© 2017 Copyright - Haijai.com
หัวใจหยุดเต้น
“ผู้ป่วยไม่หายใจ ไม่มีชีพจร!!” ตามมาด้วยภาพการปั๊มหัวใจของบรรดาทีมแพทย์และพยาบาลเหล่านี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำไปมาในโรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศไทย แพทย์ทุกคนย่อมต้องเคยเจอเคสผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นมาแล้วนับไม่ถ้วน ซึ่งการที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องฉุกเฉินเท่านั้น เหตุการณ์นี้ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ที่และทุกเวลา ซึ่งในขณะนั้นสิ่งที่จะช่วยทำให้โอกาสรอดชีวิตของคนเหล่านี้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ทีมแพทย์หรือพยาบาลที่เก่งกาจ หากแต่เป็น “ตัวคุณ” ที่จะช่วยผู้ป่วยเหล่านี้ได้
การปั๊มหัวใจหรือกดหน้าอก (CPR : Cardiopulmonary Resuscitation) เป็นสิ่งที่ “ทุกคน” ทำได้ ใช้เพยงแรงกายและ 2 มือเท่านั้น เพราะการปั๊มหัวใจจะทำให้มีการสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย ซึ่งจะทำในกรณีที่พบเห็น
1) คนหมดสติไม่รู้สึกตัว
หรือ
2)ไม่หายใจหรือหายใจไม่สม่ำเสมอ ให้เริ่มกดหน้าอกหรือปั๊มหัวใจทันทีที่ทำได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาคลำชีพจร หรือใช้แก้มสัมผัสหาลมหายใจแม้นิดเดียว
หลายคนอาจสงสัยว่า กดหน้าอกอย่างไรจึงจะถูกต้อง
• ตำแหน่ง วางสันมือที่ครึ่งล่างของกระดูกที่ตรงกลางหน้าอก ไม่ใช่อกซ้ายหรือขวา แขนเหยียดตรง
• ความเร็ว อย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที หรือตามจังหวะเพลง “จังหวะของหัวใจ” (บี้ เดอะสตาร์)
• ประสิทธิภาพ กดลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร และถอนมือจนสุดในแต่ละครั้ง ใช้แรงที่สะโพกในการลงน้ำหนัก
• ช่วยหายใจ โดยการเป่าปาก 2 ครั้ง ต่อการกดหน้าอก 30 ครั้ง
• หยุดกดหน้าอกได้ไม่เกิน 10 วินาที ให้กดต่อเนื่องกันมากที่สุด
ระหว่างที่ปั๊มหัวใจ อย่าลืมโทรไป “1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ” เพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การปั๊มหัวใจเป็นการยื้อเวลาเท่านั้น ถ้าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นจากหัวใจเต้นผิวจังหวะ การใช้เครื่อง AED (Automatic External Defibrillator) หรือเครื่องช็อตไฟฟ้าอัตโนมัติ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน เครื่อง AED มีการติดตั้งอยู่ตามสถานที่สำคัญต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามบิน เป็นต้น
พญ.พรนิตา นาคสินธุ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)