตามินเคจากอาหารได้
ขนาดของวิตามินเคที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน แตกต่างกันไปตามเพศและอายุ โดยในผู้ที่มีอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินเควันละ 120 ไมโครกรัม (เพศชาย) และ 90 ไมโครกรัม (เพศหญิง) วิตามินเคมีจำหน่ายในท้องตลาดทั้งในรูปแบบยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยวิตามินเคในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจอยู่ในรูปของวิตามินเค 1 (phylloquinone) วิตามินเค 1 สังเคราะห์ (phytonadione) หรือวิตามินเค 2 (MK-4 หรือ MK-7) วิตามินเครูปแบบ MK-4 ขนาด 45 มิลลิกรัมมีจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์ยาสำหรับภาวะกระดูกพรุน
วิตามินเคเป็นวิตามินละลายในไขมันที่พบได้ในตับ สมอง หัวใจ ตับอ่อน และกระดูก นอกจากนี้วิตามินเคร้อยละ 70 ถูกกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะและน้ำดี ทำให้ปริมาณวิตามินเคที่สะสมในเลือดและเนื้อเยื่อ น้อยกว่าวิตามินละลายในไขมันชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารหลากหลายตามหลักโภชนาการ ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินเคเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ผลของวิตามินเคต่อสุขภาพ
วิตามินเคทำหน้ที่เป็นสารเคมีร่วมในการทำงานของเอนไซม์ (coenzyme) มีส่วนร่วมในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เกี่ยวข้อง กับการแข็งตัวของเลือดและการเปลี่ยนแปลงของกระดูก อย่างไรก็ตามภาวะขาดวิตามินเคในผู้ใหญ่เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก โดยพบเฉพาะในผู้ที่รับประทานยาที่รบกวนการเปลี่ยนแปลงวิตามินเคในร่างกาย ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินเค ได้แก่ ทารกแรกคลอด 1-3 สัปดาห์ และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการดูดซึมสารอาหาร วิตามินเคเป็นวิตามินที่มีความเป็นพิษต่ำ และถูกขับออกจากร่างกายได้มาก จึงไม่มีรายงานภาวะพิษจากการได้รับวิตามินเคเกินขนาด
ปฏิกิริยาระหว่างยา
เนื่องจากยาต้านการแข็งตัวของเลือดหลายชนิด เช่น วาร์ฟาริน (warfarin) ออกฤทธิ์โดยจับกับโปรตีนโปรทรอมบิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ต้องพึ่งพาวิตามินเคในการทำให้เลือดแข็งตัว การรับประทานวิตามินเคมากหรือน้อยลงกว่าปกติ มีผลทำให้ฤทธิ์ของยาเปลี่ยนแปลงได้อย่างมาก และอาจมีผลทำให้การรักษาด้วยยาวาร์ฟารินไม่ได้ผล (ในกรณีที่รับประทานวิตามินเคเพิ่มจากปกติ) และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องมีผลต่อปริมาณและชนิดของแบคทีเรียในทางเดินอาหาร ทำให้มีผลต่อปริมาณวิตามินเคที่ร่างกายได้รับจากการสังเคราะห์ของแบคทีเรีย อย่างไรก็ตามการรับประทานวิตามินเค เพื่อเสริมในกรณีดังกล่าว ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
การใช้ยาจับไขมัน (orlistat) ในผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก หรือยาจับน้ำดี (cholestyramine และ colestipol) ในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ส่งผลลดการดูดซึมวิตามินเค
การรับประทานวิตามินเคจากอาหารตามปกติ เป็นวิธีการเสริมวิตามินเคที่ดีที่สุด เนื่องจากปลอดภัย อีกทั้งร่างกายยังได้รับประโยชน์จากเส้นใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ และสารมีประโยชน์ชนิดอื่นๆ ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งต้องรับประทานยาวาร์ฟาริน “ควรรับประทานผักผลไม้ตามปกติ ให้เทียบเท่ากับการรับประทาน เมื่อเริ่มการรักษาด้วยยา” หากผู้ป่วยดังกล่าว เพิ่มหรือลดการรับประทานวิตามินเคในรูปแบบใดๆ ต้องแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้ง และควรแจ้งให้เภสัชกรร้านยา และเภสัชกรโรงพยาบาลทราบทุกครั้ง เมื่อรับประทานยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยาเก่าและใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้
ข้อมูลอ้างอิง
-Dietary Fact Sheet: Vitamin K. Office of Dietary Supplements. National Institutes of Health. Reviewed March, 2015.
ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)